จัดเสวนาสื่อมวลชนเรื่อง ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 500 บาท ยุทธวิธีที่อาจล้มละลาย?’

26 Dec 2008

กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--

เสวนาสื่อมวลชนเรื่อง ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 500 บาท ยุทธวิธีที่อาจล้มละลาย?’

วันเสาร์ที่ 27 ธันวาคม 2551 เวลา 10.30 -13.00 น.

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ซ. พหลโยธิน 22 ตรงข้ามเซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าว

ปัจจุบันประเทศไทยก้าวสู่สังคมสูงอายุแล้วจากการมีประชากรสูงอายุมากถึง 7,522,800 คน (ร้อยละ 10.7) ในปี 2550 คน และจะทะยานเป็น14,452,000 คน (ร้อยละ 16.8) ในปี 2568

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรอย่างรวดเร็วเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยประสบปัญหาด้านเวลาในการเตรียมความพร้อมด้านคนและระบบมากมาย ดังนั้นนอกจากการวางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์การตรียมประชากรหนุ่มสาววันนี้ให้เป็นคนสูงวัยที่มีคุณภาพ (Active Ageing) ด้วยวิธีการต่างๆ อย่างการสนับสนุนการออมหรือสร้างระบบบำนาญแห่งชาติแล้ว การปรับเปลี่ยนยุทธวิธีที่ใช้จัดการปัญหาผู้สูงอายุยังจำเป็นเร่งด่วนด้วย โดยเฉพาะ ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’ ที่จ่ายให้แก่ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ หรือถูกทอดทิ้ง หรือขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู หรือไม่สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2536 จวบจนปัจจุบันนี้ ที่ผู้สูงอายุจะได้รับเงินสงเคราะห์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 500 บาท/คน/เดือน นั้นถึงเวลาต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนรอบคอบถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติมากยิ่งขึ้น

นั่นทำให้การกำหนดนโยบายด้านผู้สูงอายุของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่จะจ่ายเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุครบทุกคน คนละ 500 บาท/เดือน หรือปีละ 6,000 บาท นั้น อาจผิดหลักการจ่ายเบี้ยยังชีพ พร้อมกับกระทบการเงินการคลังของรัฐบาลในสภาวะที่เศรษฐกิจทั้งระดับประเทศและภายในประเทศอยู่ในช่วงขาลง และที่สำคัญนับวันผู้สูงอายุที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันถึง 7 ล้านคนจะยังจะทวีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วย

ดังนั้น มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) จึงได้จัดให้มีการเสวนาสื่อมวลชน เรื่อง ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 500 บาท ยุทธวิธีที่อาจล้มละลาย?’ ในวันเสาร์ที่ 27 ธันวาคม 2551 เวลา 10.30-13.00 น. ณ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) เพื่อร่วมกันค้นหาคำตอบว่า 1) เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจำนวนเท่าใดจึงจะเพียงพอ ใช่ตัวเลข 500 บาทจริงหรือ? 2) กองทุนชุมชน และบำนาญชราภาพแห่งชาติยั่งยืนมากกว่าเบี้ยยังชีพหรือไม่? 3) บางแคโมเดลไม่ใช่คำตอบของการดูแลผู้สูงอายุ และ 4) ศูนย์เอนกประสงค์โดยชุมชนคำตอบการดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชน

ผู้ร่วมเสวนา

1. นพ.บรรลุ ศิริพานิช ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)

2. รศ. ศศิพัฒน์ ยอดเพชร คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

3. ผศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.0-2511-5855 ต่อ 116