ซีเกท สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย และเอไอที เปิดตัวการแข่งขันสร้างรถไร้คนขับและประหยัดพลังงาน ใน “การแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย 2552”

24 Mar 2009

กรุงเทพฯ--24 มี.ค.--ซีเกท เทคโนโลยี

บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด จับมือสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) เปิดตัวการแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทยครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นการแข่งขันรถไร้คนขับและรถประหยัดพลังงาน การแข่งขันจะเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาไทยได้แสดงทักษะและความสามารถในการพัฒนารถอัจฉริยะไร้คนขับ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย กล่าวว่า จากการจัดการแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทยที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นการสร้างสรรค์และความคิดริเริ่มของนิสิตนักศึกษาไทยในการปรับใช้วัสดุภายในประเทศเพื่อนำมาใช้ในการแข่งขัน

“ความตั้งใจ ความมุ่งมั่นและความสร้างสรรค์ของนิสิตนักศึกษาเหล่านี้มีให้เห็นอย่างเด่นชัดทุกปีที่เราจัดการแข่งขันนี้ขึ้น” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จักรกฤษณ์ กล่าว “การแข่งขันนี้ช่วยสร้างแรงบันดาลใจในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่นิสิตนักศึกษาและสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งในการเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีของประเทศไทยในอนาคต” ซีเกทสนับสนุนให้มีการพัฒนานวัตกรรมภายในประเทศ และการแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญที่จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาดังกล่าว

“ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศซึ่งจัดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว นวัตกรรมในการสร้างรถอัจฉริยะของนิสิตนักศึกษาไทยเป็นที่น่าประทับใจมาก” นายเจฟฟรี่ย์ ดี ไนการ์ด รองประธานและผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัทซีเกท เทคโนโลยี ประเทศไทย จำกัด กล่าว “การแข่งขันช่วยให้นิสิตนักศึกษาเหล่านี้เพิ่มทักษะทางด้านเทคนิคและฝึกการทำงานเป็นทีม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับความสำเร็จในอาชีพทุกอาชีพในระยะยาว “

ซีเกทสนับสนุนการแข่งขันอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่สาม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้านนวัตกรรมและการทำงานเป็นทีมของนิสิตนักศึกษา เนื่องจากพบว่าวิธีที่ดีที่สุดในการฝึกความคิดริเริ่มสร้างสรรค์คือการประดิษฐ์ชิ้นงานจริง การแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะเป็นวิธีที่ดีเยี่ยมในการผสมผสานหลักการแรกทางด้านวิศวกรรมและการฝึกฝนเพื่อนำมาปรับใช้ในการแก้ไขปัญหา ซึ่งไม่มีคำตอบที่ถูกต้อง แต่เขาต้องคิดว่าอะไรเป็นคำตอบที่ถูกต้องที่สุดสำหรับเขา

ในปีนี้ คณะกรรมการตัดสินการแข่งขันจะพิจารณามอบรางวัล “การออกแบบรถเพื่อประหยัดพลังงานยอดเยี่ยม” โดยรางวัลดังกล่าวจะมอบให้แก่ทีมที่สามารถสร้างรถไร้คนขับหรืออุปกรณ์ประเภทใดก็ตามที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยลดภาวะโลกร้อน การแข่งขันเป็นการผสมผสานเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น หุ่นยนต์ เครื่องกลและคอมพิวเตอร์ ท่ามกลางความท้าทายในการเคลื่อนรถไร้คนขับไปในทิศทางที่กำหนด ด้วยความเร็วสูงสุดและให้ได้ระยะทางไกลที่สุดได้ ทีมชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล 300,000 บาท ทีมรองชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล 200,000 บาท นอกจากนี้ ทีมที่ได้รับรางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม รางวัลความคิดสร้างสรรค์และรางวัลออกแบบรถเพื่อประหยัดพลังงานยอดเยี่ยม จะรับรางวัลทีมละ 50,000 บาท ด้วย

การตัดสินการแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย 2552 แบ่งออกเป็น 3 รอบ คือ รอบคัดเลือกจากรายงานการออกแบบ การแข่งขันรอบคัดเลือกและการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ในรอบคัดเลือกจากรายงานการออกแบบ จะพิจารณาจากรายละเอียดในรายงานการออกแบบรถอัจฉริยะ ซึ่งรายงานจะต้องมีรายละเอียดของรถที่ใช้ ประเภทของเครื่องยนต์ ชนิดของเซนเซอร์ ระบบควบคุม เทคนิคการหยุดรถกรณีฉุกเฉิน และกลยุทธ์การแข่งขัน

