กรุงเทพฯ--12 ก.พ.--กทม.
เมื่อวานนี้ (11 ก.พ.45) เวลา 10.30 น. ที่ห้องประชุมสำนักปลัดกรุงเทพมหานคร ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้ประชุมหารือร่วมกับ ร.ต.วิจิตร อยู่สุภาพ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะ โดยมีนายศิริ เปรมปรีดิ์ นายสุทธิชัย ทรรศนสฤษดิ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายเจริญรัตน์ ชูติกาญจน์ นายสมศักดิ์ จันทวัฒนา ผู้ช่วยปลัดกรุงเทพมหานคร และคณะข้าราชการผู้ปฏิบัติงานด้านการเลือกตั้ง ร่วมประชุม โดยการประชุมครั้งนี้เลขาธิการ กกต. ได้หารือเรื่องการดำเนินการเลือกตั้งและขอทราบปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับการเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่ง กทม.กำลังจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขตเลือกตั้งที่ 4 และ 26 แทนตำแหน่งที่ว่าง ในวันที่ 3 มี.ค.45 และมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) 14 เขตแรก ในวันที่ 10 มี.ค.45 ส่วนการเลือกตั้ง ส.ข.ในอีก 36 เขตที่เหลือ กำหนดเลือกตั้งในวันเดียวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ทั้ง 50 เขต คือ ในวันที่ 16 มิ.ย.45 ทั้งนี้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 กำหนดให้ กกต.ต้องเข้ามาควบคุมดูแลการเลือกตั้งท้องถิ่น ภายใน 5 ปี หรือภายในวันที่ 9 มิ.ย.46
ในการประชุมครั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้หารือเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันในเรื่องการกำหนดสถานที่ปิดประกาศหาเสียงเลือกตั้ง และสถานที่ปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัคร ส.ส.ใน เขตเลือกตั้งที่ 4 ครอบคลุมพื้นที่เขตพญาไทและเขตราชเทวีบางส่วน และเขตเลือกตั้งที่ 26 ครอบคลุมพื้นที่เขตมีนบุรีและคลองสามวา โดยผู้อำนวยการเขตจะเป็นผู้ออกประกาศกำหนดให้ผู้สมัครฯ ปิดประกาศหาเสียงเลือกตั้งได้ในที่สาธารณะ เฉพาะในพื้นที่เขตเลือกตั้งเท่านั้น โดยยกเว้นต้นไม้ สะพานลอยคนเดินข้าม รั้วและแผงเหล็กริมถนน ป้ายและสัญญาณไฟจราจร ป้ายประกาศของทางราชการ ศาลาที่พักผู้โดยสาร เป็นต้น ส่วนการปิดประกาศฯ ในสถานที่เอกชนนั้นให้แล้วแต่เจ้าของสถานที่จะอนุญาต สำหรับกรณีการห้ามจำหน่ายจ่ายแจกสุราในวันเลือกตั้ง จะห้ามเฉพาะในพื้นที่เขตเลือกตั้งทั้ง 2 เขตเท่านั้น
โอกาสนี้ นายสมศักดิ์ จันทวัฒนา ได้ให้ข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมางบประมาณซึ่งกทม.ได้รับจัดสรรจาก กกต.เพื่อใช้เป็นค่าอาหารให้กับเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง และประจำสถานที่นับคะแนนนั้นไม่เพียงพอ แม้จะมีค่าตอบแทนให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเลือกตั้ง แต่ในวันเลือกตั้งนั้น เจ้าหน้าที่ต้องมาปฏิบัติงานตั้งแต่เวลา 05.00 น. และดำเนินการเลือกตั้งจนกว่าจะแล้วเสร็จ รวมทั้งก่อนการเลือกตั้งยังต้องมีการจัดอบรมให้ความรู้ ความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการเลือกตั้งอีกด้วย ซึ่งทางสำนักงานเขตต่าง ๆ ต้องรับผิดชอบงบประมาณในส่วนนี้ ในการนี้จึงขอให้ทางกกต.จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้ ซึ่งทางกกต. ได้รับข้อสังเกตดังกล่าวและขอให้กทม.แจ้งของบประมาณเพิ่มเติมในส่วนที่ไม่พอเพียงมายัง กกต.นอกจากนี้ ทางกทม.ยังได้ขอให้ กกต.ประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองพันสารวัตรทหาร (ส.ห.) ได้จัดส่งกำลังเจ้าหน้าที่มาดูแลการนับคะแนน โดยเฉพาะในช่วงกลางคืนจนกว่าการจะดำเนินการนับคะแนนแล้วเสร็จด้วย--จบ--
-นห-