“กลุ่มไทยยูเนี่ยน” โชว์ศักยภาพอีกครั้ง ฝ่าวิกฤตเงินบาท ตั้ง 5 บริษัทใหม่ ซื้อเรือประมงทูน่า

20 Aug 2007

กรุงเทพฯ--20 ส.ค.--ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์

บริษัท ไทยรวมสินพัฒนาอุตสาหกรรม จำกัด หรือ ทียูเอ็ม ผู้ผลิตและส่งออกปลาทูน่าบรรจุกระป๋อง และอาหารแมวบรรจุกระป๋องรายใหญ่ของไทย ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ทียูเอฟ ได้จัดตั้ง 5 บริษัทใหม่ โดยมีทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 440 ล้านบาท เพื่อเข้าซื้อเรือประมงทูน่าจากกองเรือปานาม่า เป็นการสร้างความแข็งแกร่งและศักยภาพทางการแข่งขันในตลาดโลกให้กับกลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยน

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บมจ. ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ กล่าวว่า “จากการลงทุนของบริษัทไทยรวมสินฯ ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ทำให้ทียูเอฟได้มาซึ่งสินทรัพย์ดังกล่าว การจัดตั้งบริษัทใหม่ 5 บริษัทนี้มีทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 440 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการซื้อเรือประมงน้ำลึกสำหรับใช้จับปลาทูน่าในแถบมหาสมุทรอินเดีย สำหรับเรือที่เข้าซื้อนี้มีทั้งหมด 5 ลำ เป็นเรือจับปลา 4 ลำ และเรือหาปลาอีก 1 ลำ โดยที่เรือจับปลาทั้ง 4 ลำมีปริมาณความจุห้องเย็นอยู่ระหว่าง 700 – 1,100 ตันต่อลำ ซึ่งจะสามารถซัพพลายวัตถุดิบให้กับบริษัทได้ถึง 25,000 ตันต่อปี หรือประมาณ 8% จากปริมาณความต้องการวัตถุดิบของกลุ่มบริษัทฯ ทั้งปี ซึ่งเรือทั้งหมดนี้จะสามารถเริ่มดำเนินการได้ภายในสิ้นเดือนนี้”

นอกจากนี้ นายธีรพงศ์ ยังกล่าวต่อถึง เหตุผลของการเข้าไปลงทุนซื้อเรือในครั้งนี้ว่า “เนื่องจากผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าแช่แข็งและบรรจุกระป๋องเป็นสินค้าสำคัญที่มียอดขายสูงเป็นอับดับหนึ่งของกลุ่มบริษัทฯ และมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทฯ ต้องหาแหล่งวัตถุดิบมารองรับการขยายตัวในอนาคต ปัจจุบันกลุ่มของเราใช้วัตถุดิบปลาทูน่ากว่า 300,000 ตัน/ปี โดยมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 1,200 ตัน/วัน ดังนั้นการที่เราเป็นเจ้าของกองเรือเองจะเป็นประโยชน์ในระยะยาวสำหรับกลุ่มบริษัท เนื่องจากจะทำให้มีวัตถุดิบมารองรับการผลิตของทั้งกลุ่มได้อย่างเพียงพอ และยังเป็นการเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันได้เป็นอย่างดี”

อย่างไรก็ดี นอกจากประโยชน์ในเรื่องของวัตถุดิบที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินกิจการสำหรับฐานการผลิตของบริษัทในประเทศไทยให้มีวัตถุดิบได้อย่างต่อเนื่องแล้ว ยังช่วยรองรับกับกฎแหล่งกำเนิดสินค้า (Rule of Origin) สำหรับการลดภาษีในประเทศสหภาพยุโรป และญี่ปุ่นได้อีกด้วย เนื่องจากสินค้าปลาทูน่าที่ส่งออก

