แพทย์โรคติดเชื้อทั่วประเทศ ร่วมประชุมสัมมนาระดับชาติ เรื่องโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสครั้งแรกในประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์

สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย นำแพทย์โรคติดเชื้อกว่า 200 คนจากทั่วประเทศร่วมผนึกกำลังประชุมสัมมนาระดับชาติ เรื่องโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสครั้งแรกในประเทศไทย มุ่งนำเสนอความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสร่วมกัน และสร้างเครือข่ายหาแนวทางในการลดอุบัติการณ์โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อปกป้องเด็กไทยให้พ้นจากโรคติดเชื้อรุนแรง เผยโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสเป็นปัญหาสุขภาพระดับโลกที่ทุกประเทศให้ความสำคัญและเร่งป้องกัน ย้ำเป็นสาเหตุการเกิดโรคติดเชื้อรุนแรงมากมาย รวมทั้งโรคปอดบวม สาเหตุการตายอันดับหนึ่งของเด็กเล็กทั่วโลกกว่าปีละ 2 ล้านคนทุกปี จากการประชุมสัมมนาระดับชาติ เรื่องโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสในประเทศไทย ครั้งที่ 1 (ครั้งแรกในประเทศไทย) ด้วยความร่วมมือของสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย โดยมี รศ. (พิเศษ) นพ. ทวี โชติพิทยสุนนท์ แพทย์โรคติดเชื้อ สถาบันสุขภาพเด็กมหาราชินี ในฐานะประธานจัดงานประชุมเปิดเผยว่า เชื้อนิวโมคอคคัสเป็นเชื้อแบคทีเรีย สามารถแพร่กระจายได้ง่าย โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาว และก่อให้เกิดโรคติดเชื้อรุนแรงต่างๆ ซึ่งผู้ป่วยอาจจะพิการ หรือเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ รวมทั้งปอดบวมซึ่งเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญอันดับ 1 ของเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบทั่วโลกกว่าปีละ 2 ล้านคน นอกจากนั้นยังพบอีกว่าเชื้อนิวโมคอคคัสมีอัตราการดื้อยาสูง ทำให้แพทย์รักษาได้ยากขึ้น ซึ่งการป้องกันที่ดีคือการให้วัคซีนไอพีดี แต่ปัจจุบันยังมีราคาสูงอยู่ รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมสัมมนาครั้งนี้ นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการรวบรวมปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับเชื้อนิวโมคอคคัสที่มีอยู่กระจัดกระจายในประเทศไทย เพื่อนำมาพิจารณาหาแนวทางที่คุ้มค่า และเหมาะสมในการป้องกันและรักษาด้วยวัคซีนต่อไป ตลอดจนเพื่อใช้ข้อมูลดังกล่าวเป็นหลักฐานในการอ้างอิงในระดับชาติ และนานาชาติต่อไป สำหรับประเทศไทยพบว่าเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ติดเชื้อนิวโมคอคคัสประมาณ 21 คน ต่อเด็กแสนประชากร ศ.พญ.อุษา ทิสยากร กรรมการบริหารสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งโลก และเลขาธิการสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งเอเชีย กล่าวว่า เชื้อนิวโมคอคคัสเป็นเชื้อโรคที่มีมานานแล้ว ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อกลุ่มโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส (ไอพีดี) ประกอบด้วย โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคติดเชื้อในกระแสเลือด ไซนัสอักเสบ หูน้ำหนวก รวมทั้งเป็นสาเหตุสำคัญของปอดบวมรุนแรงในเด็ก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กที่เป็นโรคเอดส์ โรคธาลัสซีเมีย ไม่มีม้ามมาตั้งแต่กำเนิด รวมทั้งผู้สูงอายุด้วย ซึ่งอาจก่อให้เกิดความพิการด้านร่างกาย หรืออาจรุนแรงจนเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในทารก และเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบ นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงค่ารักษาพยาบาลจำนวนมากมายมหาศาลในแต่ละปี ตลอดจนความรู้สึกของผู้ป่วย และญาติ “องค์กรอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ฉีดวัคซีนไอพีดีให้แก่เด็กเล็กทุกคน หากในประเทศนั้นๆ ที่มีอัตราการตายของประชากรสูง หรือหากอัตราการตายไม่สูง แต่มีโอกาสที่เด็กมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสสูง สำหรับในประเทศไทยกรุงเทพมหานครได้เริ่มโครงการฉีดให้เด็กที่เกิดในเขตกรุงเทพ มหานครในวันที่ 5 ธ.ค. 2550 และกำลังเริ่มโครงการที่จะฉีดวัคซีนไอพีดีให้กับเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อไป” ศ.พญ.อุษา กล่าว ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การฉีดวัคซีนไอพีดีให้กับเด็ก นอกจากจะป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัสในเด็กเล็กแล้ว ยังลดการแพร่กระจายเชื้อจากเด็กไปสู่ผู้ใหญ่อีกด้วย หรือเรียกว่า HERD COMMUNITY ซึ่งจากงานวิจัยในอเมริกาชี้ว่า เมื่อฉีดวัคซีนไอพีดีในเด็ก ทำให้อุบัติการณ์การติดเชื้อในเด็กลดลงแล้ว ยังพบว่าอุบัติการณ์การติดเชื้อในผู้ใหญ่ก็ลงลงอย่างชัดเจนด้วย โดยเฉพาะในบ้านที่มีผู้สูงอายุ กับเด็กอยู่ร่วมกัน ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า เชื้อนิวโมคอคคัสนับเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบทั่วโลกกว่า 2 ล้านคนต่อปี ดังนั้น WHO จึงได้ออกแถลงการณ์เมื่อเดือนเมษายน 2550 ที่ผ่านมา โดยได้ประกาศจุดยืนในการให้ความสำคัญต่อการป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งหมายรวมถึงโรคปอดบวม และปอดอักเสบรุนแรง โดย WHO ได้ขอความร่วมมือให้แต่ละประเทศพิจารณาอนุมัติบรรจุวัคซีนดังกล่าวให้เป็นวัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กเล็ก ซึ่งปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนไอพีดีให้เด็กเล็กใน 92 ประเทศทั่วโลก (ตั้งแต่มกราคม 2550) และใน 37 ประเทศได้ระบุให้การฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสอยู่ในแผนสาธารณสุขแห่งชาติ โดยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และ ฮ่องกง ที่บรรจุวัคซีนไอพีดีให้เป็นวัคซีนพื้นฐาน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ บุษบา / พิธิมา โทร. 0-2718-3800 ต่อ 135 / 138

