2 นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ปี 2549 เน้นย้ำทำวิจัยควรคำนึงถึงความลงตัวทั้งผลประโยชน์ของตนและของชาติ

22 Aug 2006

กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

2 นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ปี 2549 แนะนำนักวิจัยรุ่นหลัง ให้ขยันอดทนพากเพียรทำงานเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จ

บ่งชี้จุดอ่อนของนักวิจัยการอ้างความไม่พร้อมของเครื่องมือไม่มุ่งมั่นทำงานเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง การทำงานของนักวิทยาศาสตร์ต้องคำนึงถึงความลงตัวทั้งผลประโยชน์ของตนและประโยชน์ของชาติ

การจัดงานเลี้ยงแสดงความยินดีให้แก่นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2549 ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพฯ ได้มีการปาฐกถาพิเศษโดยนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นทั้งสองท่าน

นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นทั้ง 2 ท่านได้แก่ ศ.ดร.ปิยะสาร ประเสริฐธรรม เมธีวิจัยอาวุโสสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับตัวเร่งปฏิกิริยาในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และศ.ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้ทำงานวิจัยสาขาการไหลสองสถานะการถ่ายเทความร้อนและมวล

ศ.ดร.ปิยะสาร ประเสริฐธรรม หัวหน้าภาควิชา วิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงานวิจัยตัวเร่งปฏิกิริยา ตัวรองรับของตัวเร่งปฏิกิริยาและใช้เป็นวัสดุสำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ตัวเก็บประจุขนาดนาโนเมตร และค้นพบแนวทางใหม่ในการเลือกใช้วัสดุและพลังงาน ซึ่งจะช่วยให้ชาวโลกสามารถอยู่ได้อย่างเพียงพอในอนาคต การวิจัยนี้ได้มุ่งเน้นใน 2 แนวทาง คือ การศึกษาสาเหตุการเสื่อมของตัวเร่งปฏิกิริยา การป้องกันการเสื่อมของตัวเร่งปฏิกิริยา โดยการเติมโลหะตัวที่สองลงในตัวเร่งปฏิกิริยาและการพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาใหม่ให้ว่องไวกว่าเดิม

ศ.ดร.ปิยะสาร ให้คำแนะนำแก่นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังว่า ในการทำงานวิจัยจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีความขยันและอดทนต่อการทำงาน ที่สำคัญคือต้องมีปณิธานและปรัชญาในการทำงานที่ดี มุ่งมั่นที่จะทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติมากกว่าเพื่อตัวเอง รวมทั้งควรทำงานวิจัยที่สามารถต่อยอดทางอุตสาหกรรมได้ แต่ก็ไม่ทำให้ตัวเองต้องลำบากจนเกินไป โดยการอ้างเรื่องความไม่พร้อมของเครื่องไม้เครื่องมือแล้วไม่ยอมทำงานเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าเครื่องไม้เครื่องมือคือ สมองและความขยันอดทน

“ถามว่าถ้าเราไม่ขยัน ไม่ทำงานให้หนักกว่าคนที่เก่งกว่าเราแล้ว เราจะชนะเขาได้เปล่า อย่างตัวผมเองก็ทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ ทำงานให้มากกว่าคนอื่น เวลาไปบรรยายที่ไหน ผมก็จะพูดเสมอๆ ว่าผมเคยสอบตกมาก่อนนะดังนั้นต้องไม่ห่วงสบายและก็อย่าท้อถอย”

อีกท่านหนึ่ง คือ ศ.ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ ศาสตราจารย์ระดับ 11 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผลงานวิจัย การเพิ่มความสามารถในการถ่ายเทความร้อน เพื่อเพิ่มสมรรถนะในระบบการปรับอากาศและการทำความเย็น

โดยนำศาสตร์ทางการถ่ายเทความร้อนและมวลกลศาสตร์ของไหล และเธอร์โมไดนามิกส์ มาประยุกต์พัฒนาอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อนให้มีสมรรถนะสูงขึ้น โดยเน้นที่การเพิ่มประสิทธิภาพ และลดการให้พลังงานของระบบปรับอากาศและระบบทำความเย็น ซึ่งนำไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบอุปกรณ์ให้มีสมรรถนะสูงขึ้นได้

เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมโดยตรง ศ.ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นอีกท่านก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่า การเป็นนักวิจัยที่ดีจะต้องมีความมุ่งมั่น เชื่อมั่นในวิชาชีพของตัวเอง มีกำลังใจทำงาน และที่สำคัญต้องมีความหวังเห็นปลายทางของการทำงานและเชื่อว่ามันจะต้องได้ผลที่ดี เรามาถูกทางแล้ว และต้องประสบความสำเร็จอย่างแน่นอนแต่ก็ต้องขยันและมีวินัยการทำงานด้วย

“นักวิจัยต้องเลือกงานวิจัยที่เราชอบและอยากทำ อีกทั้งต้องเป็นงานวิจัยที่มีประโยชน์กับประเทศ โดยนำปัจจัยหลายๆ อย่างมาพิจารณาสิ่งที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ ตอบสนองความต้องการของตัวเองและของประเทศไปพร้อมๆกัน”

ทั้งนี้ ผู้ได้รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ปีนี้อีก 5 ท่าน ได้แก่

1. ผศ.ดร.จูงใจ ปั้นประณต ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของผลงานวิจัยด้านตัวเร่งปฏิกิริยาของแข็งที่มีโลหะทรานซิชันเป็นองค์ประกอบหลักเพื่อใช้งานในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ผลงานวิจัย การศึกษาปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อคุณลักษณะและสมบัติในการเร่งปฏิกิริยาของตัวเร่งปฏิกิริยา ประเภทโลหะทรานซิชัน เพื่อการพัฒนาออกแบบและการเลือกใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาทางอุตสาหกรรม

2. รศ.นพ.ชนพ ช่วงโชติ ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาเนื้องอกและมะเร็งเฉพาะชนิดที่เกิดกับระบบประสาท ผลงานวิจัย การศึกษาทางรูปร่างของเนื้องอกโดยเฉพาะเนื้องอกระบบประสาท และการพัฒนาการวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา รวมทั้งการค้นหาอวัยวะต้นกำเนิดของมะเร็งที่แพร่กระจายมายังระบบประสาทส่วนกลาง

3. นพ.วิศิษฏ์ ทองบุญเกิด คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ทำวิจัยด้านโปรตีโอมิกส์ ผลงานวิจัยโครงการค้นหาและพัฒนาเทคนิคทางด้านโปรตีโอมิกส์ขึ้นมาใหม่ นำเทคนิคมาศึกษาโรคไตด้วยความรู้ใหม่ที่ทำให้เข้าใจถึงพยาธิกำเนิดและกลไกการเกิดโรคต่าง ๆ ทำให้ผลการรักษาดีขึ้นภาวะแทรกซ้อนลดลง ระยะเวลาการรักษาสั้นลงและอาจค้นพบตัวบ่งชี้และพยากรณ์โรค

4. ผศ.ดร.อภินภัส รุจิวัตร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าของงานวิจัยด้านการประยุกต์ใช้กระบวนการทางเคมีในระบบสารละลายที่ไม่รุนแรง

ผลงานวิจัยการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคนิคทางเคมีแบบอ่อนในการเตรียมวัสดุอนินทรีย์สามกลุ่ม คือ วัสดุซีโอไลต์จากเถ้าลอยลิกไนต์ วัสดุพิโซอิเล็กทริคและวัสดุไฮบริดอนินรีย์–อินทรีย์ การพัฒนากระบวนการหลอมรวมแบบประยุกต์ประสิทธิภาพสูง ในการเปลี่ยนเถ้าลอยซึ่งเป็นวัสดุพลอยได้ราคาต่ำเป็นซีโอไลต์

5. ผศ.ดร.พวงรัตน์ ไพเราะ อาจารย์สาขาฟิสิกส์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี สุรนารี (มทส.) เจ้าของผลงานวิจัยด้านฟิสิกส์ของรอยต่อที่มีตัวนำยิ่งยวดเป็นส่วนประกอบ ผลงานวิจัยเกี่ยวกับฟิสิกส์ของรอยต่อระหว่างโลหะกับตัวนำยวดยิ่งโดยศึกษาเพิ่มเติมว่า สมบัติทางฟิสิกส์อื่น ๆ ของระบบมีผลต่อกระแสและสเปกตรัมความนำไฟฟ้าของรอยต่ออย่างไร เช่น ชนิดของสมมาตรของช่องว่างพลังงาน

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net