หนุนอนุรักษ์พันธุ์ “ปลาบึก” สร้างเทคโนโลยี ถอดรหัสพันธุกรรม

03 Jul 2006

กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--สกว.

หนุนอนุรักษ์พันธุ์ “ปลาบึก” ศึกษาเทคโนโลยีถอดรหัสพันธุกรรม ป้องกันการผสมพันธุ์ในสายเลือดเดียวกัน ชี้ยังค้นพบ การลบล้างความเชื่อเดิมๆเรื่องปลาบึกไทยไปเติบโตในต่างแดน พร้อมวิจัยต่อเนื่องเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ปลาบึกไทยเพื่อการเพาะเลี้ยงที่ดีขึ้นต่อไป

ปลาบึก เป็นปลาน้ำจืดไม่มีเกล็ดที่ใหญ่ที่สุดในโลกพบที่เดียวในแม่น้ำโขง ปัจจุบันถูกจัดให้เป็นชนิดที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งยังเป็นปลาที่เป็นสมบัติร่วมของหลายประเทศ จึงได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไปรวมทั้งองค์กรนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ แต่การอนุรักษ์ปลาบึกยังขาดข้อมูลสำคัญอีกหลายประการ เช่น ปลาบึกมีกี่ประชากร หรือความเชื่อว่าปลาบึกวางไข่ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายและตัวอ่อนล่องลอยไปเลี้ยงตัวในทะเลสาบประเทศกัมพูชาจริงหรือไม่ ปลาบึกมีจำนวนมากน้อยเพียงใด ปลาบึกขนาดวัยรุ่นอาศัยอยู่ที่ไหน ซึ่งยังต้องค้นหาคำตอบ

ศ.ดร.อุทัยรัตน์ ณ นคร คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)หัวหน้าโครงการการจัดการพันธุกรรมของปลาบึกโดยเครื่องหมายพันธุกรรม กล่าวว่า ตามที่กรมประมงสามารถเพาะพันธุ์ปลาบึกจากธรรมชาติเมื่อประมาณ 23 ปีที่แล้วและความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาบึกที่เลี้ยงในบ่อได้เป็นครั้งแรกในปีพศ.2544 เป็นการประกันว่าอย่างน้อยปลาบึกก็จะไม่สูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ แต่นานาชาติก็ยังมีความวิตกตามมาว่าหากประเทศไทยไม่สามารถจัดการพันธุกรรมพ่อแม่พันธุ์ให้ถูกต้อง ปลาที่เพาะได้ก็จะมีสายพันธุ์ที่เสื่อมโทรมลงในที่สุด ทั้งยังกังวลไปถึงว่าหากมีการปล่อยปลาเหล่านี้ลงในแม่น้ำโขงอาจมีผลกระทบในแง่ร้ายต่อทรัพยากรปลาบึกอย่างแน่นอน จึงเป็นสาเหตุให้เกิดแนวทางการศึกษาเรื่องเครื่องหมายพันธุกรรมขึ้นเพื่อจัดการพ่อแม่พันธุ์ดังกล่าว

โดยงานวิจัยนี้ได้ศึกษาเครื่องหมายพันธุกรรมไมโครแซเทลไลท์จำนวน 7 ตำแหน่งในตัวอย่างปลาบึกที่เป็นลูกของพ่อแม่พันธุ์ที่จับจากธรรมชาติระหว่างปี 2527-2537 ซึ่งใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ในฟาร์มศูนย์สถานีจำนวน 7 แห่งเป็นจำนวน 129 ตัว และได้ติดเครื่องหมายไมโครชิพแก่ปลาที่เก็บตัวอย่างทุกตัว จากนั้นคำนวณค่าความหลากหลายทางพันธุกรรมซึ่งพบว่า พ่อแม่พันธุ์เหล่านี้มีความหลากหลายทางพันธุกรรมสูงพอๆกับปลาบึกในธรรมชาติ โดยส่วนใหญ่มีพันธุกรรมไม่แตกต่างจากปลาธรรมชาติ

