ทำไมลูกโป่งสวรรค์จึงลอยได้ และอีกสารพัดคำถามที่เด็ก ๆ สงสัยหาคำตอบได้ในรายการ“พลังคิด”ของ สสวท. สื่อวิทยุ-โทรทัศน์สร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์

09 Jan 2007

กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--สสวท.

ใกล้ถึงวันเด็กแล้ว ช่วงวันเด็กเพื่อน ๆ คงได้เล่นลูกโป่งกันสนุกไปเลย แต่ระวังอย่าปล่อยมือนะ เพราะถ้าปล่อยมือแล้วลูกโป่งสวรรค์จะลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าได้ แล้วเด็ก ๆ สงสัยกันไหมล่ะว่า ทำไมลูกโป่งสวรรค์ถึงลอยได้

อ. ประสงค์ เมธีพินิตกุล ผู้ชำนาญ สาขาวิจัย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) อธิบายว่า “ลูกโป่งที่เราเป่านั้น จะมีแก๊สที่ได้จากการหายใจของเราก็คือแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งแก๊สชนิดนี้มีความหนาแน่นมากกว่าความหนาแน่นของอากาศครับ เมื่อเราปล่อยก็จะทำให้ลูกโป่งดังกล่าวตกลงสู่พื้น ในทางตรงข้ามลูกโป่งสวรรค์จะมีแก๊สไฮโดรเจน หรือแก๊สฮีเลียม ที่มีความหนาแน่นน้อยกว่าอากาศที่บรรจุอยู่จึงทำให้ลูกโป่งสรรค์ลอยได้ แต่น้อง ๆ อย่านำลูกโป่งสวรรค์เข้าใกล้เปลวไฟ หรือแหล่งความร้อนต่าง ๆ นะครับเพราะจะทำให้ลูกโป่งสวรรค์นั้นระเบิดเป็นอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่นด้วย”

“ต้นคิด” เจ้าตัวการ์ตูนสีฟ้าน้ำทะเล สวมหมวกแก๊ปโลโก้ สสวท. ใบเก่ง ทำหน้าที่เป็นตัวแทนความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก ๆ ให้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เป็นพี่เลี้ยงใจดีช่วยทำหน้าที่หาคำตอบให้ ผ่านรายการเด็กที่ชื่อว่า “รายการพลังคิด” ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ทุกเช้าวันอาทิตย์ ความยาว 1 นาที เวลาประมาณแปดโมงเช้า ก่อนละครจักร ๆ วงศ์ ๆ พื้นบ้าน

จุดเด่นของรายการพลังคิด ก็คือ เปิดโอกาสให้น้องๆ รู้จักตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องราวรอบตัว ส่งเสริมให้น้องๆ รู้จักคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ผ่านตัวการ์ตูนดังกล่าว ซึ่งนอกจากจะมีลักษณะของความสนใจใฝ่รู้แล้ว ยังมีความสุภาพอ่อนน้อม เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็กๆ

กว่าที่จะผลิตรายการพลังคิดให้ผ่านออกมาแต่ละตอนได้นั้น ได้ผ่านการตรวจจากนักวิชาการ สสวท.ทุกขั้นตอน แต่ละตอนจะต้องเป็นเรื่องที่โดนใจเด็ก ๆ หรือเป็นเรื่องที่เด็ก ๆ ต่างก็สงสัยกันอยู่ เนื้อหาสาระและภาพประกอบรายการต้องถูกต้อง มีประโยชน์ พร้อมทั้งทิ้งท้ายด้วยการกระตุกต่อมคิดให้เด็กๆ ได้สงสัยและคิดต่อยอดกันเองก่อนจบอีกด้วย

อีกหนึ่งคำถามที่ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่สงสัยกันอยู่มากก็คือ เสียงเครื่องบินอันตรายจริงหรือ อ.วัฒน วัฒนากูล นักวิชาการสาขาวิทยาศาสตร์มัธยมศึกษา สสวท. บอกกับเราว่า “จริงๆ แล้วคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนดให้มีมาตรฐานความดังของเสียงที่ไม่ทำให้สูญเสียการได้ยินรวมถึงผลกระทบต่อสุขภาพกายและจิตใจ โดยเฉลี่ย 24 ชั่วโมงต้องไม่เกิน 70 เดซิเบล ถ้าหากแนวที่เครื่องบินบินผ่านในระดับต่ำมีเสียงดังเกินกว่า 70 เดซิเบลเป็นเวลานานๆ อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อการได้ยินได้ เนื่องจากการวัดระดับความดังของเครื่องบินที่กำลังบินขึ้นบริเวณรันเวย์ จะมีความดังประมาณ 115-120 เดซิเบล ทางสนามบินจึงได้พยายามที่จะแก้ปัญหาด้วยการให้เครื่องบินเชิดหัวขึ้นให้เร็วและคำนึงถึงความปลอดภัยต่อการบินด้วย”