ข่าวสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย+สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยวันนี้

ภาพข่าว: ประชุมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งเอเชีย ปี 2016 ครั้งที่ 8

ประชุมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งเอเชีย ปี 2016 ครั้งที่ 8 : จากซ้ายไปขวา ศ.นพ.ธีรพงษ์ ตัณฑวิเชียร นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ,รศ.พญ.กฤษณา เพ็งสา กรรมการ , ศ. พญ.อุษา ทิสยากร เลขาธิการสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งเอเชีย และ รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงข่าวจัด "การประชุมนานาชาติโรคติดเชื้อในเด็กแห่งเอเชีย ปี 2016" ซึ่งจัดขึ้นวันที่ 7-10 พฤศจิกายน 2559 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อเผยแพร่วิชาการด้านโรคติดเชื้อในเด็ก เช่น ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม

มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน ร่วมกับกรมควบคุมโรค จัดงาน “คุณค่าของวัคซีนเพื่อประชาชน…วัคซีนเสริมรัก สร้างรอยยิ้ม” และการเปิดตัว “แอพพลิเคชั่นสมุดวัคซีนบนมือถือ” ครั้งแรกในประเทศไทย

มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน ร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยการสนับสนุนจากองค์กรแพทย์ต่างๆ อาทิ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์...

ภาพข่าว: กุมารแพทย์โรคติดเชื้อทั่วประเทศ ผนึกกำลังร่วมประชุมสัมมนาระดับชาติ เรื่อง โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส ครั้งแรกในประเทศไทย

รศ. (พิเศษ) นพ. ทวี โชติพิทยสุนนท์ (ซ้ายสุด) เป็นประธานการจัดงานประชุมสัมมนาระดับชาติ เรื่อง โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส ครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย...

การประชุมสัมมนาแพทย์โรคติดเชื้อระดับชาติ เรื่องโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสในประเทศไทย ครั้งแรก

การประชุมสัมมนาแพทย์โรคติดเชื้อระดับชาติ เรื่องโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสในประเทศไทย ครั้งแรก รศ. (พิเศษ) นพ. ทวี โชติพิทยสุนนท์ เป็นประธานการประชุมสัมมนาระดับชาติ เรื่อง “โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสในประเทศไทย ครั้งที่...