นางสาวเกตุนภัส ศรีไพโรจน์ นิสิตปริญญาเอก โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก(คปก.)นักวิจัยหลักในโครงการนี้กล่าวเพิ่มเติมว่า วัตถุประสงค์หลักในการจับคู่ผสมพันธุ์คือการรักษาความหลากหลายทางพันธุกรรมไว้เพราะปลามีความหลากหลายทางพันธุกรรมต่ำจะปรับตัวได้ไม่ดีในสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป และเมื่อเพาะพันธุ์ไปหลายชั่วอายุลักษณะต่างๆจะเสื่อมลง นอกจากนั้นการจับคู่ผสมพันธุ์ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการผสมเลือดชิด(การผสมพันธุ์ในเครือญาติเดียวกัน) การวิจัยครั้งนี้จึงใช้ค่าความสัมพันธ์ทางพันธุกรรม(rxy) ซึ่งเป็นค่าที่บอกถึงระดับความแตกต่างทางพันธุกรรมระหว่างคู่ผสม คำนวณได้จากความเหมือนหรือความแตกต่างกันในทุกตำแหน่งบนสารพันธุกรรมที่ทำการศึกษาเป็นตัวบ่งชี้โดยคู่ผสมหรือประชากรที่มีค่า rxy สูงแสดงว่ามีความสัมพันธ์ทางสายเลือดใกล้ชิดกัน ซึ่งหากผสมพันธุ์กันอาจเกิดปัญหาการผสมเลือดชิดได้

โดยผลการวิจัยพบว่า ประชากรปลาในโรงเพาะฟักแต่ละแห่ง มีค่าความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมสูงกว่าค่ารวมจากทุกประชากรแสดงว่า ควรมีการผสมพันธุ์ระหว่างพ่อแม่ปลาจากต่างฟาร์ม ซึ่งได้คำนวณค่าความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของทุกคู่ผสม และได้มอบให้กรมประมงและเกษตรกรเจ้าของปลาตัวอย่าง พร้อมทั้งแนะนำว่า ควรเลือกใช้คู่ผสมที่มีค่าความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมเท่ากับหรือน้อยกว่า 0.07 จากการคำนวณพบว่าถ้านำลูกปลาบึกจากการผสมคู่ที่มีค่า ความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมต่ำกว่า 0.07 จำนวน 20 คู่มาเป็นพ่อแม่พันธุ์จะสามารถรักษาระดับความหลากหลายทางพันธุกรรมไว้ได้เกิน 90%และไม่เกิดการผสมเลือดชิด

ผลการศึกษาในภาพรวมยังพบว่า ปลาบึกที่มีอยู่ในโรงเพาะฟัก ยังมีความหลากหลายในระดับสูงเมื่อเทียบกับปลาในธรรมชาติ จึงมีศักยภาพสูงที่จะใช้ในโครงการปล่อยปลาคืนสู่ธรรมชาติในกรณีที่จำเป็น ทำนองเดียวกันปลาเหล่านี้ยังมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นสายพันธุ์เพื่อการเพาะเลี้ยงที่ดีได้เช่นกัน

หัวหน้าโครงการยังกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังได้ศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของปลาบึกในธรรมชาติซึ่งเก็บตัวอย่างจากปลาบึกที่จับได้ในประเทศไทย ต่อมาจึงได้ศึกษาตัวอย่างในปลาบึกธรรมชาติจากประเทศกัมพูชาเพิ่มเติม และเมื่อรวมผลจากสองแหล่งทำให้ทราบข้อมูลที่ยังไม่มีผู้ค้นพบมาก่อนว่า ปลาบึกไทยกับปลาบึกที่พบในทะเลสาบเขมรเป็นปลาคนละประชากร โดยการค้นพบครั้งนี้มีความหมายมากซึ่งจะลบล้างความเชื่อที่ว่าลูกปลาจากอำเภอเชียงของล่องลอยไปเลี้ยงตัวในทะเลสาบประเทศกัมพูชาและทำให้ต้องศึกษาเพิ่มเติมว่า ลูกปลาบึกที่พ่อแม่ปลามาวางไข่ผสมพันธุ์ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงรายนั้นไปเจริญเติบโตที่ไหน จึงไม่เคยมีการพบปลาบึกขนาดเล็กในที่ใดเลย และการอนุรักษ์ปลาบึกทั้งคนละกลุ่มประชากรดังกล่าวยังต้องมีการอนุรักษ์แยกจากกัน ซึ่งเหล่านี้กำลังเป็นความพยายามในการอนุรักษ์พันธุ์ปลาบึกของนักวิจัยไทยต่อไป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ

ฝ่ายประชาสัมพันธ์สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)โทร 0-2619-9701,0-2619-6188 E-mail:[email protected]

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit