TCELS เดินหน้าสนับสนุนความพร้อมของนักวิจัยในประเทศ เพื่อรองรับโครงการวิจัยทางคลินิกขนาดใหญ่จากนานาชาติ

14 Nov 2006

กรุงเทพฯ--14 พ.ย.--TCELS

TCELS จัดประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนจากคณะแพทยศาสตร์ 8 สถาบัน ประกอบด้วยคณะเวชศาสตร์เขตร้อน กรมแพทย์ทหารบก กรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลเอกชน และนักวิจัยจากสมาคมผู้ผลิตยาในประเทศ ร่วมกำหนดแนวทางเพื่อพัฒนาตัวยา เวชภัณฑ์ใหม่ของประเทศไทยให้ได้มาตรฐานสากล และปฏิบัติการรวดเร็วขึ้น คนไทยจะได้ใช้ยาใหม่รักษาโรค และพัฒนาอุตสาหกรรมยาในประเทศผลิตยาส่งออกตลาดโลกได้คาดสามารถดำเนินการได้ต้นปี 2550 แน่นอน

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ที่โรงแรมปรินซ์ตัน กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ธงชัย ทวิชาชาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (TCELS) เปิดการประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขประกอบด้วยอธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค คณบดีคณะแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ขอนแก่น เชียงใหม่ สงขลานครินทร์วิโรฒ และนเรศวร รวมทั้ง คณะเวชศาสตร์เขตร้อน โรงพยาบาลเอกชน กรุงเทพมหานคร และนักวิจัยจากสมาคมผู้ผลิตยาในประเทศ เพื่อเริ่มขบวนการคัดเลือกประธานคณะกรรมการอำนวยการ และจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการร่วมพิจารณาจริยธรรมการวิจัยทางคลินิกของประเทศไทย

“การประชุมครั้งนี้ถือเป็นจุดประสานงานหลักทั้งในการวิจัยทางคลินิกและต่างประเทศที่สนใจจะมาศึกษาในไทย และร่วมกันกำหนดมาตรฐานหลักเกณฑ์การพิจารณาการศึกษาทดลองทางคลินิกตามมาตรฐานสากล คาดว่าจะเริ่มใช้ได้ในต้นปี 2550 นี้ ซึ่งจะทำให้การพัฒนายาและเวชภัณฑ์ใหม่ และอุตสาหกรรมยาของประเทศไทยเจริญก้าวหน้า เป็นที่ยอมรับระดับโลก” นายแพทย์ธงชัย กล่าว

นายแพทย์ธงชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมาในการศึกษาวิจัยทางคลินิก จะเป็นลักษณะต่างคนต่างทำตามมาตรฐานที่คณะแพทยศาสตร์แต่ละสถาบันกำหนด ทำให้เสียเวลามากก่อนที่โครงการจะได้รับการอนุมัติของแต่ละสถาบัน ส่งผลให้ประเทศไทยไม่สามารถเป็นแหล่งสำหรับโครงการวิจัยขนาดใหญ่ ซึ่งการตั้งสำนักงานคณะกรรมการร่วมพิจารณาจริยธรรมการวิจัยทางคลินิกของประเทศไทยแล้วเสร็จ โครงการวิจัยทางคลินิกขนาดใหญ่ที่ต้องทำวิจัยหลายสถาบัน (Multi Center) อาทิ เชียงใหม่ ระยอง สงขลา สามารถขออนุมัติทำวิจัย จากสำนักงานฯ เพียงแห่งเดียว ซึ่งถือเป็นมาตรฐานที่ยอมรับร่วมกัน

ในช่วงบ่ายวันเดียวกันได้มีการคัดเลือกคณะทำงานเพื่อพิจารณารายละเอียดในการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการร่วมพิจารณาจริยธรรมการทำวิจัยทางคลินิกของประเทศไทย ซึ่งที่ประชุมได้เลือก ศ.นพ.เอนก อารีพรรค จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นประธานคณะทำงานสำนักงานฯ โดยมี รศ.โสภิต ธรรมอารี จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเลขาคณะทำงานสำนักงานฯ สำหรับคณะทำงานอีก 5 ท่านประกอบไปด้วย นพ.ปกรณ์ ศิริยง จากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข รศ.นพ.จักรชัย จึงธีรพานิช จากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) ศ.พญ.ธาดา สืบหลินวงศ์ ประธานชมรมจริยธรรมการวิจัยในคนในประเทศไทย รศ.นิมิต มรกต จากคณะแพทยศาสาตร์ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่และ พันตรีประชา ธรรมโชติ คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ คณะทำงานฯ ชุดดังกล่าวมีหน้าที่กำหนดรูปแบบการบริหารองค์กร สรรหาคณะกรรมการอำนวยการของสำนักงานฯ และจัดทำคู่มือมาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOP) ให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน นับจากนี้เป็นต้นไป

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net