เอกสารประกอบ งานโครงการรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมสังคม

27 Oct 2005

กรุงเทพฯ--27 ต.ค.--มูลนิธิโรงพยาบาลศรีธัญญา

โรคจิตเวช คือ ความผิดปกติทางจิตที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของสมอง

โรคจิตเภท (Schizophrenia) เป็นโรคจิตเวชชนิดรุนแรงที่พบมากที่สุด มีคนป่วยเป็นโรคนี้ประมาณ 1% ของประชากรโลก ผู้ป่วยมักเริ่มเป็นโรคนี้ในช่วงอายุ 14-16 ปี

อาการของโรคจิตเภท เป็นการแสดงออกของความผิดปกติของ ความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม ร่วมกัน ความคิดของผู้ป่วยโรคจิตเภท มักเป็นความคิดแบบเพ้อฝันไม่อยู่กับร่องกับรอย คิดอะไรเอาเองตามใจชอบหรือตามปัญหาที่เรามีอยู่ โดยที่ผู้อื่นไม่เข้าใจในความคิดของเขา จึงมักฟังดูแปลกๆ ไม่มีเหตุผล เรียกง่ายๆ ว่าคิดอะไรบ้าๆ บอๆ หรือเพี้ยนๆ ความคิดแบบนี้ถ้าเกิดเป็นเรื่องราวหรือความเชื่อ ถือที่ฝังแน่นโดยไม่มีรากฐานของความเป็นจริง เราเรียกว่า "อาการหลงผิด" (delusion)

ผู้ป่วยอาจหลงผิดว่าตนเป็นคนบุญหนักศักดิ์ใหญ่ จะแต่งงานกับเจ้าฟ้าชาย เจ้าฟ้าหญิง หลงผิดว่าตนมีเจ้าพ่อเจ้าแม่สิงอยู่ในร่าง หลงผิดว่ามีคนคิดทำร้ายตนกระทำทางไสยศาสตร์ ใช้อำนาจจิต โทรจิต หรือส่งอำนาจพิเศษมาควบคุมความคิด ความรู้สึก และการกระทำของตน ทำให้ตนเองเป็นเหมือนหุ่นยนต์ที่ถูกควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ หรือด้วยอำนาจลึกลับตามพื้นฐานความเชื่อของแต่ละบุคคล บางทีหลงผิดว่าอวัยวะภายในของตนผุพังหรือสูญหายไปแล้ว เช่น คิดว่าตนไม่มีสมอง ไม่มีตับ ไม่มีกระเพาะอาหาร หรือหลงผิดว่าตนเป็นมะเร็ง ฯลฯ

ความคิดที่ผิดปกติอาจเกิดร่วมกับสัมผัสที่ผิดปกติคือ อาจมีการรับสัมผัสโดยที่ไม่มีตัวกระตุ้น ไม่ว่าจะเป็นทางหู ทางตา ทางจมูก ทางลิ้น หรือทางผิวหนัง อาการแบบนี้เราเรียกว่า "ประสาทหลอน" (hallucination) อาการประสาทหลอนที่พบบ่อยที่สุดในโรคจิตเภท คือประสาทหลอนทางหูหรือที่เราเรียกง่ายๆ ว่า หูแว่ว (auditory hallucination) ผู้ป่วยอาจคิดแล้วได้ยินเสียงความคิดตัวเอง อาจได้ยินเสียงคนมาด่าหรือมาชม อาจได้ยินเสียงคนหลายๆ คนโต้เถียงกัน บางทีก็เป็นเสียงสั่งให้ผู้ป่วยทำอะไรๆ แม้แต่สั่งให้ไปฆ่าตัวตายจนผู้ป่วยต้องจบชีวิตตนเองลงก็มี บางครั้งก็อาจมีประสาทหลอนทางตา หรือเห็นภาพหลอน (visual hallucination) ผู้ป่วยอาจเห็นภาพคนที่ตายไปแล้ว หรือเห็นนางฟ้า เทวดา พญายม มาเรียกหาโดยที่เป็นสิ่งที่อยู่ในจิตใต้สำนึกของตน

