กรุงเทพฯ--2 ม.ค.--ศูนย์ปชส. กระทรวงคมนาคม
3. เรื่อง การแปรรูปบริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด (บทด.) ให้เป็นสายการเดินเรือแห่งชาติ
คณะรัฐมนตรีพิจารณาการแปรรูปบริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด (บทด.) ให้เป็นสายการเดินเรือแห่งชาติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ แล้วมีมติ ดังนี้
1. เห็นชอบให้ บทด. แปรรูป โดยดำเนินการเจรจากับพันธมิตรธุรกิจ ตามหลักการบริษัท Lloyd Triestino ของประเทศอิตาลี หรือพันธมิตรธุรกิจต่างชาติรายอื่นที่มีศักยภาพและเป็นประโยชน์ต่อ บทด.
2. อนุมัติให้ บทด. ขยายระยะเวลาการเช่าระวางเรืออื่นที่อนุญาตไว้เดิมต่อไปจนกว่าการแปรรูปจะดำเนินการแล้วเสร็จ ทั้งนี้ภายในระยะเวลา 6 เดือน โดยมีกำหนดถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2546 เพื่อให้ บทด. มีศักยภาพในการเจรจากับผู้ร่วมทุน และสามารถให้บริการลูกค้าได้ต่อไปอย่างต่อเนื่อง
สำหรับแผนแม่บทการพัฒนากิจการบริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. เศรษฐกิจของประเทศไทยในอดีตจนถึงปัจจุบันที่ผ่านมาขึ้นอยู่กับการขยายตัวของภาคการส่งออกของประเทศ โดยการขนส่งทางทะเลเป็นเครื่องมือและโครงสร้างพื้นฐานในการสนับสนุนภาคการส่งออก ซึ่งมูลค่าของค่าระวางการขนส่งส่วนใหญ่สายการเดินเรือของต่างชาติเป็นผู้ได้รับประโยชน์ไปเกือบทั้งหมด จึงทำให้ประเทศไทยขาดดุลบริการและเงินตราต่างประเทศอย่างมหาศาลโดยสายการเดินเรือของไทยไม่สามารถเข้าไปแข่งขันเพื่อแบ่งส่วนการตลาดที่ขยายตัวได้มีประสิทธิภาพ
2. วัตถุประสงค์ในการพัฒนา บทด. ในฐานะสายการเดินเรือแห่งชาตินั้น มีเป้าหมายในการส่งเสริมศักยภาพกองเรือไทยในการลดดุลค่าระวางการขนส่งระหว่างประเทศที่เสียเงินตราต่างประเทศ และจะสามารถเป็นเครื่องมือของประเทศในการสนับสนุนภาคการส่งออกของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเศรษฐกิจที่สำคัญทั้งในส่วนสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมอนาคตในระยะยาวที่อาจประสบปัญหาในด้านอัตราค่าระวาง
3. เป้าหมายการพัฒนาสายการเดินเรือแห่งชาติในอนาคตในอีก 20 ปีข้างหน้านั้น (พ.ศ. 2565) บทด.จะมีส่วนแบ่งการตลาดของการให้บริการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศอยู่ที่อย่างน้อยร้อยละ 20 ของปริมาณตลาดการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศโดยจะพัฒนาไปสู่ผู้ให้บริการขนส่งทางทะเลครบวงจร (Integrated Services Provider)
4. ปัจจัยความสำเร็จในการพัฒนาสายการเดินเรือแห่งชาตินั้น คือ การเสริมสร้างความสามารุกในการแข่งขันที่แท้จริง (Core Competency) ของ บทด.
