เครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม คึกคัก! มหาวิทยาลัยดึง“นวัตกรรมเรียนรู้โจทย์จริง” เข้าสู่ “ห้องเรียน”

12 May 2016
นักศึกษาเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม ปี 3 จากมหาวิทยาลัย 11 แห่ง 14 คณะ ย้ำจุดยืนเปิดพื้นที่เรียนรู้ ร่วมจัดแสดงนิทรรศการสื่อสะท้อน 2 โจทย์สังคมใกล้ตัว "ทรัพยากร" และ "การเรียนรู้" ผ่านมา 3 ปี มหาวิทยาลัยเล็งเห็นประโยชน์ดึง" เข้าสู่ห้องเรียนทันที.
เครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม คึกคัก! มหาวิทยาลัยดึง“นวัตกรรมเรียนรู้โจทย์จริง” เข้าสู่ “ห้องเรียน”

สสส. ร่วมกับ มูลนิธิสยามกัมมาจล มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ สภาคณบดีศิลปศาสตร์แห่งประเทศไทย ภาคประชาสังคม และบจ.เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น (จำกัด) จัดเวทีและนิทรรศการนำเสนอผลงานของนักศึกษาด้านศิลปะการออกแบบเพื่อการสื่อสาร เรียนรู้โจทย์จริงของสังคมในเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม (University Network for Change : UNC)ภายใต้โครงการเสริมสร้างพลังเยาวชนสร้างสรรค์สื่อเพื่อสังคมที่น่าอยู่ ปี3 โดยมี ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล ให้เกียรติเป็นประธาน พร้อมด้วยดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ โรงภาพยนตร์ 12 เอสเอฟ ซีเนม่า เมื่อวันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

ภายในงานคับคั่งไปด้วยกรรมการด้านสังคม อาทิ คุณศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร คุณปรีดา คงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไทย ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อดีตอธิการบดี ม.ศรีนครินทรวิโรฒ คุณไพโรจน์ ธีระประภา ศิลปินรางวัล "ศิลปาธร" สาขาเรขศิลป์ ปี 2557 ฯลฯ คณาจารย์ นักศึกษา สื่อมวลชน ผู้เข้าชมงานทั่วไป โดยได้ชมการนำเสนอผลงานและนิทรรศการผลงาน Thai Strong Teens (วัยรุ่นไทยเข้มแข็ง) จากนักศึกษา 11 มหาวิทยาลัย 14 คณะ 19 ผลงาน

นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวว่า "การดำเนินโครงการที่ผ่านมาปีนี้เป็นปีที่ 3ได้พิสูจน์ให้ผู้ร่วมขับเคลื่อนเห็นว่า นักศึกษาได้ประโยชน์จากการเรียนรู้ สถานการณ์ปัญหาสังคม จากการนำประเด็นที่พวกเขาสนใจมาพัฒนาเป็น "สื่อ" เพื่อสื่อสารกับสังคม อีกทั้งการเรียนรู้นี้ได้ส่งผลต่อสำนึกพลเมืองให้เกิดขึ้นภายในของพวกเขาไปพร้อมกัน ผลลัพธ์ที่สำคัญอีกด้านหนึ่ง คือ โครงการนี้ก่อให้เกิด "เครือข่าย" การทำงานของอาจารย์ที่ปรึกษาที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ รวมทั้งการเชื่อมโยงกิจกรรมในโครงการกับการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน เกิดเป็นนวัตกรรมการปรับการเรียนการสอนที่หลากหลาย บางแห่งนำเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในรายวิชา บางแห่งนำไปบรรจุไว้ในหลักสูตรใหม่ อาทิ คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี บรรจุอยู่ในรายวิชาการวิจัยปัญหาสังคมเพื่อการออกแบบ และรายวิชาการออกแบบกราฟฟิคเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ นำมาสอนในรายวิชา เช่น คณะมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร ในรายวิชา Creative Communication ,คณะศิลปกรรม จุฬาฯ ในรายวิชา Graphic Design และคณะนิเทศศาสตร์ ม.อัสสัมชัญ นี่คือตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่เห็นความสำคัญของโครงการนี้"