ความคิดของผู้ป่วยโรคจิตเภทอาจกระเจิดกระเจิงจนไม่ปะติดปะต่อกัน เวลาคุยกับเขาจึงอาจคุยกันไม่ค่อยรู้เรื่อง คุยไปคุยมาก็กลายเป็นคนละเรื่องเดียวกัน ถามอย่างตอบอย่าง พูดวกวนเฉียดไปเฉียดมาไม่เข้าเป้า เอาเรื่องนี้ไปต่อกับเรื่องโน้นโดยไม่เกี่ยวเนื่องกันเลย หรือใช้คำใหม่ ภาษาใหม่ที่แปลกๆ ไม่มีใครรู้เรื่อง

อารมณ์ของผู้ป่วยโรคจิตเภท มักมีความผิดปกติจนสังเกตเห็นได้ไม่ยากนัก ผู้ป่วยอาจมีอารมณ์ไม่เหมาะสมหรือไม่สอดคล้องกับความคิด อยู่ดีๆ ก็หัวเราะหรือร้องไห้โดยไม่ทราบสาเหตุ บางทีกำลังคุยกันเรื่องธรรมดาๆ หรือเรื่องน่าเศร้า ผู้ป่วยกลับยิ้มหัวเราะ

บางครั้งอารมณ์ของผู้ป่วยกลายเป็นแบบเฉยเมยไร้อารมณ์ เป็นลักษณะที่ไม่ยินดียินร้ายหรือไม่สนใจต่อสิ่งแวดล้อม บางรายอาจมีอารมณ์โกรธหรือแสดงความก้าวร้าวได้

พฤติกรรมของผู้ป่วยโรคจิตเภท มักเป็นไปในลักษณะ ชอบแยกตนเองออกจากสังคม พอใจที่จะอยู่ตามลำพังคนเดียวไม่สุงสิงกับใคร ไม่สนใจตนเองและสิ่งแวดล้อม มีบุคลิกภาพเปลี่ยนไปทางเสื่อมลง ไม่อาบน้ำอาบท่า ไม่เปลี่ยนเสื้อผ้า หรือแต่งเนื้อแต่งตัวแปลกๆ ไม่เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม พูดคนเดียว หัวเราะคนเดียว ร้องไห้คนเดียว โต้ตอบกับประสาทหลอน ทำอะไรซ้ำๆ ในลักษณะแปลกๆ เข่น เดินถอยหน้าถอยหลัง ยืนหรือนั่งอยู่ในท่าเดียวนานๆ คล้ายหุ่นขี้ผึ้งไปยืนเพ่งดูดวงอาทิตย์ หรือมีกิริยาท่าทางที่แปลกประหลาด

บางครั้งมีอาการซึมเฉยไม่พูดไม่จา ไม่กินอาหาร บางครั้งก็กลับพูดมาก แก้ผ้าแก้ผ่อน เอะอะอาละวาดหรือก้าวร้าวทำร้ายคนอื่น

ในด้านการงานหรือการเรียนมักเสียความสามารถไปเพราะผลจากอาการป่วย ทำให้ไม่สามารถเรียนหนังสือหรือทำการงานได้เหมือนเดิม ในรายที่เป็นมานานๆ มักจะกลายเป็นคนขี้เกียจ ไม่สนใจทำอะไรเลย ชอบที่จะอยู่เปล่าๆ อยู่ในโลกแห่งความฝันของเขา พวกนี้บางที่เราอาจเห็นแต่งตัวสกปรก ผมเผ้ารุงรังเดินเก็บเศษอาหารกิน หรือนอนกระดิกเท้าเกาสะดืออยู่ตามข้างถนนก็มี

ในด้านความจำและเชาวน์ปัญญาของผู้ป่วยโรคจิตเภทนั้น บางคนอาจเข้าใจผิดว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น ความจริงแล้วผู้ป่วยโรคจิตเภทยังสามารถรับรู้ต่อเวลา สถานที่และบุคคลได้เป็นปกติ ความจำไม่ได้เสียไปแต่ประการใด

