“นายกสมาคมฯโรคติดเชื้อในเด็กแห่งโลก” ชี้โรคปอดบวมแชมป์คร่าชีวิตเด็ก 2 ล้านคน หวั่นเป็นมฤตยูร้ายที่ถูกลืม

21 Aug 2007

กรุงเทพฯ--21 ส.ค.--คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์

“นายกสมาคมฯโรคติดเชื้อในเด็กแห่งโลก” ชี้โรคปอดบวมแชมป์คร่าชีวิตเด็ก 2 ล้านคน หวั่นเป็นมฤตยูร้ายที่ถูกลืม ผนึกสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย สร้างเครือข่ายแนวร่วมเฝ้าระวัง

“นายกสมาคมฯโรคติดเชื้อในเด็กแห่งโลก” ชี้โรคปอดบวมแชมป์คร่าชีวิตเด็กทั่วโลกปีละกว่า 2 ล้านคน สูงกว่าโรคเอดส์และมาลาเรีย เผยสาเหตุหลักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส โดยพบมากในทวีปแอฟริกาและเอเชีย เผยยูนิเซฟ และองค์การอนามัยโลกระบุโรคปอดบวมเป็นมฤตยูร้ายที่ถูกลืม แนะให้ทุกประเทศเฝ้าระวังและป้องกัน ผนึกกำลังกับ 2 องค์กรทางการแพทย์ด้านสุขภาพเด็กของไทย “สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย” และ “สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย” ลงนามสร้างเครือข่ายแนวร่วมความร่วมมือในการเฝ้าระวังและป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสในเด็กไทย พร้อมเป็นเจ้าภาพจัด “Pneumococcal Disease Conference (PDC)” ประชุมแพทย์ระดมสมองหาทางสร้างความตระหนัก ระวัง และป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส ขึ้นที่ประเทศไทย ณ โรงแรมแชงกรีล่า กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 17-19 ส.ค.2550 ที่ผ่านมา

โรงแรมแชงกรีลา กรุงเทพฯ, 20 สิงหาคม 2550 : สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และสมาคมกุมารแพทย์โรคติดเชื้อในเด็กแห่งโลก ได้ร่วมกันงานจัดแถลงข่าว “การลงนามสร้างเครือข่ายแนวร่วมความร่วมมือในการเฝ้าระวังและป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสรุนแรง(ไอพีดี)ในเด็กของไทยและทั่วโลก” โดยมี ศ.นพ.รอน ดาแกน นายกสมาคมกุมารแพทย์โรคติดเชื้อในเด็กแห่งโลก (President of World Society for Pediatric Infectious Diseases) ศ.พญ.อุษา ทิสยากร นายกสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และ ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงข่าว

ศ.นพ.รอน ดาแกน นายกสมาคมกุมารแพทย์โรคติดเชื้อในเด็กแห่งโลก เปิดเผยว่า ข้อมูลจากเอกสารขององค์การยูนิเซฟ ปี 2549 ระบุว่า โรคปอดบวมเป็นโรคที่ทำให้เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบเสียชีวิตในปีหนึ่งๆ มีจำนวนมากกว่า 2,000,000 คน/ปี ซึ่งสูงกว่าโรคร้ายอย่างโรคเอดส์ และไข้มาลาเรีย โดยในจำนวนนี้มีจำนวนมากกว่า 400,000 ราย หรือ 1 ใน 5 เสียชีวิตจากภาวะปอดบวมที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส โดยจะพบมากในแถบแอฟริกาและเอเชีย ดังนั้นทุกองค์กรทั่วโลกจึงควรร่วมมือกันเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของเด็กทั่วโลก ที่กำลังอยู่ในวัยย่างเข้าสู่วัยเรียนนี้