ไปยังสหภาพยุโรปต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงถึง 24% ในปัจจุบัน แต่การที่เรามีกองเรือเองจะช่วยลดความเสียเปรียบทางด้านภาษีลงเหลือ 20.5% เพราะวัตถุดิบที่มาจากประเทศไทยจะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี GSP ขณะเดียวกันสำหรับข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น (JTEPA) ก็มีข้อกำหนดว่า ปลาทูน่ากระป๋องที่นำเข้าญี่ปุ่นจะต้องเป็นวัตถุดิบที่มีแหล่งมาจากกองเรือสัญชาติอาเซียน หรือกองเรือที่เป็นสมาชิกของคณะกรรมาธิการทูน่ามหาสมุทรอินเดีย หรือ ไอโอทีซี (Indian Ocean Tuna Commission: IOTC) ถึงจะได้รับการลดภาษีภายใต้ข้อตกลงทางการค้า และประโยชน์อีกประการหนึ่งของการลงทุนคือ การมีส่วนช่วยสนับสนุนให้มีกองเรือจับปลาน้ำลึกสัญชาติไทยสามารถจับปลาในน่านน้ำมหาสมุทรอินเดีย ปัจจุบันการจับปลาทูน่าในมหาสมุทรแปซิฟิคตะวันตก และมหาสมุทรอินเดียส่วนใหญ่จะเป็นเรือของไต้หวัน ญี่ปุ่น และ สเปน

ทั้งนี้นายธีรพงศ์ ยังได้กล่าวเสริมถึง “สถานการณ์ราคาปลาทูน่าในขณะนี้ว่า ราคาปลามีการปรับขึ้นมามากเป็นประวัติการณ์ในรอบหลายสิบปี การที่ราคาปลาปรับตัวสูงขึ้นนั้น ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้อุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรสูงขึ้น ส่งผลให้ปลาทูน่ามีการกระจายตัวไม่อยู่กันเป็นฝูง และดำน้ำลงไปลึกขึ้น ซึ่งทำให้ยากต่อการจับ แต่สำหรับไทยยูเนี่ยนนั้น เรายังมีความสามารถในการหาวัตถุดิบมารองรับกำลังการผลิตในขณะนี้ได้ โดยยังดำเนินการผลิตอย่างเต็มกำลัง เนื่องจากบริษัทยังสามารถควบคุมต้นทุนได้อย่างเหมาะสม พร้อมกับการควบคุมสินค้าคงคลังอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ปัจจุบันปัญหาเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง กำลังเป็นปัญหาสำหรับผู้ส่งออกอย่างมาก แต่สำหรับบริษัทเองก็ได้มีการติดตามสถานการณ์เรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อปรับตัวและวางมาตรการรองรับให้ทันกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยมีการจัดการและบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ นอกจากนี้บริษัทยังสามารถกระจายความเสี่ยงด้วยความหลากหลายของกลุ่มธุรกิจ เพราะบริษัทมีธุรกิจส่งออกจากในประเทศไทย และธุรกิจที่เข้าไปลงทุนในต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญในเรื่องของการบริหารจัดการต้นทุน เพื่อลดต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเชื่อว่านโยบายหลักเหล่านี้จะสามารถทำให้กลุ่มของเราเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต”

จากผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกของทียูเอฟ บริษัทสามารถทำกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 27% จาก 756.1 ล้านบาทในปี 2549 เป็น 957.9 ล้านบาทในปีนี้ ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติเห็นควรให้จัดสรรกำไรสุทธิเป็นเงินปันผลระหว่างกาล สำหรับผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรกของปี 2550 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 30 มิถุนายน 2550 ในอัตรา 0.55 บาทต่อหุ้น คิดเป็นอัตราร้อยละ 50.46 ของกำไรสุทธิ ซึ่งมีกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 18 กันยายน 2550 แต่อย่างไรก็ดีเงินปันผลจำนวนนี้ ผู้ถือหุ้นจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ของเงินปันผลจำนวน 0.35 บาทต่อหุ้น ซึ่งคิดเป็นเงิน 0.035 บาทต่อหุ้น เนื่องจากเป็นกำไรส่วนที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ขณะที่เงินปันผลอีก 0.20 บาทต่อหุ้นได้รับการยกเว้นภาษี เพราะมาจากกำไรส่วนที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ทั้งนี้ได้กำหนดปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเพื่อสิทธิในการรับเงินปันผล ในวันศุกร์ที่ 7 กันยายน 2550

“สำหรับการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลนี้เป็นไปตามนโยบายหลักของบริษัทในเรื่องของการจ่ายเงินปันผลที่ต้องจ่ายปันผลปีละ 2 ครั้งในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิ ทั้งนี้บริษัทต้องการจะคืนกำไรจากการดำเนินธุรกิจให้แก่ผู้ถือหุ้นทุกคน เพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่” นายธีรพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย

ฝ่ายสื่อสารองค์กร บมจ.ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์

โทร: 02-2980027 ต่อ 675-678

โทรสาร: 02-2980024 ต่อ 679

อีเมล์: [email protected]

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net