“โบ๊ท-ภัทรวิน” ทายาทอู่ต่อเรือคนไทยมาตรฐานโลก ปลาบปลื้มใจได้ทำงานถวายในหลวง

03 Sep 2007

กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--เจเอสแอล

ด้วยความมุ่งมั่นทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพและกล้ารับโอกาสใหม่ๆ ทำให้ โบ๊ท - ภัทรวิน จงวิศาล ชายหนุ่มวัยเพียง 25 ที่มีดีกรีวิศวกรรมต่อเรือ สามารถช่วยงานพ่อผู้เป็นเจ้าของอู่ต่อเรือมาร์ซัน” จนกลายเป็นอู่ต่อเรือที่มีมาตรฐานระดับโลกได้สำเร็จ แต่นั่นไม่ใช่ความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตของชายหนุ่ม การได้ทำงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุลคบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ในการต่อเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิม พระเกียรติ ต.992 และ ต.993 ต่างหาก คือสิ่งที่เขาภาคภูมิใจจนน้ำตาคลอหน่วยตลอดเวลาที่ได้เล่าเรื่องนี้

“โครงการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ มี 3 ลำ คือ ต.991 ต.992 และ ต.993 ต.991 นั้นเราจัดส่งวัสดุอุปกรณ์ให้กองทัพเรือเป็นผู้ต่อเอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงทำพิธีปล่อยลงน้ำเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา ส่วนเรือ ต. 992 และ ต.993 กองทัพเรือมอบความ ไว้วางใจให้มาร์ซันเป็นผู้จัดสร้าง เราไม่ได้ภาคภูมิใจเพียงแค่ว่า บริษัทเราได้มาตรฐานสากลและผ่านการประเมินจากกองทัพเรือที่ให้ทำโครงการพิเศษนี้เท่านั้น แต่เป็นความตั้งใจสูงสุดของพนักงานทุกคนจนถึงคณะผู้บริหาร ที่เรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งภาคภูมิใจสูงสุดในการได้ทำงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท ว่าเราได้ทำงานถวายในหลวง ยิ่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้ ในงานทำบุญประจำปีบริษัท ท่าน ว.วชิรเมธี มาเทศน์ ท่านพูดให้เรารู้สึกได้ว่า เราต้องทำงานนี้ให้ดีที่สุด เพราะคนที่รอรับงานจากเราคือพ่อของแผ่นดิน ท่านเปรียบเทียบว่าช่างปั้นบางคนตัดมือทิ้งหลังจากปั้นงานเสร็จเพราะไม่มีทางปั้นได้สวยงามอย่างเดิม จึงเป็นสิ่งที่เราต้องทุ่มเททุกอย่างทำออกมาให้สมบูรณ์ที่สุด เป็นความตั้งใจของทั้งกองทัพเรือ มาร์ซัน และผู้เกี่ยวข้องทุกส่วน ที่หากแม้งานนี้จะทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงพระเกษมสำราญหรือแย้มพระสรวลอีกสักครั้งหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นบุญเป็นสิริมงคลอย่างหาที่สุดมิได้” โบ๊ท-ภัทรวิน จงวิศาล กรรมการบริหารบริษัท มาร์ซัน เล่าด้วยความรู้สึกสุดตื้นตัน

“ด้วยความที่เรามีผลงานในด้านการต่อเรือทั้ง เรือตรวจการณ์ปืน เรือลาดตระเวน เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงทำให้เราผ่านการประเมินศักยภาพและขีดความสามารถของกองทัพเรือ เรือชุดนี้ถ้าเราซื้อจากต่างประเทศจะสูงถึง 1,500 ล้าน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมี พระกระแสรับสั่งว่า ‘เรือรบขนาดใหญ่มีราคาแพง มีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานสูง กองทัพเรือควรจัดหาเรือที่มีขนาดเหมาะสมและสร้างได้เอง’ นี่คือเศรษฐกิจพอเพียงที่ท่านได้พระราชทานไว้ การต่อเรือในประเทศเป็นการเรียนรู้พึ่งพาตนเอง เกิดการพัฒนาคนไทยของเราเองด้วย”