ผศ.สรรเสริญ มิลินทสูต ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม กล่าวว่า "สำหรับในปีนี้ โครงการได้นำโจทย์ปัญหาสังคมที่สำคัญ 2 ประเด็น เพื่อ "จุดประกาย" ความคิดให้นักศึกษา ได้แก่ ประเด็นปัญหาด้านทรัพยากรน้ำและป่า ซึ่งเป็นวิกฤตสำคัญที่ประเทศกำลังประสบอยู่ และประเด็นการเรียนรู้ในโลกยุคใหม่ ซึ่งจะมีผลต่อการพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ให้พร้อมต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกมาเป็นโจทย์ให้กับนักศึกษา ซึ่งทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้ และได้สะท้อนความรู้สึกนึกคิดของพวกเขาออกมาในรูปแบบผลงาน "สื่อ" ที่หลากหลายและมีเนื้อหา มุมมอง กลยุทธ์ ในการสื่อสารที่น่าสนใจอย่างมาก อาทิ ภาพยนต์สั้น แอนิเมชั่น สิ่งพิมพ์ บอร์ดเกม เป็นต้น ซึ่งในงานวันนี้ทุกท่านจะได้ชมนิทรรศการชื่อThai Storng Teens : วัยรุ่นไทยเข้มแข็ง จากผลงานของนักศึกษา จาก 14 คณะ 11 มหาวิทยาลัย 19 กลุ่ม ที่ได้สะท้อนมุมมองต่อโจทย์สังคมได้อย่างน่าสนใจทีเดียว"

อาจารย์ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในฐานะวิทยากรทรัพยากร "…ตอนนี้ภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่วันนี้ป่าเหลืออยู่เพียง 30% ถ้าป่าส่วนนี้หายไปผมคิดว่าอากาศจะแปรปรวนมากกว่านี้ โครงการนี้เปิดโอกาสให้คน Gen Z ได้มีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องที่ประเด็นที่มีความสำคัญต่อส่วนรวม ผมมีความเห็นว่า คนรุ่นนี้ เขาจะเห็น "คุณค่า"ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากกว่าคนรุ่นเก่า เพราะทรัพยากรมันจะไม่เหลือแล้ว และหากเขาเข้าใจ เขาน่าจะสื่อสารกับคนวัยเดียวกับเขาให้เข้าใจในเรื่องนี้ได้ดีกว่าคนรุ่นผม..."คุณครูวิมลศรี ศุศิลวรณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการจัดการความรู้ โรงเรียนเพลินพัฒนา ในฐานะวิทยากรการเรียนรู้กล่าวว่า "...การศึกษาไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมากว่า 10 ปีแล้ว การหยุดนิ่งอยู่กับที่เท่ากับว่าเราถอยหลัง สิ่งที่น่ากังวลมากคือผลลัพธ์ที่เกิดกับนักศึกษากับสังคม นักศึกษาปัจจุบันที่จบออกมาขาดคุณภาพ ไม่มีทักษะในการทำงาน ที่มากกว่านั้น คือ สังคมไทยจะอยู่อย่างขาดปัญญา ซึ่งสะท้อนออกมาฟ้องเราผ่านปัญหาสังคมต่างๆ การศึกษาจึงต้องเปลี่ยน เพื่อพัฒนาคนรุ่นใหม่จบมาแล้วประกอบอาชีพได้ และเป็นคนที่คิดถึงความยั่งยืนของการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันธรรมชาติอย่างมีความสุข..."

นายแทนกมล เครือรัตน์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สนใจประเด็นทรัพยกรซึ่งผลิตผลงานชื่อน้ำเหลือในป่าใหญ่ สะท้อนปัญหาทรัพยากรน้ำในปัจจุบันที่เกิดภัยแล้งแต่คนในสังคมเมืองยังคงใช้น้ำแบบฟุ่มเฟือยอยู่ โดยมีอาสาสมัครนั่งผ้าขาวม้าไปลองแปรงฟันที่น้ำพุในสวนสนุกเพื่อกระตุกคนเมือง จากการลงพื้นที่ทำให้เขาได้ค้นพบอะไรบางอย่าง "...ผมได้ไปหาข้อมูลลึกๆ ลงไป เกี่ยวกับเรื่องน้ำ ที่บอกว่าประเทศไทยมีน้ำเหลือใช้อย่างเหลือเฟือ แต่จริงๆ แล้วน้ำไม่ได้มีเยอะขนาดนั้น ผมต้องการจะสื่อถึงทุกคนที่ใช้น้ำสิ้นเปลือง "น้ำ" ไม่ได้มีเหลือเฟือเหมือนอย่างที่ทุกคนคิดหรอก คนที่เขายังขาด "น้ำ" ยังมี ผมบังคับให้เขาปิดน้ำทุกครั้งที่เขาล้างหน้าแปรงฟัน หรือซื้อน้ำกินแล้วเหลือบังคับให้เขากินหมดไม่ได้หรอก ผมก็แค่จะบอกว่ามันยังมีคนที่อยากใช้น้ำ ผมบังคับให้คุณใช้น้ำให้คุ้มค่าไม่ได้หรอก แต่ผมก็แค่บอกว่ายังมีคนที่ลำบากกว่าคุณอีก..."