น้อง ๆบางคนอาจสงสัยว่าไส้ดินสอดำที่น้อง ๆ ใช้ทำการบ้านกันนั้นทำมาจากอะไร ก็มีคำตอบให้โดย อ.โอริสา สังข์กลมเกลี้ยง นักวิชาการสาขาวิทยาศาสตร์มัธยมศึกษา สสวท. เล่าว่า “ไส้ดินสอดำที่น้อง ๆ ใช้ทำการบ้านกันนั้นทำมาจากแร่แกรไฟต์ โดยนำแร่แกรไฟต์มาผสมกับดินเหนียวเพื่อให้มีความแข็งต่าง ๆ กัน แร่แกรไฟต์หรือแร่ดินสอดำเป็นแร่ที่เป็นธาตุธรรมชาติ เป็นอัญรูปหนึ่งของคาร์บอนเช่นเดียวกับถ่านหินและเพชร”

แร่แกรไฟต์มีลักษณะทึบแสง วาว อ่อน ลื่นมือ มีสีดำหรือสีเทาคล้ายเหล็ก แร่แกรไฟต์พบเป็นผลึก เป็นแผ่น หรือเป็นเกล็ดอยู่ในสายแร่ หรือเป็นชั้นหรือกระจัดกระจายทั่วไปในหินแปร นอกจากนั้นแร่แกรไฟต์ยังนำความร้อนและกระแสไฟฟ้าได้ด้วย ประโยชน์ของแร่แกรไฟต์นอกจากใช้ทำไส้ดินสอแล้ว ยังใช้ทำเบ้าหลอมโลหะชนิดทนไฟ ใช้ผสมน้ำมัน ทำน้ำมันหล่อลื่น และใช้เป็นขั้วไฟฟ้าในเตาถลุงไฟฟ้า

แล้วทำไมเราถึงสะอึกได้ อ.นภาพันธุ์ เรืองเสถียรทนต์ นักวิชาการสาขาชีววิทยา สสวท. บอกว่า “สะอึก เป็นอาการที่พบได้บ่อย เกิดจากความผิดปกติของระบบหายใจ ส่วนกล้ามเนื้อกะบังลมและกระดูกซี่โครงซึ่งเกิดการหดตัวอย่างรุนแรง ทำให้เกิดการหายใจเข้าอย่างแรง แต่ถูกหยุดชะงักเนื่องจากการปิดของช่องสายเสียง

ทำให้เกิดเสียงดังขึ้น อาการสะอึกอาจเกิดจากการรับประทานอาหารเร็วหรือมากเกินไป การหัวเราะหรือร้องไห้มากๆ หรือแม้แต่เวลาที่เรารู้สึกตื่นเต้น หวาดกลัวมากๆ”

ส่วนวิธีแก้อาการสะอึกนั้นอาจทำได้โดยหายใจเข้าลึกๆ แล้วกลั้นหายใจเอาไว้นานประมาณ 10 วินาที โดยการนับ 1 – 10 แล้วหายใจออก จากนั้นดื่มน้ำตามทันที หรือ หายใจในถุงกระดาษสัก 3-5 นาที แล้วดื่มน้ำตามมากๆ หรืออีกวิธีหนึ่งคืออาจทำให้ผู้ที่มีอาการสะอึกรู้สึกตกใจโดยไม่รู้ตัว

นอกจากนั้น สสวท. ยังได้จัดทำรายการวิทยุพลังคิด เป็นสารคดีสั้นสนุกสดใส ผ่านการพูดคุยซักถามแบบกันเองระหว่าง “ลุงวิทย์ ”ใจดี กับ“เด็กชายต้นคิด” ช่างสงสัย โดยมีกนก รัตน์วงศ์สกุล ให้เสียงเป็นลุงวิทย์ จำนวน 39 ตอน ยาวตอนละ 2 นาที เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม - กันยายน 2550 ออกอากาศทางสถานีวิทยุศึกษา FM 92 MHz ทุกวันพฤหัสบดี ในรายการความรู้สู่ชุมชน ช่วงเวลา 9.00-11.00 น.

และออกอากาศในรายการครูเพื่อครูวิทย์ ทางสถานีวิทยุศึกษา AM 1467 KHz และสถานีเครือข่ายอีก 10 สถานี ทุกวันจันทร์ ช่วงเวลา 13.30-13.45 น. ตั้งแต่เดือนมกราคม – สิงหาคม 2549 ด้วย

หากน้อง ๆ มีคำถามคาใจเกี่ยวกับเรื่องราวรอบตัวที่น่าสนใจแล้วละก็อย่ารีรอ รีบส่งมาถามกันได้ ที่รายการพลังคิด ตู้ปณ. 222 ปณจ.จรเข้บัว กทม.10230 หรือที่ ส่วนประชาสัมพันธ์ สสวท. 924 ถนนสุขุมวิท เขตคลองเตย กทม. 10110 ... แล้วมาพบกับ “ต้นคิด” กันอีกนะครับ

สวัสดีครับ