การป้องกันโรคติดต่อในช่วงฤดูร้อน

08 Apr 2004

กรุงเทพฯ--8 เม.ย.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ

ขณะนี้เป็นระยะที่เข้าสู่ฤดูร้อน มักเกิดการระบาดของโรคติดต่อโดยเฉพาะโรคที่ติดต่อทางอาหารและน้ำ เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด โรคอหิวาตกโรค ไข้ไทฟอยด์ และโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ได้แก่ โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ เป็นต้น

กองเวชกรรมป้องกัน กรมแพทย์ทหารเรือ มีความห่วงใยสุขภาพและอนามัยของกำลังพลกองทัพเรือและครอบครัว จึงได้จัดทำข้อมูลเพื่อเผยแพร่ความรู้ในการป้องกันโรคติดต่อที่มักจะเกิดขึ้นในฤดูร้อน ดังนี้

โรคอุจจาระร่วง หรือโรคท้องเดิน ท้องเสีย หมายถึง ภาวะที่ผู้ป่วยถ่ายอุจจาระเหลวมากกว่าวันละ ๒ ครั้ง หรือถ่ายอุจจาระเป็นน้ำมูกหรือมูกปนเลือดเพียงครั้งเดียว โรคอุจจาระร่วง จะเกิดในทุกฤดูกาล โดยเฉพาะในฤดูร้อน เนื่องจากเชื้อโรคเจริญและแพร่พันธุ์ได้ดี พบได้ทุกเพศ ทุกวัย และพบมากในเด็กอายุ ๖ เดือน ถึง ๒ ปี สาเหตุของโรคเกิดจากการกินอาหาร ดื่มน้ำ หรือนมที่มีเชื้อโรคอุจจาระร่วงปะปนอยู่ การติดต่อของโรคโดยการรับประทานอาหารและดื่มน้ำที่มีเชื้อโรค

อาการของโรค นอกจากจะถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำติดต่อกันหลายครั้ง ปวดท้อง อ่อนเพลีย แล้ว อาจจะมีไข้ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ในบางรายที่ถ่ายอุจจาระติดต่อกันมาก ๆ ร่างกายอาจแสดงอาการขาดน้ำ คือ รู้สึกกระหายน้ำจัด เป็นตะคริว เสียงแห้ง แก้มตอบ ผิวหนังเหี่ยวย่น ตัวเย็น ชีพจรเบา ความดันเลือดต่ำ

การรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง ควรงดอาหารที่ย่อยยาก งดอาหารที่มี รสจัดและมีกาก ดื่มน้ำสุกหรือน้ำสะอาด และดื่มผงน้ำตาลเกลือแร่ ถ้ามีอาการมากหรือผิดปกติควรพบแพทย์ สำหรับการปฏิบัติตนโดยทั่วไป ควรพักผ่อนให้มาก ๆ ถ่ายอุจจาระลงส้วมที่ถูกสุขลักษณะ และระวังในการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น--จบ--

-นท-