เมื่อถามถึงเรื่องราวส่วนตัว โบ๊ท – ภัทรวิน เล่าว่า “ตอนเด็กๆ ผมรียนไม่ค่อยเก่งเลยครับ วิชาที่เก่งที่สุดคือพละศึกษา จุดเปลี่ยนอยู่ตอน ป.4 คุณครูประจำชั้นบอกว่า ถ้าใครสอบได้ที่ 1-5 จะได้กล่อง ดินสอเป็นของขวัญ ถึงแม้จะไม่ได้สวยมาก แต่ผมรู้สึกท้าทายดีเลยอยากได้ จึงพยายามอ่านหนังสือทำจนได้ ที่ 4 ของชั้น จากที่ไม่เคยอยู่ในประวัติเรียนดีของชั้นเลย จากนั้นก็เรียนดีขึ้นเรื่อยๆ จนได้ที่ 1 ได้ต่อเตรียมอุดม แล้วเข้าวิศวกรรมต่อเรือที่จุฬาลงกรณ์ฯได้ ตอนนั้นผมรู้สึกว่า ถ้าเรามีเป้าหมายที่เป็นสิ่งที่ดีกว่าและเราเลือกที่จะทำได้ ทำไมเราจะไม่ทำ คุณพ่อผมจะเป็นคนที่ไม่ตามใจลูก ผมโดนตีตลอด ท่านคอยชี้แนะประคับประคองแต่ไม่เคยอุ้ม เวลาสอนเรื่องอะไรจะสอนครั้งเดียว เน้นให้คิดไตร่ตรองเอง แต่คุณพ่อจะมีเวลาสอนผมเต็มที่ ทุกเช้าที่ขับรถจากบ้านสมุทรปราการ มาส่งผมขึ้นรถเมล์ไปโรงเรียนเอง หลังเรียนจบตอนเข้ามาทำงานใหม่ๆ ผมตั้งใจทำเต็มศักยภาพของตนเอง เพื่อให้คนในองค์กรยอมรับ ไม่ใช่รับเพราะเราเป็นทายาทเจ้าของธุรกิจ ผมจึงทุ่มเทสุดตัวจนเขายอมรับ คุณพ่อเองจะคอยสอนด้วยการพาไปพบลูกค้า ดูงาน ต่างประเทศ แต่พาไปครั้งเดียวจากนั้นให้ทำเอง พ่อบอกว่า เรื่องง่ายๆแบบนี้ทำไม่ได้ให้ไปเลี้ยงควายซะ”

ลูกชายคนโตของ สัญชัย จงวิศาล ก็ไม่ทำให้พ่อผิดหวัง เขานำทีมบริษัทเข้าไปประมูลในระดับโลกได้ ล่าสุดได้ต่อเรือให้ประเทศปากีสถาน ทำให้ชื่อเสียงของประเทศไทยได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่ามีอู่ต่อเรือที่ได้มาตรฐานโลก

นอกจากนั้น “สุริวิภา” ยังนำเด็กตัวน้อยๆ ชมเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ ต.992 และ ต.993 ด้วย ซึ่ง กองทัพเรือ จัดสร้างขึ้นในนามพสกนิกรชาวไทย เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ซึ่งจะเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงประกอบพิธีปล่อยเรือ ต.992 และ ต.993 ในวันที่ 6 กันยายนนี้ร่วมเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจ กับ “สุริวิภา” พุธที่ 5 กันยายน เวลาสี่ทุ่ม ทางโมเดิร์นไนท์ทีวี

ฝ่ายประชาสัมพันธ์

ต้องการข้อมูลเพิ่มติดต่อ วิรดา อนุเทียนชัย (วิ) 08 – 1804 - 5493

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net