โดยเชื้อโรคดังกล่าวจะอยู่ในโพรงจมูกและลำคอของเด็ก และผู้ใหญ่โดยทั่วไป แต่จะพบมากในเด็กเล็กถึง 65% แต่ส่วนมากจะไม่แสดงอาการ เมื่อภูมิคุ้มกันต่ำเชื้อนี้จะรุกเข้าสู่ร่างกายและอวัยวะต่างๆ ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดโรคปวดบวมแล้ว ยังทำให้เกิดกลุ่มอาการป่วยหลายอย่างที่พบบ่อยคือ การติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบนทำให้เกิดหูน้ำหนวก ไซนัสอักเสบ เชื้อตัวนี้อาจรุนแรงลุกลามเข้าไปในปอดทำให้เป็นปอดบวม และเชื้ออาจรุกรานสู่กระแสเลือดและเยื่อหุ้มสมอง ทำให้ติดเชื้อขั้นรุนแรงในกระแสเลือด และสมองทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นกลุ่มโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรงหรือที่เรียกว่า โรคไอพีดี โดยจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อพัฒนาการของเด็กและอาจทำให้เด็กเป็นปัญญาอ่อนหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้

ดังนั้น องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงพยายามจะผลักดันให้ทารกทั่วโลกได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอพีดีกับทุกคน หลังจากทำการหาสาเหตุจนพบว่าเด็กทั่วโลกที่เสียชีวิตจากโรคปอดบวมนั้นส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัสมากที่สุด และเมื่อได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันแล้วโอกาสที่เด็กจะเสียชีวิตจากปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัสจนเสียชีวิตก็จะน้อยลงมาก ซึ่งมีข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันว่า การฉีดวัคซีนไอพีดีที่ฉีดป้องกันเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสในเด็กเล็ก สามารถช่วยป้องกันโรคปอดบวมเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสในเด็กเล็กได้ โดย Lancet วารสารทางการแพทย์ชั้นนำของโลก ฉบับเดือนเมษายน 2550 ได้ตีพิมพ์รายงานวิจัยของทีมแพทย์สหรัฐอเมริกา พบว่า จากการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปีคศ. 1997 – 2004 โดยสำรวจคนไข้ที่เข้ารับการรักษาด้วยโรคปอดบวมจำนวน 10,787,865 คน โดย 443,822 คน เป็นโรคปอดบวมที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส

ผลของการศึกษาพบว่าหลังจากที่สหรัฐอเมริกาได้ประกาศให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส (ไอพีดี) ที่ฉีดให้กับเด็กเล็กอยู่ในโปรแกรมวัคซีนแห่งชาติตั้งแต่ปี คศ. 2000 อัตราการการติดเชื้อของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล อันเนื่องมากจากโรคปอดบวมมีแนวโน้มลด ลงถึง 39% และอัตราการเข้ารับการรักษาจากโรคปอดบวมที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสก็ลดลงจากก่อนหน้านี้มากถึง 65% ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี ที่ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อนิวโมคอคคัสมากที่สุดนอกจากนี้คณะผู้วิจัยยังสำรวจพบว่าตัววัคซีนไอพีดีนี้ นอกจากจะช่วยลดอัตราการติดเชื้อแบคทีเรียซึ่งนำมาสู่การเกิดโรคปอดบวม และยังพบว่าตัววัคซีนยังมีผลทางอ้อมในช่วยลดการแพร่เชื้อนิวโมคอคคัสจากเด็กไปสู่พ่อแม่รวมทั้งผู้สูงอายุในครอบครัวที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนไอพีดี ได้ด้วย

ศ.พญ.อุษา ทิสยากร นายกสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อในเด็กเล็กนั้น ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะประเทศไทย หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลกที่ทุกประเทศต้องร่วมมือกันแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อรุนแรงที่ทำให้เด็กทั่วโลกเจ็บป่วยและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เช่น โรคปวดบวม ซึ่งในเบื้องต้นทุกๆ ฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน จะต้องร่วมมือกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อรุนแรงให้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันมีอัตราการเกิดของประชากรคนไทยอยู่ในระยะถดถอย เหลือเพียงร้อยละ 0.2 ดังนั้น หากเราจะต้องเสียสูญเสียทรัพยากรบุคคลตั้งแต่อายุยังน้อยเพิ่มขึ้นจะทำให้เราเสียโอกาสที่จะได้เยาวชนที่จะเติบโตเพื่อเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในการพัฒนาประเทศต่อไป

สำหรับในส่วนของทางสมาคมกุมารแพทย์ฯ นั้น ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันโรคติดเชื้อดังกล่าวอยู่แล้ว และหลังจากที่สมาคมกุมารแพทย์แห่งโลกและองค์การอนามัยโลก ได้ขอความร่วมมือผ่านทางสมาคมกุมารแพทย์ทั่วโลก รวมทั้งสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เมื่อเดือนมีนาคม 2550 ที่ผ่านมา ให้สร้างความตระหนักและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสในเด็กเล็ก (ไอพีดี) และให้พิจารณานำวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส (วัคซีนไอพีดี) นี้มาใช้ในเด็กเล็กตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ทางสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยได้เผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวเพื่อให้นำไปสู่ทางปฏิบัติที่ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เด็กไทย โดยการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้แพทย์ บุคลากรการแพทย์ และประชาชนชาวไทย ได้ตระหนักถึงอันตรายของโรคและเห็นความสำคัญในการป้องกันโรคติดเชื้อในเด็กเล็ก ในรูปแบบต่างๆ ทั้ง การจัดประชุมวิชาการแพทย์ การสัมมนาสำหรับประชาชน และในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ ทางสมาคมกุมารแพทย์ฯ ยังได้สร้างแนวร่วมความร่วมมือทั้งในระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ภายใต้องค์กร ASAP (Asian Strategic Alliance for Pneumococcal disease prevention) และการลงนามสร้างเครือข่ายแนวร่วมความร่วมมือในการเฝ้าระวังและป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสของทางสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กับสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และสมาคมกุมารแพทย์โรคติดเชื้อในเด็กแห่งโลก

“แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาของบ้านเราก็คือ ที่ผ่านมายังไม่มีการเก็บข้อมูลของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสรุนแรง (ไอพีดี) อย่างจริงจัง ดังนั้น ในเบื้องต้นนี้ประเทศไทยเราควรจะต้องมีการศึกษาและเก็บข้อมูลของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสอย่างถูกต้อง เพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิงสำหรับการเฝ้าระวังและป้องกันต่อไป โดยภาครัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกัน” ศ.พญ.อุษา กล่าว

ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ช่วงนี้เป็นช่วงหน้าฝน อุณหภูมิและความชื้น เป็นช่วงที่เหมาะกับการแพร่ระบาดของเชื้อโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส ฯลฯ ดังนั้นจะเห็นว่าในช่วงหน้าฝนจะมีคนไปหาหมอมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กๆ ร่างกายยังไม่มีภูมิต้านทานแข็งแรงพอที่จะต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ ได้ดังนั้นเราจึงต้องใส่ใจดูแลเป็นพิเศษ โดยหากพิจารณาจากสถิติของประเทศไทยจะพบว่าการเสียชีวิตของเด็กเล็กนั้น อันดับหนึ่งเกิดจากความผิดปกติของอวัยวะที่มีความสำคัญตั้งแต่แรกเกิด รองลงมาคือ โรคอุจจาระร่วง ส่วนโรคปอดบวมก็เป็นปัญหาที่เกิดเพิ่มมากขึ้นในระยะหลัง

รวมถึงโรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัสในขั้นรุนแรงที่เรียกว่า เป็นโรคติดเชื้อไอพีดี (IPD; Invasive Pneumococcal Disease) ก็พบในเด็กไทยเช่นกัน แต่ยังไม่มีรายงานตัวเลขที่ชัดเจน เนื่องจากการเพาะเชื้อในปอดเพื่อตรวจหาเชื้อนั้นยังทำได้ยาก ประกอบกับโรคไอพีดีจะมีอาการเป็นไข้คล้ายกับโรคติดเชื้อทั่วไป คนส่วนใหญ่จึงมักคิดว่าเป็นไข้ธรรมดาและไม่ให้ความสำคัญในการตรวจวินิจฉัยโรค ดังนั้นเมื่อเด็กเล็กต้องเสีย ชีวิตเป็นปอดบวมจากโรคไอพีดีจึงยังไม่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลรายงานสถิติอย่างจริงจัง

