ตัวแทนผู้เลี้ยงกุ้งทั่วประเทศ บุก ก.เกษตร ทวงถามมาตรการตอบโต้ออสเตรเลีย พร้อมเตรียมบอยคอต

22 Mar 2007

กรุงเทพฯ--22 มี.ค.--สมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย

ผู้เลี้ยงกุ้งบุกก.เกษตร ขอนโยบายชัดเจนตอบโต้ออสเตรเลีย หากยืนกรานใช้มาตรการ IRA กีดกันกุ้งไทย ทั้งๆ ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล พร้อมเตรียมบอยคอตสินค้าออสซี่

เมื่อเช้าวันนี้ (22 มีนาคม 2550) ตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง นำโดย ทันตแพทย์สุรพล ประเทืองธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย พร้อมด้วยประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดต่างๆ ทางภาคใต้ และที่ปรึกษาชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจันทบุรี และสมาคมกุ้งตะวันออกไทย ได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธีระ สูตะบุตร เพื่อทวงถามมาตรการตอบโต้ความไม่เป็นธรรมเครือรัฐออสเตรเลีย กรณีจะใช้มาตรการวิเคราะห์ความเสี่ยงจากการนำเข้า หรือมาตรการไออาร์เอ (Import Risk Analysis –IRA) กีดกันกุ้งไทย โดยด่วนที่สุด

นายธีระ เปิดเผยภายหลังจากการพบปะว่า ตนได้พบกับทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทยเมื่อวานนี้ และได้เจรจาในเบื้องต้นถึงมาตรการดังกล่าวด้วยว่า กุ้งไทยเป็นกุ้งที่มีคุณภาพ และได้มาตรฐาน ผ่านการตรวจสอบของกรมประมง จึงได้ฝากว่า อยากให้ออสเตรเลียกับประเทศไทยเป็นคู่ค้าที่ดีต่อกัน ซึ่งท่านทูตก็ยินดีที่จะนำไปเจรจา

ทางด้านทันตแพทย์สุรพล กล่าวว่า หากมาตรการ IRA มีผลบังคับใช้จริง จะส่งผลกระทบที่ชัดเจนต่อเกษตรกรรายย่อย หลายรายขาดทุนจนต้องล้มเลิกอาชีพ และในปีนี้คงมีอีกจำนวนมาก ขณะเดียวกัน อาจทำให้ประเทศคู่ค้าอื่นๆ ของไทยนำไปใช้ด้วย ซึ่งจะกระทบต่ออุตสาหกรรมกุ้งของประเทศ ในฐานะที่อุตสาหกรรมกุ้ง เป็นกลุ่มที่อยู่ได้ด้วยตนเอง ทั้งในแง่ของต้นทุน และเทคโนโลยีการเลี้ยง จึงอยากขอให้ภาครัฐ ทั้งกระทรวงเกษตร และกระทรวงพาณิชย์ ช่วยเจรจาให้ออสเตรเลียเป็นคู่ค้าที่ดีต่อไทย เพราะจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนจากภาครัฐ ทั้งๆ ที่คุณภาพผลผลิตกุ้งไทยก็มีความปลอดภัยได้มาตรฐาน และไม่เคยมีปัญหาการไม่ยอมรับจากประเทศคู่ค้าใดๆ เลย อย่างไรก็ดี หาก 30 วันนับจากนี้ มีการประกาศใช้มาตรการ IRA ทางกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก็จะรณรงค์ให้บอยคอตสินค้าจากออสเตรเลีย

“ทีผ่านมาสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดต่างๆ เมื่อ 27 ก.พ. 50 ได้ทำหนังสือไปยังท่านรมว. เกษตรฯ และ รมว. สาธารณสุข เรียกร้องให้ตรวจหายาตกค้างต้องห้ามในนม ผลิตภัณฑ์นม และอื่นๆที่นำเข้าจากออสเตรเลียอย่างเข้มงวด ให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากลเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคไทย , 6 มี.ค. 50 ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกไปยังท่านอธิบดีกรมประมง ให้พิจารณาใช้มาตรการวิเคราะห์ความเสี่ยงกับสินค้านำเข้าสัตว์น้ำจากออสเตรเลีย เช่น กุ้งล๊อบสเตอร์ ปลา ฯลฯ และ/หรือมาตรการที่เทียบเท่า ตอบโต้เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากไวรัส จีเอวี (GAV) และเอ็มโอวี (MoV) ที่อาจปนเปื้อนเข้ามา เป็นต้น แต่ยังไม่ได้รับความชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องมีมาตรการตอบโต้ออสเตรเลียอย่างเข้มแข็ง เพื่อความเป็นธรรมทางการค้า และความอยู่รอดของอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งไทยและส่วนเกี่ยวข้อง กว่า 1 ล้านคน ที่สำคัญเป็นสินค้าที่ทำรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 8 หมื่นล้านบาท แม้ว่าขณะนี้ยังไม่ประกาศใช้ แต่การส่งออกกุ้งไปออสเตรเลียก็หยุดชะงักไปแล้ว” นายกสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย กล่าว

นอกจากต้องเผชิญกับการกีดกันทางการค้า เช่น เอดี และการเก็บเงินค้ำประกันภาษีเอดีล่วงหน้า หรือซีบอนด์ (Continuous Bond) ของสหรัฐอเมริกา ปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งตัว และไม่มีเสถียรภาพ ประกอบกับการแข่งขันในตลาดโลกทวีความรุนแรงมากขึ้น การที่ออสเตรเลียจะประกาศใช้มาตรการไออาร์เอกับสินค้ากุ้งไทยอย่างไม่เป็นธรรม ด้วยการกล่าวอ้างความเสี่ยง เรื่องไวรัสที่อาจติดเข้าไปกับสินค้ากุ้งไทย โดยไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะพิสูจน์ว่า กุ้งไทยก่อให้เกิดโรคและปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมของออสเตรเลีย ด้วยรัฐบาลไทยเองมีมาตรการที่เข้มแข็งในการควบคุมการระบาดของโรค เป็นที่ยอมรับของทั่วโลก การที่ออสเตรเลียกำลังนำปัญหาภายในประเทศ เรื่องการนำกุ้งไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เช่น การนำกุ้งไปเป็นเหยื่อตกปลา ทำให้ประเทศผู้ส่งออกเดือดร้อน เป็นการผลักภาระรับผิดชอบแทนที่จะแก้ปัญหาภายในประเทศของตัวเอง และเพื่อปกป้องผู้เลี้ยงกุ้งของในรัฐควีนส์แลนด์ ที่มีอยู่ 20-30 รายของออสเตรเลียนั้น เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อประเทศกำลังพัฒนา มีเจตนาสร้างมาตรการเพื่อมากีดกันการค้าอย่างชัดเจน ที่ไม่มีประเทศใดในโลกทำมาก่อน ทั้งขัดต่อหลักการความร่วมมือ FTA ระหว่างไทย–ออสเตรเลีย ที่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทยจำนวนกว่า 300,000 คน ท.พ. สุรพล กล่าวทิ้งท้าย

ท.พ. สุรพล ประเทืองธรรม (Dr. Suraphol Pratuangtum)

นายกสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย (President of Thai Marine Shrimp Farmers Association)

โทร 086- 6865776