กรุงเทพฯ--9 พ.ค.--กทม.
เมื่อวันที่ 7 พ.ค.46 เวลา 10.00 น. ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายสุทธิชัย ทรรศนสฤษดิ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมแนวทางแก้ไขปัญหาชุมชนบุกรุกที่สาธารณะ ริมคูคลอง และชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเมือง โดยมีนายสมภพ ระงับทุกข์ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชน นายสมศักดิ์ จันทวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักสวัสดิการสังคม ผู้แทนจากสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
รองปลัดกรุงเทพมหานคร แจ้งต่อที่ประชุมว่า กรุงเทพมหานครได้มีคำสั่งที่ 756/2546 ลงวันที่ 3 มี.ค.46 แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมแก้ไขปัญหาชุมชนบุกรุกที่สาธารณะ ริมคูคลอง และชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเมือง โดยมีปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน ตนเป็นรองประธาน คณะกรรมการประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชน ผู้อำนวยการสำนักการโยธา หรือผู้แทน ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ หรือผู้แทน ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ หรือผู้แทน ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง หรือผู้แทน ผู้อำนวยการสำนัก สวัสดิการสังคม หรือผู้แทน ผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร 10 (นายเกษมสันต์ สุวรรณทัต) ผู้อำนวยการฝ่ายปรับปรุงชุมชนแออัด การเคหะแห่งชาติ หรือผู้แทน ผู้แทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค ผู้แทนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน และมีรองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชน (นายสมภพ ระงับทุกข์) เป็นกรรมการและเลขานุการ ผู้อำนวยการกองพัฒนาชุมชน หัวหน้าฝ่ายประสานงานและพัฒนา กองการพัฒนาชุมชน สำนักพัฒนาชุมชน เป็นกรรมการและ ผู้ช่วยเลขานุการ โดยคณะกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่ และความรับผิดชอบ ดังนี้ กำหนดแผนดำเนินงาน และวางหลักเกณฑ์การทำงานตลอดจนวางมาตรการควบคุมการดำเนินงานตามแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาชุมชนริมคูคลอง และชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเมืองของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งติดตามผลการดำเนินงานของสำนักงานเขต และคณะทำงานระดับเขต เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาในกรณีที่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ในคณะทำงานระดับเขต ตลอดจนมีหน้าที่ประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่อยู่อาศัย
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีการพิจารณาแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาชุมชนบุกรุกที่สาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร อาทิ เรื่องการแต่งตั้งทำงานระดับเขต เพื่อดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาชุมชนบุกรุกที่สาธารณะ, การสำรวจข้อมูลชุมชนบุกรุกที่สาธารณะในพื้นที่เขต, การจัดทำแผนและมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาชุมชนบุกรุกที่สาธารณะในระดับเขต, การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อรองรับชุมชนบุกรุกที่ถูกรื้อย้าย เช่น การเคหะแห่งชาติ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เป็นต้น--จบ--
-นห-