ด้านนายนครา ยะโกะ ตัวแทนคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ปัตตานี) สนใจประเด็นการเรียนรู้ หัวข้อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ในชื่อผลงาน ฆรู ที่สะท้อนสถานการณ์ในปัจจุบันที่การศึกษาไทยใช้เทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แต่การลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลทำให้พบว่าที่แท้จริงแล้วสิ่งที่ช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ดีที่สุดก็คือครูนั่นเอง โดยนำเสนอสื่อในรูปแบบโฟโต้บุ้ค โปสการ์ด บอกเล่าเรื่องราวในพื้นที่ห่างไกลที่โรงเรียนตาลีการูมิแล จ.ปัตตานี ที่เด็กๆ ต้องการคร"โครงการฯ นี้ ทำให้เราต้องลงไปอยู่กับปัญหาจริงๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ทำให้เรารู้สึกว่าเราอยากจะทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ไขปัญหา"

อาจารย์ตฤศ หริตวร คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย "...ผมเข้าร่วมโครงการเป็นปีที่ 3 แล้ว สิ่งที่เด็กได้ คือ ได้ใช้ความรู้ในการออกแบบสื่อของตัวเอง ไปใช้ในการทำสื่อเพื่อสังคมได้ ตัวผมเองก็ภูมิใจที่เราไม่ได้สอนให้เด็กแค่สร้างสื่อเท่านั้น และผมก็เริ่มสนใจปัญหาสังคมหลายๆ อย่าง ในการสอนก็พยายามชี้ให้นักศึกษาได้เห็นคุณค่าของการใช้ความรู้ของเราให้เกิดประโยชน์กับสังคมด้วย และในปีนี้ผมก็เอาโครงการนี้เข้าไปสอนในชั้นเรียนกราฟฟิคดีไซน์ เรียนทั้งห้อง..."

สำหรับผลงานของนักศึกษามีดังนี้ ประเด็นกลุ่ม : ทรัพยากร 1.คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : น้ำกำลังจะตาย 2.คณะศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต กลุ่มโปรดเข้าใจและเห็นใจ : น้ำ 3.คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร : Save The City 4.คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กลุ่ม For Rest's Life เขื่อนแม่วงก์ : For Rest's Life 5.คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาภาพยนตร์และดิจิทัลมีเดีย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง กลุ่ม Surreal : รายการเสือเล่าเช้านี้ 6.คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : น้ำ ป่า สัตว์ คน ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเขื่อนแม่วงก์ 7.คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิจิตรศิลป์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง กลุ่ม Whopper JR. : ผืนป่าห้วยขาแข้ง 8.คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ : ทำไมต้องแม่วงก์ 9.คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กลุ่มน่านไข : Brand Khunan 10.คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กลุ่มเล็กน้ำตก : น้ำเหลือในเมืองใหญ่ ประเด็นกลุ่ม : การเรียนรู้1.คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี : ฆรู 2.คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กลุ่มบรรทัดทอง : Campaign : Art Room / Art Learn / Art เลย 3.คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร กลุ่มอรุณวดี : Mongi Day Challenge 4.คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร กลุ่มปรคนธรรพ : Who am I? ใครคือฉัน ? 5.คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กลุ่มVCD_1 : สร้างสรรค์เฟร่อ 6.คณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ : ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ 7. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมือง นฤมิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม : "มาชิด แทนแชท" เพิ่มความชิดใกล้ให้คนใกล้ชิด 8..คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กลุ่ม VCD_2 : D+Read 9.คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร กลุ่มปัญจสีขร : ลองแชร์ (Long Share)

เครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม คึกคัก! มหาวิทยาลัยดึง“นวัตกรรมเรียนรู้โจทย์จริง” เข้าสู่ “ห้องเรียน” เครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม คึกคัก! มหาวิทยาลัยดึง“นวัตกรรมเรียนรู้โจทย์จริง” เข้าสู่ “ห้องเรียน”