ประการที่ 1 การพัฒนาโครงข่ายการตลาดทั่วโลกที่สามารถจัดหาสินค้าเพื่อบรรทุกขนส่งในระหว่างประเทศ ซึ่ง บทด. มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาผู้พัฒนาร่วมทุนต่างชาติ (Foreign Strategic Partner) ที่มีลักษณะสายการเดินเรือระดับโลก (Global Liner) ที่มีเครือข่ายทั่วโลก อันจะใช้ Facility ของพันธมิตรสนับสนุน บทด. ในการพัฒนาเครือข่ายการตลาดและการดูแลบริหารสินค้าและลูกค้าได้ทั่วโลก
ประการที่ 2 การมีท่าเรือสินค้าคอนเทนเนอร์เป็นของตนเองซึ่งอาจเป็นรูปสิทธิในการบริหารท่าเรือ หรือการเป็นเจ้าของท่าเรือ
5. แผนการแปรรูป บทด. ในปีแรก (พ.ศ. 2546) นั้น บทด. จะต้องหาพันธมิตรร่วมทุนต่างประเทศ(Foreign Strategic Partner) และผู้ร่วมทุนในประเทศให้ได้หลังจากแผนแม่บทได้รับความเห็นชอบ หลังจากนั้น บทด.จะลดสัดส่วนการถือครองของภาครัฐและนำเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ปี พ.ศ. 2547 โดยจะมีโครงสร้างสัดส่วนการถือหุ้นโดยสรุป ดังนี้
กลุ่มผู้ถือหุ้น ปีที่ 1 (พ.ศ. 2546) ปีที่ 2 (พ.ศ. 2547)
ผู้ถือหุ้นภาครัฐ 49% 15 - 30 %
พันธมิตรร่วมทุนต่างชาติ (Foreign Strategic Partner) 25 - 30% 25 - 30%
พันธมิตรร่วมทุนไทย เช่น ผู้ส่งออกภาคอุตสาหกรรม
รายใหญ่ (Local Investers) 16 - 21% 15 - 21%
พนักงาน บทด. 5% 5%
ประชาชนทั่วไป (ตลาดหลักทรัพย์) 0% 20 - 30%
ด้านเงินทุนนั้นในปีแรกจะมีการลงทุนประมาณ 2,500 ล้านบาท โดยจะประกอบด้วยส่วนทุนประมาณ 1,000 ล้าน และเงินกู้ 1,500 ล้านบาท และจะมีการขยายเงินทุนและเงินลงทุนไปถึง 5,000 ล้านบาทตามลำดับ
6. การสนับสนุนจากภาครัฐ ในการพัฒนาสายการเดินเรือแห่งชาตินั้น รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องสนับสนุนมาตรการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพ บทด. ให้เป็นสายการเดินเรือแห่งชาติสามารถแข่งขันกับสายการเดินเรือในระดับโลก ทั้งนี้ มาตรการที่จะขอการสนับสนุนจากภาครัฐจะประกอบด้วย
1) เพิ่มทุนให้สัดส่วนการถือครองหุ้นของภาครัฐเท่ากับร้อยละ 49 ในระยะเริ่มต้น (ทุนจดทะเบียนใหม่ 1,000 ล้านบาท มูลค่าหุ้นละ 10 บาท ทุนเดิมของภาครัฐ 117.612 ล้านบาท หรือเท่ากับร้อยละ 11.76 เพิ่มอีกร้อยละ 37.24 หรือเท่ากับ 372.388 ล้านบาท)
2) ให้สิทธิในการเช่าบริหารท่าเรือคอนเทนเนอร์ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จำนวน 1 ท่า เป็นระยะเวลา 30 ปี
3) ให้กระทรวงการคลังสนับสนุนการจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือค้ำประกันเงินกู้ในการระดมทุน
4) ให้ บทด. สามารถเช่าระวางเรือในช่วงการแปรรูป เพื่อให้การดำเนินธุรกิจสามารถรักษาลูกค้าเดิมไปได้อย่างต่อเนื่อง
4. เรื่อง แต่งตั้ง
1. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ให้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย ดังนี้ 1) นายอดิศร ธนนันท์นราพูล แทน นายวีระ จันทะแจ้ง 2) นายกิตติ ลิ่มสกุล แทน นายสมมาตร สีมากุล 3) นายมนรัฐ ผดุงสิทธิ์ แทน นายพิเชษฐ อาริยวัฒน์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2545 เป็นต้นไป
2. ข้าราชการพลเรือนกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ ให้แต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ดังนี้ 1) นายไกรสร พรสุธี นักบริหาร 10 ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง 2) นางธนนุช ตรีทิพยบุตร ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหาร 10) ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง 3) นายเหรียญชัย เรียววิไลสุข รองอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2545 เป็นต้นไป
สำหรับการนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะได้ดำเนินการต่อไป
3. ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่ง
ประเทศไทย
คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ให้แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ดังนี้ 1) พลเรือเอก ณรงค์ ยุทธวงศ์เป็นประธานกรรมการ 2) เรือเอก อุตส่าห์ บริสุทธิ์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2545 เป็นต้นไป
4. ประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย
คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ให้แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ดังนี้ นายอดิศักดิ์ ภู่วราวุฒิพานิช เป็นประธานกรรมการ และกรรมการประกอบด้วย นางพรรณี สถาวโรดม ผู้แทนกระทรวงการคลัง นายประพันธ์ นัยโกวิท นายคำรบลักขิ์ สุรัสวดี นายสุรชัย ธารสิทธิ์พงษ์ นายโสภณ ดวงแข พลตำรวจตรี พิทักษ์ จารุสมบัติ และนายวรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2545 เป็นต้นไป
5. ประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย
คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ให้แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย จำนวน 9 คน ดังนี้ นายวันชัย ศารทูลทัต เป็นประธานกรรมการ และคณะกรรมการประกอบด้วย นายเรืองศักดิ์ ลอยกุลนันท์ นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ นายพุทธิสัตย์ นามเดช นายยงยศ ปาละนิติเสนา นายสมนึก ธีระกุลพิสุทธิ์ พล.อ.อ.ทองเลื่อน ประพัฒน์ทอง และนางศิริกัลยา สุวจิตตานนท์ นายมานะ ภัทรธรรม เป็นกรรมการและเลขานุการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2545 เป็นต้นไป--จบ--
-ศน-