ปัจจุบันโรคไอพีดีจะสามารถรักษาด้วยยาปฏิชีวนะร่วมกับวิธีทางการแพทย์อื่นๆได้ แต่ปัญหาในการรักษาที่สำคัญคือ การที่เชื้อดื้อต่อยาปฏิชีวนะ เนื่องจากเชื้อมีการพัฒนาให้ทนต่อยามากขึ้นทำให้การรักษาทำได้ยาก ต้องให้ยาขนาดสูงเป็นเวลานานเสียค่าใช้จ่ายมากในการนอนโรงพยาบาลและเดินทางไปพบแพทย์ ถ้ามารับการรักษาช้าอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาจนถึงขั้นเสียชีวิตหรือพิการได้ หากเด็กได้รับวัคซีนนี้ก็จะช่วยป้องกันให้เด็กปลอดจากโรคนี้ได้

ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ประเทศในแถบยุโรปและอเมริกา เช่น ในประเทศ อังกฤษ ฝรั่งเศส แคนาดา อิตาลี ออสเตรเลีย อเมริกา ฯลฯ ประเทศเหล่านี้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอพีดีให้แก่เด็กแรกเกิดทุกคนเพราะตระหนักรู้ว่าโรคปอดบวมที่เกิดจากเชื้อนิวโมคอคคัสนั้นหากเกิดขึ้นแล้วจะมีอัตราการตายและความพิการสูง อย่างไรก็ตาม โอกาสที่วัคซีนไอพีดีจะเป็นวัคซีนพื้นฐานในประเทศไทยเหมือนกับโรคอื่น เช่น โปลิโอยังเป็นไปได้ยาก เนื่องจากการฉีดวัคซีนโรคไอพีดีในประเทศไทยยังมีข้อจำกัดในเรื่องของราคาที่สูง

“ปัจจุบันบ้านเรามีโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งที่ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอพีดีในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบซึ่งเป็นวัยที่เสี่ยงที่สุดโดยฉีดทั้งหมด 3-4 เข็ม แต่ถ้าเด็กอายุ 2-5 ปีจะฉีดเพียง 1 เข็ม การฉีดวัคซีนไอพีดีให้แก่เด็กเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อที่นำไปสู่การเสียชีวิตและพิการทางสมองได้ แต่เวลานี้เนื่องจากราคาค่อนข้างสูงดังที่กล่าวมา อย่างไรก็ตามสำหรับคนที่มีฐานะการเงินในระดับหนึ่ง ค่าใช้จ่ายจำนวนนี้อาจจะไม่มากนักหากต้องแลกกับการที่ลูกหลานไม่ต้องเสี่ยงกับการเกิดภาวะแทรก ซ้อนที่ตามมา ก็ยังถือว่าคุ้มค่า แต่สำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยโอกาสการเข้าถึงบริการฉีดวัคซีนตัวนี้ยังน้อยมาก" ศ.นพ.สมศักดิ์กล่าว

ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากการพัฒนาการของเชื้อโรคร้ายต่างๆ ในปัจจุบันมีความซับซ้อนและรุนแรงกว่าในอดีต ดังนั้น การรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายของโรค วิธีการป้องกัน การเฝ้าระวังการเกิดโรค จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการช่วยให้พ่อแม่มีการตื่นตัวมากขึ้น ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วย ยิ่งในปัจจุบันที่มีข้อมูลทางการแพทย์ใหม่ๆ แพทย์จำเป็นต้องให้ข้อมูลทั้งหมดแก่ผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยตัดสินใจเลือกเอง อย่าตัดสินใจแทนผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ตัวผู้ป่วยก็ต้องกระตือรือร้นหาความรู้เองด้วย เพื่อจะได้ก้าวทันโรคและวิทยาการแพทย์ใหม่ๆ และป้องกันก่อนสายเกินแก้ และการรักษาความสะอาดการมีสุขภาพดีและแข็งแรง ก็จะช่วยลดอุบัติการณ์การเกิดโรคได้

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

คุณบุษบา สุขบัติ (บุษ)

คุณวราภรณ์ จันทร์เพ็ง (ติ๊ก)

คุณมยุรี แสงมณี (หนึ่ง)

โทร.0-2-718-3800-5 ต่อ 133, 135 และ137 หรือ 081-483-7336

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net