พัฒนาโฟมยางธรรมชาติหนุนวิจัยทำผลิตภัณฑ์ เพิ่มมูลค่ายางไทยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)

16 Nov 2004

กรุงเทพฯ--16 พ.ย.--สกว.

นักวิจัย สกว.พัฒนาคุณภาพโฟมยางธรรมชาติ เน้นตั้งแต่กระบวนการเตรียมสารเคมีสร้างเครื่องบดสารราคาถูก เพื่อแปรรูปยางธรรมชาติเป็นผลิตภัณฑ์โฟมยางให้ได้มาตรฐาน พร้อมขานรับสร้างผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติใหม่ๆ หนุนมูลค่าเพิ่มยางไทย

โฟมยาง หรือยางฟองน้ำที่ทำจากยางธรรมชาติมีลักษณะเป็นรูพรุนใช้ทำผลิตภัณฑ์จำพวก เบาะนั่ง ที่นอน หมอน สื่อการสอน ตุ๊กตาและของชำร่วยต่างๆ หลักการสำคัญของการผลิตยางฟองน้ำคือ การทำให้น้ำยางเกิดฟองของอากาศหรือของแก๊สต่างๆขึ้นภายในแล้วทำให้ฟองยางคงรูป(หรือวัลคาไนซ์)ด้วยสารเคมีและอาศัยความร้อนเป็นตัวช่วย แต่การทำผลิตภัณฑ์โฟมจากยางธรรมชาติ โดยทั่วไปนั้นยังประสบปัญหาเรื่องกระบวนการผลิตในแต่ละขั้นตอนยังไม่ดีพอทำให้ได้เนื้อโฟมไม่สม่ำเสมอรวมทั้งมีการสึกหรอของแม่พิมพ์

โครงการการพัฒนากระบวนการผลิตโฟมยางธรรมชาติ โดย ดร.วิริยะ ทองเรือง และ ดร.เจริญยุทธ เดชวายุกุล ภาควิชาเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับนางสาวจิตระดา สุนโท และนายยงยุทธ รุกขชาติสุวรรณ หลักสูตรวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)พัฒนาออกแบบและสร้างเครื่องเตรียมสาร(ดีสเพิสชั่น) ราคาถูกและชุดป้องกันความสับสนในการผสม อีกทั้งพัฒนาสูตรการผสมเพื่อลดเวลาที่ใช้ในการบ่มในเตาอบที่ส่งผลให้ยืดอายุการใช้งานของแม่พิมพ์ได้

ดร.วิริยะกล่าวถึงความเป็นมาของงานวิจัยนี้ว่า เกิดจากการไปทัศนศึกษาและดูงานการทำผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโฟมยางธรรมชาติของกลุ่มเกษตรกรแห่งหนึ่งพบว่า เกษตรกรยังประสบปัญหาเรื่องกระบวนการผลิตทำให้ได้เนื้อโฟมที่ไม่สม่ำเสมอ ทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพไม่ดีซึ่งจากการวิเคราะห์สรุปได้ว่า กระบวนการผลิตในแต่ละขั้นตอนยังไม่ดีพอ ขาดความแน่นอน นับตั้งแต่กรรมวิธีในการเตรียมสารเคมีที่อาจไม่ได้อัตราส่วนที่เหมาะสม ไม่สามารถเตรียมสารที่แหล่งผลิตได้เอง เนื่องจากขาดชุดอุปกรณ์การเตรียมสาร ไม่สามารถควบคุมทั้งคุณภาพและปริมาณของสารเคมีได้ เนื่องจากต้องสั่งซื้อจากแหล่งอื่น ทำให้เกิดความสับสนเรื่องปริมาณและขั้นตอนการผสมสารเคมีต่างๆเข้ากับน้ำยางข้น ตลอดถึงกรรมวิธีทำให้ยางสุก(โดยการนึ่ง) ที่ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องการสึกหรอของแม่พิมพ์(ปูนพลาสเตอร์) จากปัญหาดังกล่าวทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางธรรมชาติของกลุ่มเกษตรกรยังด้อยคุณภาพและไม่เป็นที่ต้องการของตลาด

ด้วยเหตุนี้แนวทางการพัฒนาตั้งแต่กระบวนการผลิตจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้นและเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดนอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าของยางพาราได้อีกด้วย

ดร.วิริยะกล่าวว่า โครงงานนี้จึงพัฒนากระบวนการผลิตโฟมยางธรรมชาติให้มีคุณภาพตั้งแต่กระบวนการการเตรียมสารเคมี(ดีสเพิสชั่น)โดยการสร้างเครื่องบดสารขนาดเล็ก(ball mill)ที่สามารถเตรียมสารเคมีได้ดีเทียบเท่ากับเครื่องบดสารที่มีขายตามท้องตลาดแต่ราคาถูกกว่าและชุดอุปกรณ์ป้องกันความสับสนเรื่องขั้นตอนการผสมสารเคมีต่างๆเข้ากับน้ำยางที่สามารถจัดทำขึ้นเองได้และสะดวกต่อการใช้งาน

