ธ.กสิกรไทย คว้าแชมป์ ธนาคารแห่งปี 2546

14 Oct 2003

กรุงเทพฯ--14 ต.ค.--ธ.กสิกรไทย

เผยผลการจัดอันดับธนาคารแห่งปี 2546 ธนาคารกสิกรไทยคว้าแชมป์ไปครองติดต่อกันเป็นปีที่ 2 โชว์กำไรสุทธิสูงสุด 1.37 หมื่นล้านบาท ตามติดด้วยธนาคารไทยธนาคาร นั่งอันดับ 2 ส่วนอันดับ 3 ตกเป็นของธนาคารกรุงเทพ

วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนตุลาคม 2546 ที่กำลังวางแผงในขณะนี้ ประกาศผลการจัดอันดับธนาคารแห่งปี ประจำปี 2546 หรือ Bank of The Year 2003 ปรากฏว่า ธนาคารกสิกรไทย สามารถคว้าแชมป์ธนาคารแห่งปี 2546 มาครองได้สำเร็จ ซึ่งเป็นการครองตำแหน่งติดต่อกันเป็นปีที่ 2 โดยโชว์ผลงานทำกำไรสุทธิสูงสุดเป็นอันดับ 1 ถึง 13,725.79 ล้านบาท ตามติดด้วยธนาคารไทยธนาคารไต่จากอันดับ 4 เมื่อปีที่แล้ว ขึ้นมานั่งอันดับที่ 2 ในปีนี้ ด้านธนาคารกรุงเทพ ยังยึดอันดับ 3 ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

ส่วนธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน สร้างผลงานเด่นก้าวกระโดดจากอันดับ 11 ขึ้นมาครองอันดับ 4 ขณะที่ธนาคารนครหลวงไทย ขึ้นจากอันดับ 7 มาอยู่อันดับ 5 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา พุ่งจากอันดับ 9 ขึ้นมาอยู่อันดับ 6 สำหรับอันดับ 7 ตกเป็นของธนาคารเอเชีย อันดับ 8 ธนาคารกรุงไทย อันดับ 9 ธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ

ด้านธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นธนาคารเดียวที่ยังมีผลขาดทุนถึง 7,206.64 ล้านบาท ส่งผลให้ตกลงมาอยู่ที่อันดับ 10 ส่วน ธนาคารทหารไทย ที่มีภาระในการสะสางปัญหาต่างๆ ภายในธนาคาร อันดับจึงตกฮวบลงมาอยู่ในอันดับ 11 และธนาคารยูโอบี รัตนสิน โชว์กำไรได้แค่ 0.92 ล้านบาท ยังรั้งท้ายอยู่ในอันดับ 12 เช่นเดียวกับปีที่แล้ว

สำหรับธนาคารธนาคารธนชาต ที่เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2545 เป็นธนาคารที่ดำเนินธุรกิจในลักษณะจำกัดขอบเขตธุรกิจ หรือ Restrick Bank ซึ่งเงื่อนไขและลักษณะในการทำธุรกิจแตกต่างจากธนาคารพาณิชย์อื่นๆ

วารสารการเงินธนาคารจึงไม่ได้นำผลการประกอบการมาพิจารณาจัดอันดับธนาคารแห่งปี

ทั้งนี้ภาพรวมของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในช่วงปีที่ผ่านมา ยังคุกรุ่นไปด้วยการแข่งขันที่เข้มข้นและรุนแรง ประกอบกับเศรษฐกิจได้ฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน โดยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2545 สูงถึง 5% และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าจะสูงถึง 6% ในปีนี้ จึงยิ่งทำให้ธนาคารทั้งของรัฐและเอกชนต่างเร่งขยายธุรกิจเพื่อไม่ให้ตกขบวนเศรษฐกิจในช่วงขาขึ้นเช่นนี้

ส่งผลให้ผลประกอบการของธนาคารเริ่มกลับมามีกำไร หลังจากที่ขาดทุนอย่างหนักในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้ย้อนรอยไปเกิดปัญหาดังเช่นในอดีต ธนาคารหลายแห่งจึงได้ตั้งกันสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในอัตราที่สูง เพื่อให้สามารถรองรับสินเชื่อที่ด้อยคุณภาพได้อย่างเต็มที่ ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ผลประกอบการของบางธนาคารยังประสบภาวะขาดทุนอยู่

ส่วนในเรื่องความเพียงพอของเงินกองทุนก็เป็นอีกประเด็นที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ให้ความสำคัญ และส่งสัญญาณให้ธนาคารพาณิชย์เร่งเพิ่มทุนให้แข็งแกร่ง รวมทั้งเพื่อรองรับเกณฑ์การกันสำรองตามมาตรฐาน Basel II ที่จะประกาศใช้ในเร็วๆ นี้

ดังนั้น เกณฑ์ในการจัดอันดับแห่งปี 2546 จึงได้ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ โดยเน้นให้ความสำคัญกับผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของธนาคารพาณิชย์โดยภาพรวม โดยนำตัวเลขผลประกอบการในช่วง กรกฎาคม 2545 - มิถุนายน 2546 ของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 12 แห่ง มาคำนวณอัตราส่วนทางการเงินที่วัดประสิทธิภาพของธนาคารในด้านต่างๆ เพื่อจัดดับธนาคารแห่งปี ดังนี้ 1. อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์รวม (Return on Asset : ROA) 2. อัตราผลตอบแทนจากส่วนผู้ถือหุ้น (Return on Equity : ROE) 3. อัตรากำไรสุทธิต่อรายได้รวม (Net Profit Margin) 4. กำไรต่อหุ้น (Earnings per Share : EPS) 5. รายได้รวมต่อพนักงาน (Total Income/ Head Counts) 6. มูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น (Book Value per Share) 7. สินทรัพย์รวม (Total Assets) 8. อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPLs/Total Loans) 9. อัตราส่วนเงินให้กู้ยืมต่อเงินฝาก (Loans/Depositis) และ 10. อัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Bis Ratio)

รังษี บูรณประภาพงศ์

ฝ่ายสื่อสารองค์การ ธนาคารกสิกรไทย

โทรศัพท์ 0 2470 2655 โทรสาร 0 2470 2746

e-mail: [email protected]

www.KASIKORNBANK.com--จบ--

-รก-