สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท ม.มหิดล เปิดตัวหลักสูตรอินเดียศึกษา ระดับปริญญาโท หลักสูตรแรกของประเทศไทย

13 Nov 2007

กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--มหาวิทยาลัยมหิดล

ประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับประเทศอินเดียโดยผ่านการค้าและศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ท่านพุทธทาสกล่าวว่า “…สายเลือดที่มันเป็นอินเดียที่เขาฝังมาให้โดยชาวอินเดียครั้งกระโน้นเอาออกได้เมื่อไร มันก็สืบต่อกันมาจนบัดนี้ มันก็ต้องรับรู้ว่าเรามันสร้างชีวิต สายเลือดสายเนื้อขึ้นมาจากสองศาสนา ทั้งศาสนาฮินดูทั้งศาสนาพุทธ …มีศาสนาฮินดูเป็นแม่ มีศาสนาพุทธเป็นพ่ออยู่โดยไม่รู้สึกตัว” (พุทธทาสภิกขุ พระคุณที่อินเดียมีต่อไทย, ๒๕๓๓: ๑๘, ๒๔ )

ประเทศอินเดียเป็นประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับ ๕ ของโลกและมีประชากรมากเป็นอันดับ ๒ ของโลก เป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมเก่าแก่ เป็นแหล่งอารยธรรมของโลก เป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยที่เก่าแก่และเข้มแข็งมาก ในขณะเดียวกันก็เป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ความที่เป็นประเทศใหญ่ อินเดียจึงมีความเป็นที่สุดของโลกมากมาย เช่น มีคนเก่งและฉลาดมากทางด้าน การแพทย์ คณิตศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ไอที อวกาศ นักธุรกิจระหว่างประเทศของอินเดียติดอันดับรวยที่สุดในโลกหลายคนในรอบสิบปีที่ผ่านมา ชาวอินเดียได้รับรางวัลโนเบลหลายคน แชมป์หมากรุกของโลก 2 สมัยในปัจจุบันก็เป็นชาวอินเดีย อินเดียเป็นประเทศที่คนนิยมไปเที่ยวมากที่สุด สังคม วัฒนธรรม ศาสนา และวรรณะอินเดียยังมีความแข็งแกร่งยากที่กระแสโลกาภิวัตน์จะเข้าไปทะลวงทำลายได้ ดังนั้นเราจะเห็นเอกลักษณ์ของความเป็น “อินเดีย” อยู่ทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย คนอินเดียค้าขายเก่งแต่ไม่ถนัดบริการ เป็นต้น (http://gotoknow.org/blog/poldejw/136409จ. 08 ต.ค. 2550)

อินเดียเป็นประเทศหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงวิถีการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง มีความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง อินเดียเป็นประเทศมหาอำนาจของเอเชียใต้ที่มีอัตราการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์ในประเทศ (GDP) สูงถึง ๘% และเป็นประเทศที่สำคัญประเทศหนึ่งของเอเชีย นอกเหนือจากจีน และญี่ปุ่น อินเดียมีนโยบาย “มองตะวันออก” (Look East policy) ในขณะที่ประเทศไทยมีนโยบาย “มองตะวันตก” (Look West policy) ซึ่งเป็นนโยบายที่มีความสอดคล้องกัน อินเดียเป็นประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่มีกำลังซื้อในระดับกลางและระดับสูงราว ๓๐๐ ล้านคน และในขณะนี้ ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและประเทศอินเดียครบรอบ ๖๐ ปีในปีพ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่อยู่ในระดับที่ดีมาก ดังนั้น ประเทศไทยควรส่งเสริมการศึกษา ค้นคว้า วิจัยเกี่ยวกับประเทศอินเดียในมิติต่างๆ ให้มากขึ้นเพื่อประโยชน์ในการสร้างความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นต่อไป

รองศาสตราจารย์โสภนา ศรีจำปา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “สถาบันฯ ได้ตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของประเทศมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูง แต่ยังมีผู้ให้ความสนใจศึกษาค้นคว้าวิจัยน้อย เรารู้จักอินเดียเพียงผิวเผินและไม่กี่เรื่อง เมื่อไม่รู้จักดีก็ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน ทั้งๆ ที่เรามีพื้นฐานทางศาสนาและวัฒนธรรมมาจากอินเดีย แต่เรากลับไม่รู้จักรากเหง้าของเรา หากประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่เล็กมากเมื่อเทียบกับอินเดียละเลย ไม่สนใจ ไม่รู้เขา สุดท้ายเราก็จะเสียประโยชน์ เสียโอกาส เสียคู่ค้า เสียกัลยาณมิตรไป ดังนั้น สถาบันฯ จึงได้ปรับปรุงหลักสูตรศิลปศาตรมหาบัณฑิต สาขาวัฒนธรรมศึกษาและการพัฒนาโดยเปิดวิชาเอก “อินเดียศึกษา” เพิ่มขึ้นในปีการศึกษา ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทย เป็นการบูรณาการระหว่างมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาล มหาวิทยาลัยและแผนยุทธศาสตร์ของสถาบันฯ ด้วยการสร้างนักวิชาการที่มีความรู้ ความเข้าใจและสามารถสร้างงานวิจัยที่จะเป็นองค์ความรู้ทั้งในด้านกว้างและลึกเกี่ยวกับอินเดียในมิติต่างๆ ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยและอินเดียที่เพิ่มขึ้นจาก ๒๐ ล้านเป็น ๔ พันล้านเหรียญ ในปี ๒๐๐๗ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ๓๐๐% ของทั้งสองประเทศ ดังนั้น ตลาดแรงงานไทยยังมีความต้องการผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านอินเดียที่สามารถทำงานทั้งในหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายหรือวางแผนการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดประสิทธิผลตามที่ตั้งไว้ นอกจากนี้ การศึกษาอินเดียจะทำให้เราเข้าใจสังคมไทยมากขึ้น หรือในทางกลับกันการศึกษาสังคมไทยจะทำให้เราเข้าใจความเชื่อมโยงกับอินเดียและประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งได้รับอิทธิพลจากประเทศอินเดียเช่นกัน” ดังที่ท่านพุทธทาสได้กล่าวไว้ข้างต้นด้วย

ขณะนี้ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล กำลังเปิดรับสมัครรอบแรก ตุลาคม - พฤศจิกายน ๒๕๕๐ รอบสอง กุมภาพันธ์ - มีนาคม ๒๕๕๑ สนใจโปรดดูรายละเอียดที่ www.lc.mahidol.ac.th โทร. ๐-๒๘๐๐-๒๓๒๓, ๐-๒๘๐๐-๒๓๐๘-๑๔ ต่อ ๓๓๐๘