แพทย์ผิวหนังเตือนบุหรี่อันตรายต่อผิว ทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้

25 May 2006

กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์

แพทย์ผิวหนังเตือนภัยร้ายในควันบุหรี่ นอกจากจะทำให้เกิดมะเร็งปอด โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูงแล้ว สารนิโคตินในบุหรี่ยังเป็นอันตรายต่อผิว ทำให้เส้นเลือดหดตัว ออกซิเจนไปลี้ยงส่วนต่างๆได้ไม่ดี เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนัง ริมฝีปากดำ สีผิวซีดเหลือง หน้าหมองคล้ำ เป็นมะเร็งผิวหนัง และมีฤทธิ์ทำลายฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตเจนที่ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง จึงทำให้แก่ก่อนวัย

ผศ.พญ.สุวิรากร โอภาสวงศ์ แพทย์ผิวหนัง อาจารย์พิเศษศูนย์ผิวหนัง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า แม้หลายองค์กรจะรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่และให้ความรู้เกี่ยวกับโทษของการสูบบุหรี่ที่มีต่อสุขภาพ แต่จำนวนผู้สูบบุหรี่ก็ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยพบว่า 1 ใน 3 ของผู้ชายทั่วโลกจะสูบบุหรี่ และจากสถิติขององค์การอนามัยโลก (WHO) ยังพบว่า คนเอเชียและแปซิฟิกมีอัตราการสูบบุหรี่สูงที่สุดเกือบ 2 ใน 3 ของผู้ชาย ขณะเดียวกันในกลุ่มเด็กก็มีอัตราการสูบเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันพบว่ามีเด็กจากทั่วโลกราว 80,000-100,000 คน กำลังเริ่มสูบบุหรี่และจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งเป็นเด็กจากเอเชีย

ผศ.พญ.สุวิรากร กล่าวว่า ภัยร้ายในควันบุหรี่นั้นนอกจากจะทำให้เกิดมะเร็งปอด โรคหัวใจ และความดันโลหิตสูงแล้ว บุหรี่ยังเป็นอันตรายต่อผิวพรรณอีกด้วย โดยมีทั้งผลต่อผิวหนังภายนอกที่มองเห็นได้ชัดเจน คือ ริมฝีปากดำ เล็บเหลือง ฟันเป็นคราบ มีกลิ่นปาก และนอกจากผลภายนอกแล้ว ยังมีผลที่นึกไม่ถึงว่าจะเกิดจากบุหรี่ ได้แก่ มะเร็งผิวหนัง ผิวเหี่ยวย่น มีริ้วรอยตีนกาก่อนวัยอันสมควร ผิวหมองคล้ำไม่สดใส

“มีการศึกษาของเมืองนอกหลายผลการศึกษา ที่พิสูจน์ว่าผู้ที่สูบบุหรี่ผิวจะเหี่ยวกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ในวัยที่เท่ากันและได้รับแสงแดดพอๆกัน ถึงขนาดว่าแพทย์ที่ทำวิจัยเรื่องนี้สามารถทายจากรูปได้เลยว่า คนใดสูบบุหรี่ หรือคนใดไม่ได้สูบบุหรี่” ผศ.พญ.สุวิรากร กล่าวและเสริมว่า

การสูบบุหรี่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนที่ผิวหนัง เนื่องจากสารนิโคตินในบุหรี่จะมีฤทธิ์ทำให้เส้นเลือดหดตัว ส่งผลให้ออกซิเจนที่ไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่ดี รวมทั้งผิวหนังด้วย ทำให้ริมฝีปากดำ สีผิวซีดเหลือง หน้าหมองคล้ำ และยังมีฤทธิ์ไปทำลายฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนที่เป็นตัวทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวล นอกจากนี้ ควันบุหรี่ยังเป็นตัวกระตุ้นสารอนุมูลอิสระ ซึ่งมีผลให้เส้นใยต่าง ๆ ในชั้นหนังแท้ เช่น เส้นใยคอลลาเจน อีลาสติน ถูกทำลาย ทำให้ผิวพรรณเหี่ยวย่น ขาดความยืดหยุ่น และยังพบว่าผู้ที่สูบบุหรี่จะมีการหายของแผลช้าลง อัตราการเกิดมะเร็งในช่องปาก ริมฝีปากเพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งนอกจากผลกระทบเหล่านี้จะมีต่อผู้สูบบุหรี่เองแล้ว ควันบุหรี่ยังเป็นอันตรายกับผู้ที่อยู่ใกล้ชิดด้วย แต่ในปริมาณที่น้อยกว่า

“ถ้าเกิดจากผลโดยตรง เช่น ผิวซีด ปากดำ เล็บเหลือง การหยุดสูบจะช่วยให้หายได้ แต่ถ้าผลระยะยาวผิวหนังถูกทำลายไปแล้ว ยาทาภายนอกก็จะไม่ได้ผล อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าผู้ที่สูบบุหรี่จะทำให้ปริมาณวิตามินซีลดลง ดังนั้น ได้รับวิตามินซีเพิ่มขึ้น เพื่อไปช่วยกำจัดอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นจากการสูบบุหรี่

แต่ทางที่ดีควรเลิกสูบบุหรี่ เพราะการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนัง ที่ทำให้เกิดรอยเหี่ยวย่นก่อนวัยอันควร มะเร็งผิวหนัง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วรักษาไม่หาย แต่สามารถป้องกันได้ ถ้าเลิกสูบบุหรี่ หรือไม่สูบเลยตั้งแต่ต้น ซึ่งผู้ที่ต้องการเลิกควรมีความตั้งใจจริงอย่างแน่วแน่” ผศ.พญ.สุวิรากร กล่าวในที่สุด

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-658-4633-4