ในการแข่งขันรอบคัดเลือก ผู้เข้าแข่งขันจะต้องพัฒนารถอัจฉริยะไร้คนขับให้วิ่งไปด้วยความเร็วสูงที่สุดและวิ่งได้ระยะทางไกลที่สุด 8 ทีมที่สามารถทำคะแนนได้ดีที่สุดจะได้รับเงินสนับสนุน ทีมละ 50,000 บาท โดยการแข่งขันรอบคัดเลือกจะมีขึ้นในวันที่ 27 พฤษภาคม ศกนี้

ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ รถจะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางทั้งหมด วางแผนใหม่เพื่อใช้เส้นทางอื่น และหลีกเลี่ยงอุปสรรคต่าง ๆ ทั้งที่อยู่กับที่และเคลื่อนไหวได้ในขณะที่ทำภารกิจที่สลับซับซ้อนและมีหลายขั้นตอนให้สำเร็จลุล่วงไป รถที่วิ่งด้วยความเร็วสูงที่สุดและระยะทางไกลที่สุดจะเป็นผู้ชนะ การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศจะมีขึ้นในวันที่ 29 กรกฎาคม ศกนี้ ณ สนามบางกอก เรซซิ่ง เซอร์กิต (Bangkok Racing Circuit)

“เอไอทีรู้สึกเป็นเกียรติที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทยครั้งที่ 3” รองศาสตราจารย์ ดร. มนูกิจ พานิชกุล ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันและอาจารย์ประจำภาควิชาเมคาโทรนิคส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) กล่าว “สำหรับการแข่งขันในปีนี้จะมีทั้งเทคโนโลยีและความสนุกสนานชวนให้ได้ลุ้นตลอดเวลา เนื่องจากจะเป็นการแข่งความเร็วของรถไร้คนขับเป็นคู่ ทีมที่จะชนะเลิศได้จะต้องทั้งเก่งทั้งเร็ว จากประสบการณ์การพัฒนารถไร้คนขับของหลาย ๆ สถาบันการศึกษาในประเทศไทย ทำให้ปีนี้เราจะมีโอกาสได้เห็นการนำรถจริงขนาดใหญ่มาเป็นแพล็ทฟอร์มของรถอัจฉริยะ ในหลาย ๆ ทีม แนวโน้มนี้เข้าใกล้กับวัตถุประสงค์หลักของการแข่งขันในการนำรถอัจฉริยะไร้คนขับไปใช้งานจริงได้ในอนาคต”

ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมการแข่งขันได้ ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 1 เมษายน ศกนี้ สำหรับคุณสมบัติของทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน สมาชิกในทีมต้องกำลังศึกษาในระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่าในสถาบันการศึกษาในประเทศ มีสมาชิกในทีม 3 คน และมีอาจารย์ที่ปรึกษา 1 คน ผู้สนใจสามารถลงทะเบียน ดูกฎและกติกา ตลอดจนรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.trs.or.th หรือ http://tivc.ait.ac.th

สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย

สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2543 โดยกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจและดำเนินงานเกี่ยวข้องกับ วิศวกรรมหุ่นยนต์ อันประกอบไปด้วย นักวิชาการ นักวิจัย และนักอุตสาหกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและ เผยแพร่ความรู้และความเข้าใจในวิทยาการด้านหุ่นยนต์ จัดกิจกรรมการปฏิบัติงานทางวิชาการ เพื่อพัฒนาความรู้ และเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ เป็นศูนย์กลางทางด้านข่าวสารในวิทยาการ ใหม่ ๆ ของหุ่นยนต์ ทั้งในประเทศและ ต่างประเทศและสร้างเครือข่ายนักวิจัยและวิชาการเพื่อส่งเสริมการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา ในสาขาหุ่นยนต์ และวิศวกรรมอัตโนมัติ ท่านสามารถติดต่อสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยได้ที่ โทร. 0-2889-2138 ต่อ 6446 หรือเว็บไซต์ www.trs.or.th

ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ รศ. ดร. มนูกิจ พานิชกุล ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน โทรศัพท์ 0-2524-5229 Email: [email protected]

หรือ นางสาวขวัญจิต สุดสวัสดิ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด

โทรศัพท์ 0-2715-2919 ,Email: [email protected]

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net