เตรียมรับมือกับ...ค่าเงินหยวน...อาจยั้งไม่อยู่ในปีนี้

26 Feb 2008

กรุงเทพฯ--26 ก.พ.--ธนาคารกรุงเทพ

ในปีนี้ นอกจากจีนจะมีความเสี่ยงต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งธนาคารกลางจีนคาดว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 10.0 ลดลงจากร้อยละ 11.4 ในปีที่แล้ว เป็นผลจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในช่วงขาลง และที่สำคัญ จีนต้องเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้ออย่างหนักตลอดทั้งปี ซึ่งจะเป็นแรงกดดันให้ทางการจีนต้องดำเนินนโยบายการเงินอย่างเข้มงวดมากขึ้นโดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าเงินหยวนเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

อัตราเงินเฟ้อได้ทะยานสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่แล้วเป็นต้นมา โดยปีที่แล้วสูงถึงร้อยละ 4.8 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 11 ปี และสูงกว่าเป้าหมายของทางการที่กำหนดไว้ร้อยละ 3.0

ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีนได้เข้าพยุงค่าเงินและทำให้ต้องขาดทุนจากการแทรกแซงสูงถึง 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน โดยในช่วงหนึ่งสัปดาห์หลังตรุษจีน ธนาคารกลางจีนได้ออกพันธบัตรมูลค่า 195 พันล้านหยวน (หรือ 27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ดูดซับสภาพคล่องในระบบเพื่อควบคุมปริมาณเงิน และได้มีการดำเนินมาตรการควบคุมราคาอาหาร แต่อัตราเงินเฟ้อยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องร้อยละ 7.1 ในเดือนมกราคม โดยธนาคารกลางจีน ประมาณการว่า เงินเฟ้อจะพุ่งสูงอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งแรกของปี ในอัตราร้อยละ 5-7 มีสาเหตุจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาอาหาร ค่าจ้างแรงงานท้องถิ่น และต้นทุนทรัพยากร รวมทั้งความต้องการใช้พลังงานของจีนพุ่งสูงขึ้น จากการประสบกับภาวะหิมะตกหนักสุดในรอบ 50 ปี และปรับตัวลงในครึ่งปีหลัง ร้อยละ 3-4 ทำให้เงินเฟ้อตลอดทั้งปีจะยังคงอยู่ในระดับสูงเช่นเดียวกับปีที่แล้ว

ความร้อนแรงของเงินเฟ้อจะกดดันให้ทางการจีนต้องดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างเข้มงวดมากขึ้น ใน 2 แนวทาง คือ

(1) การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นช่องทางที่สามารถดำเนินการได้ทันที เนื่องจากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงมีค่าติดลบ โดยที่ผ่านมารัฐบาลปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว 6 ครั้ง แต่กลับไม่เป็นผลเท่าใดนัก

อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์ที่อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ อยู่ในช่วงขาลง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการไหลทะลักของเงินทุนต่างประเทศ เพราะจะส่งผลให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นและยุโรปมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงเช่นเดียวกับสหรัฐฯ จากผลกระทบของปัญหาซับไพร์ม ดังนั้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเป็นการเพิ่มแรงดึงดูดให้เงินทุนไหลเข้าจีนมากขึ้น ส่งผลให้สภาพคล่องส่วนเกินเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจส่งผลต่อการลงทุนภายในประเทศ และอาจส่งผลต่อเนื่องให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงกว่าที่คาด ซึ่งหากเศรษฐกิจจีนขยายตัวลงเหลือร้อยละ 8-9 หรือต่ำกว่า จะก่อให้เกิดปัญหาใหม่ และเป็นปัญหาใหญ่ตามมา คือ ปัญหาการว่างงาน ทั้งนี้แม้ที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวในระดับที่สูงมาเป็นเวลานาน แต่ก็ยังไม่สามารถรองรับแรงงานที่มีอยู่เป็นจำนวนมากได้อย่างเพียงพอ

(2) การปรับขึ้นค่าเงินหยวน เป็นแนวทางที่อาจมีความจำเป็นต้องนำมาใช้ เนื่องจากสามารถลดภาระต้นทุนการนำเข้าเชื้อเพลิงและสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ อีกทั้งยังสามารถลดการไหลทะลักของเงินทุนต่างประเทศที่เข้ามาเก็งกำไรในตลาดหุ้นของจีนได้อีกด้วย

ปัจจุบัน ค่าเงินหยวนยังคงมีระดับที่อ่อนค่ากว่าที่ควรจะเป็น แม้ว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะอ่อนค่าลงก็ตาม เห็นได้จากจีนยังคงเกินดุลการค้าอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก โดยในปี 2550 เกินดุล 262.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มจาก 177.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2549 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจีนควบคุมค่าเงินไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไป ทำให้การส่งออกของจีนขยายตัวในอัตราสูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปลายปีที่แล้วจีนมีทุนสำรองในรูปเงินตราต่างประเทศสูงถึง 1,528.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และกลายเป็นประเทศที่มีทุนสำรองสูงที่สุดในโลก

ในภาวะความกัดดันด้านเงินเฟ้อ อาจทำให้ทางการจีนดำเนินนโยบายการคลัง เช่น การปรับลดภาษี เป็นต้น เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชน แต่จากภาวะการราคาน้ำมันแพง ดอกเบี้ยสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลง และเงินทุนไหลเข้าเป็นจำนวนมหาศาล จึงเป็นการยากที่จีนจะเลี่ยงการปรับขึ้นค่าเงินหยวน ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยขยายช่วงการเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวนจากร้อยละ 0.5 เทียบกับดอลลาร์สหรัฐต่อวัน (ณ 20 กุมภาพันธ์ 2551 มีค่าเท่ากับ 7.151 หยวน/ดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อมิให้กระทบต่อภาคการส่งออกของจีนมากนัก เนื่องจากการส่งออกมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมีสัดส่วนสูงเกือบร้อยละ 40 ของ GDP ของประเทศ โดยคาดว่าจะขยับแข็งค่าเป็น 6.70 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐในสิ้นปีนี้ และการที่ปัจจุบันค่าเงินหยวนยังอยู่ในระดับอ่อนค่ากว่าที่ควรจะเป็น จึงอาจเกิดมีการเก็งกำไรค่าเงินหยวน ส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาครวมทั้งเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าอยู่แล้ว ปรับแข็งค่ามากขึ้น ทั้งๆ ที่ค่าเงินหยวนกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคมีความเกี่ยวข้องกันน้อยมาก