ถ้าหากเขาจะจำอะไรไม่ได้ก็เป็นเพราะเขาไม่ได้สนใจ หรือมัวแต่วุ่นวายกับความคิดที่ผิดปกติหรือประสาทหลอน จนไม่ได้สนใจกับสิ่งแวดล้อมเชาวน์ปัญญาระดับไหนไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยเป็นโรคจิตเภทแต่อย่างใด จะโง่หรือฉลาดเป็นได้ทั้งนั้นแต่การแสดงออกเท่านั้นที่อาจแตกต่างกัน

ลักษณะของโรคจิตเภท

  • ผู้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลงด้านความคิดและพฤติกรรม
  • ผู้ป่วยมีอาการประสาทหลอนและหลงผิด ไม่อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง
  • โรคจิตเภทรักษาได้ แต่ผู้ป่วยมักป่วยซ้ำหากไม่ได้รับการรักษาด้วยยาที่เหมาะสม

ปัจจัยโน้มเอียงที่มีอยู่ก่อนด้านพันธุกรรม ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นโรคจิตเภท

ผู้ป่วยโรคจิตเภท

โอกาสที่จะป่วยเป็นโรคจิตเภท ทั้งบิดามารดา

ลูก 47% บิดาหรือมารดา

ลูก 13% คู่แฝดเหมือน

อีกคน 50% คู่แฝดจากไข่คนละใบ

อีกคน 50% พี่น้อง

9% ลูกพี่ ลูกน้องทางบิดา

2%

วิธีการสังเกตผู้ป่วยโรคจิตเภท

ผู้ป่วยโรคจิตในระยะเริ่มแรกนั้นจะสังเกตได้ค่อนข้างยาก โดยส่วนใหญ่แล้วคนใกล้ชิดมักจะสงสัยว่าเป็นผู้ป่วยโรคจิตก็ต่อเมื่อมีอาการเป็นมากแล้ว ซึ่งอาการที่เรามักสังเกตเห็นนั้นอาจมีลักษณะดังนี้คือ

บุคลิกภาพหรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และผิดปกติไปจากสังคมทั่วไป ซึ่งส่วนมากจะมีลักษณะแปลกประหลาดหรือไม่ถูกกาลเทศะ หรือน่าอับอาย เช่น การแต่งตัวด้วยเสื้อผ้า หรือเครื่องประดับที่มากกว่าธรรมดา และไม่เหมาะสม การพูดเพ้อเจ้อเรื่องราวที่ไม่เป็นความจริงหรือมีพฤติกรรมที่ดูดุดันน่ากลัว หรือมีตาขวางเป็นต้น

ในด้านความคิดนั้น ผู้ป่วยบางคนจะคิดหรือเชื่อในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง เช่น หลงคิดว่าตัวเองเป็นผู้วิเศษ มีความสามารถสูงเกินใคร หรือคิดว่าจะมีอันตราย มีคนจะมาทำร้าย มาฆ่าทั้ง ๆ ที่ไม่มี บางคนจะรับรู้หรือสัมผัสสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง เช่น มีหูแว่วได้ยินเสียงคนพูด เห็นภาพหลอนในขณะที่ไม่มีจริง

ผู้ป่วยบางคนจะรับรู้เรื่องของเวลา เรื่องของสถานที่ เรื่องของบุคคล ผิดไปจากความเป็นจริง เช่น บอกว่าขณะนี้เป็นเวลาที่จะต้องไปทำงานทั้ง ๆ ที่เป็นเวลาค่ำที่จะต้องพักผ่อน หรือรับรู้ญาติพี่น้องหรือลูกว่าเป็นคนอื่นที่ไม่รู้จัก เป็นต้น

หากท่านสงสัยว่าตนเองหรือผู้ใกล้ชิดอาจมีอาการโรคจิต ก็โปรดอย่านิ่งนอนใจ ควรรีบปรึกษาจิตแพทย์ หรือบุคลากรด้านสุขภาพจิต เพราะหากพบว่าป่วยเป็นโรคจิตจริงนั้น การที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที จะช่วยให้หายจากการเจ็บป่วยได้ง่ายกว่าการปล่อยทิ้ง ไว้จนมีอาการมาก ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลเสียหายมากมายทั้งต่อตัวผู้ป่วยเองและญาติได้