จากการปรับปรุงกระบวนการผลิตและพัฒนาสูตรเพื่อลดเวลาในการอบยางด้วยเตาอบที่ให้เนื้อโฟมที่มีคุณภาพสม่ำเสมอพบว่า การเพิ่มอุณหภูมิในการอบยางเป็น 120๐C และปิดเบ้าพิมพ์ด้วยแผ่นอะลูมิเนียมความหนา 1 มิลลิเมตร ยางใช้เวลาบ่มเพื่อคงรูป 60-90 นาทีที่ความหนาของชิ้นงาน 2-8 เซนติเมตร ซึ่งเมื่อเทียบกับการบ่มที่ใช้กันทั่วๆไปที่ความหนาเดียวกัน (อุณหภูมิ 100 ๐C ใช้เวลาในการบ่ม 120 – 140 นาที) สามารถลดเวลาในการบ่มยางได้ประมาณ 2 เท่า ผลการทดลองแปรค่าปริมาณสารเคมีต่างๆได้แก่ สารคงรูป (Sulfur, S) สารตัวเร่ง (ZDEC, ZMBT, DPG) สารตัวกระตุ้น (ZnO) และสารทำให้หนืดหรือเกิดเจล (SSF) พบว่า การเพิ่มหรือลดปริมาณสารเคมีไม่มีผลต่อเวลาในการอบยางและความหนาแน่นของโฟมที่ได้(ความหนาแน่นเฉลี่ยของโฟมยางมีค่าเท่ากับ 0.167 g/cm3) แต่การแปรค่าปริมาณสารเคมี ทำให้เนื้อโฟมมีคุณภาพสม่ำเสมอ สังเกตความแตกต่างได้จากกล้องถ่ายภาพดิจิตอล กล้องจุลทรรศน์และค่าความหนาแน่น งานวิจัยนี้ยังได้เสนอแนะเทคนิคในการทำโฟมยางสำหรับเกษตรกรหลายวิธี อาทิ ควรให้เบ้าพิมพ์ปูนพลาสเตอร์แห้งสนิทก่อนนำมาใช้โดยการอบที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสประมาณ 2 – 3 วัน หรือพิมพ์ปูนพลาสเตอร์ควรมีความหนาของขอบตั้งแต่ 3 เซนติเมตรขึ้นไป เมื่อใช้อุณหภูมิในการอบที่ 120 องศาเซลเซียสเพราะถ้าเบ้าพิมพ์มีความหนาน้อยกว่านี้เบ้าพิมพ์จะแตกง่าย ทำให้อายุการใช้งานสั้น รวมถึงการใช้เบ้าพิมพ์โลหะและพลาสติกจะใช้เวลาในการคงรูปของยางน้อยกว่าเบ้าพิมพ์ปูนพลาสเตอร์และผิวของชิ้นงานจะเรียบกว่าส่วนคุณภาพของเนื้อโฟมภายในใกล้เคียงกัน

ดร.วิริยะกล่าวอีกว่า คำแนะนำสำหรับเกษตรกรที่จะผลิตโฟมยางธรรมชาตินั้นสิ่งสำคัญต้องคำนึงถึงการผสมสารเคมีในสัดส่วนที่เหมาะสมต่อน้ำยาง ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามชนิดและคุณภาพของสารเคมีที่ใช้ อีกทั้งยังต้องระมัดระวังเรื่องความสับสนในการผสมสารเคมีว่า ควรผสมสารชนิดใดก่อนหรือหลัง และหากเป็นไปได้เกษตรกรควรทดลองในเบื้องต้นว่า ผลิตภัณฑ์ที่จะทำเหมาะกับการใช้วิธีอบหรือนึ่ง ซึ่งหากใช้วิธีอบในการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์จะต้องใช้เวลานานแต่จะสามารถยืดอายุการใช้งานของแม่พิมพ์ได้ แต่หากใช้วิธีนึ่งในการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ใช้เวลาน้อยกว่าก็จริง แต่จะมีผลต่อการสึกหรอของแม่พิมพ์ได้ง่ายกว่า (เห็นได้ชัดในกรณีที่ใช้ปูนพลาสเตอร์) ซึ่งจะเลือกใช้วิธีการใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์นั้นๆด้วย

ด้านแนวทางในการทำวิจัยที่ต่อเนื่องไปในอนาคตนั้น ดร.วิริยะกล่าวว่า ขณะนี้กำลังศึกษาเรื่องการทำผลิตภัณฑ์โฟมที่ใช้ในทางการแพทย์ เพื่อทดแทนการใช้ยางสังเคราะห์และยางซิลิโคน แต่ปัจจุบันผลิตภัณฑ์จำพวกนี้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศในราคาแพง ถ้าหากเรานำยางธรรมชาติมาแทนที่จะสามารถลดราคาผลิตภัณฑ์นี้ได้ลงได้มาก--จบ--