การดูแลผู้ป่วยโรคจิตเภท

ในการดูแลผู้ป่วยโรคจิตนั้น สิ่งสำคัญอันดับแรกคือ ญาติต้องให้ความเข้าใจ และ เห็นใจผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยมิได้มีเจตนาจะสร้างความเดือดร้อน ความรำคาญให้กับญาติ ควรให้อภัยและไม่ถือโทษโกรธผู้ป่วย ไม่ควรขัดแย้งหรือโต้เถียงกับผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการทางจิต แต่ควรแสดงความเห็นใจในความทุกข์ที่ผู้ป่วยได้รับจากอาการทางจิตเหล่านั้น พร้อมทั้งเสนอความช่วยเหลือแก่เขา ซึ่งทั้งหมดต้องอาศัยความอดทนอย่างมาก อันดับต่อไปคือให้การดูแลเรื่อง การกินยา การดูแลสุขภาพอนามัย การพาไปพบแพทย์ตามนัด และหากในระหว่างอยู่บ้าน ผู้ป่วยมีอาการกำเริบขึ้น ก็ให้ขอคำแนะนำปรึกษาจากแพทย์ หรือพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่สถานบริการใกล้บ้านเพื่อผู้ป่วยจะได้รับการดูแล ที่เหมาะสมต่อไป

ทำอย่างไรให้ผู้ป่วยร่วมมือในการรักษา

ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยโรคจิต คือ ผู้ป่วยมักไม่ยอมรับว่าตัวเองป่วย เป็นโรคจิต และมักไม่ยอมให้ความร่วมมือในการรักษา ซึ่งสร้างความยุ่งยากลำบากใจอย่างมากกับญาติหรือผู้ใกล้ชิดและแพทย์ผู้ให้การรักษา

ปัญหานี้พอมีหนทางแก้ไขได้บ้าง โดยอาศัยวิธีที่เหมาะสมและความร่วมมืออย่าง ใกล้ชิดของผู้ที่เกี่ยวข้อง

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการทางจิตรุนแรงที่อาจเป็นอันตรายต่อตัวผู้ป่วยเองหรือผู้อื่นนั้น ญาติต้องใจแข็งและนำผู้ป่วยไปรับการรักษาอย่างเร็วที่สุด ทั้งนี้ถ้าญาติไม่สามารถควบคุมตัวผู้ป่วยมาได้ด้วยตนเอง ก็ต้องขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่บริการฉุกเฉินต่าง ๆ ในการนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล ส่วนกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติทางจิตแต่ไม่รุนแรงมากถึงขั้นที่จะเป็นอันตราย ญาติอาจจะไปพบแพทย์เพื่อเล่าประวัติและอาการของผู้ป่วยให้แพทย์ฟังเพื่อจะได้วางแผนในการนำ ผู้ป่วยมารักษาต่อไป

ในการดูแลผู้ป่วยนั้น ญาติควรให้ความเข้าใจและเห็นใจผู้ป่วย ทั้งนี้เนื่องจากผู้ป่วย มิได้ มีเจตนาจะสร้างความเดือดร้อนความรำคาญให้กับญาติ ควรให้อภัยและไม่ถือโทษโกรธผู้ป่วย ไม่ควรขัดแย้งหรือโต้เถียงกับผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการทางจิตที่ผู้ป่วยเป็น แต่ควรแสดงความเห็นใจในความทุกข์ที่ผู้ป่วยได้รับจากอาการทางจิตเหล่านั้น พร้อมทั้งเสนอความช่วยเหลือแก่เขา ซึ่งทั้งหมดคงต้องอาศัยความอดทนของญาติและผู้ใกล้ชิดอย่างมาก

หากท่านต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ

สุภาวดี จรุงธรรมโชติ โทร. 0 2633 9950 หรือ

อีเมล์[email protected]จบ--