อุตสาหกรรมนมไทย รุกตลาดในประเทศทดแทนส่งออกทรุด

28 Jan 2009

กรุงเทพฯ--28 ม.ค.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์

สถาบันอาหาร เตือนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนมไทยปรับตัว ขยายตลาดผู้บริโภคในประเทศ เพิ่มผลิตภัณฑ์นมเสริมสุขภาพออกสู่ตลาด เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ นมเปรี้ยว นม แคลเซี่ยมสูง และนมยูเอชที ที่มีการขยายตัวสูง และปัจจุบันคนไทยยังมีการบริโภคต่ำ เพื่อทดแทนการส่งออกที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง เหตุต้นทุนการผลิตของไทยสูงกว่าคู่แข่ง ปัญหาการพึ่งพิงวัตถุดิบนำเข้า ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์นมของคู่แข่งรายใหญ่ในตลาดได้

ดร. ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์นม รวมทั้งอาหารที่มีส่วนผสมหรือทำจากนมที่นำเข้าจากจีนได้สร้างความหวาดหวั่นให้แก่ผู้คนทั่วโลก ภายหลังจากเกิดเหตุอื้อฉาวในอุตสาหกรรมนมของจีน เนื่องจากมีการลักลอบใส่สารเมลามีนลงในนมผงสูตรเลี้ยงเด็กทารก และผลิตภัณฑ์นมประเภทอื่นๆ จนทำให้เด็กในจีนเสียชีวิตไปหลายราย และอีกหลายหมื่นคนทั่วประเทศล้มป่วยลงด้วยโรคนิ่วในไต ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมนม และอุตสาหกรรมอาหารที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหากมีการปนเปื้อนสารเมลามีนเกินมาตรฐานที่กำหนด

“ในปี 2550 ประเทศไทยผลิตนมพร้อมดื่มได้ประมาณ 876,000 ตัน แบ่งเป็นนมเพื่อการพาณิชย์ 360,000 ตัน หรือร้อยละ 41 นมโรงเรียน 276,000 ตัน หรือร้อยละ 32 และนมเปรี้ยว 240,000 ตัน หรือร้อยละ 27 ปัจจุบันผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มในประเทศไทยผลิตมาจากน้ำนมดิบภายในประเทศ และจากนมคืนรูป โดยผลผลิตที่ได้จะออกมาในรูปนมสด มีทั้งรสจืดและรสหวาน และในรูปนมปรุงแต่ง ซึ่งมีการเติมกลิ่นและรสต่างๆ ตามความนิยมของผู้บริโภค เช่น รสช็อคโกแล็ต รสกาแฟ และรสสตรอเบอรี่ เป็นต้น สำหรับผลิตภัณฑ์นมที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในโครงการอาหารเสริมโรงเรียน หรือนมโรงเรียน จะต้องผลิตจากน้ำนมดิบที่ผลิตภายในประเทศและเป็นรสจืดเท่านั้น” ดร.ยุทธศักดิ์ กล่าว

การเติบโตของอุตสาหกรรมนมไทยส่งผลทำให้ปริมาณน้ำนมดิบที่ผลิตได้มีไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ ประกอบกับราคาน้ำนมดิบที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการไทยต่างหันมาพึ่งพิงวัตถุดิบนำเข้าในรูปของนมผงขาดมันเนยจากต่างประเทศที่มีราคาถูกกว่าทดแทนมากขึ้น ทั้งนี้ต้นทุนการผลิตนมที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่ผลิตภัณฑ์นมเป็นสินค้าควบคุม ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถขึ้นราคาได้ตามต้นทุนที่แท้จริง จึงต้องลดต้นทุนด้วยการนำเข้านมผงจากจีน ซึ่งคุณภาพอาจไม่ดีเท่านมจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มาทดแทนมากขึ้น ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีมาตรการตรวจสอบอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อ

ผู้บริโภคในระยะสั้นทั้งตลาดภายในและตลาดส่งออก และเป็นปัญหาต่อสุขภาพของประชาชนในระยะยาวได้ ผลิตภัณฑ์นมของไทยไม่ได้มีเฉพาะตลาดภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้อีกด้วย และส่วนใหญ่มีตลาดอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก โดยในปี 2550 ผลิตภัณฑ์นมของไทยมีปริมาณส่งออก 127,000 ตัน มูลค่า 5,300 ล้านบาท แต่ปัจจุบันการส่งออกกลับมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตของไทยสูงกว่าคู่แข่ง รวมทั้งปัญหาการพึ่งพิงวัตถุดิบนำเข้า ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์นมของคู่แข่งโดยเฉพาะรายใหญ่ได้ สำหรับผลิตภัณฑ์นมที่ไทยส่งออก เช่น นมผงขาดมันเนย นมข้นหวาน นมข้นจืด นมเปรี้ยว โยเกิร์ต ไอศกรีม ผลิตภัณฑ์นมและอาหารปรุงแต่งจากนม เป็นต้น”

ผอ.สถาบันอาหาร กล่าวด้วยว่า “จากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ รวมทั้งผู้บริโภคบางส่วนขาดความเชื่อมั่นในการบริโภคผลิตภัณฑ์นมอยู่ในขณะนี้ ผู้ประกอบการในธุรกิจนมของไทยจำเป็นต้องปรับตัวโดยการขยายฐานการตลาดในประเทศให้มากขึ้น และเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ และตอบสนองความต้องการรวมทั้งเสนอทางเลือกอื่นให้กับผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธุรกิจนมจะประสบปัญหาด้านความเชื่อมั่น แต่ก็มีผลิตภัณฑ์นมบางประเภทที่มีการขยายตัวอย่างโดดเด่น เช่น นมเปรี้ยว นมแคลเซี่ยมสูง และนมยูเอชที ซึ่งปัจจุบันคนไทยยังมีการบริโภคค่อนข้างต่ำ”

ดังนั้น การขยายฐานการตลาดด้วยการเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์นมที่เสริมสุขภาพ รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคด้วยการใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ มีกระบวนการผลิตที่ปลอดภัย และที่สำคัญผู้ประกอบการควรตระหนักว่า นมที่ผลิตโดยใช้น้ำนมดิบจะให้คุณค่าทางโภชนาการสูงกว่านมผง หากมีการนำเข้านมผงมาผลิตแทนน้ำนมดิบมากขึ้น โดยไม่มีมาตรการควบคุมการแปรรูปอย่างเข้มงวด แม้ผู้บริโภคจะได้บริโภคสินค้าราคาถูกจากการผลิตที่มีต้นทุนต่ำ แต่คุณค่าทางโภชนาการที่ได้จะไม่สูงเทียบเท่ากรณีของการใช้น้ำนมดิบเป็นวัตถุดิบในการผลิต ทั้งหมดนี้จะเป็นแนวทางในการปรับตัวและเป็นประตูสู่ความสำเร็จของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนมได้

รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ : บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด

โทรศัพท์ 0 2158 9416-8 / สุขกมล งามสม 08 9484 9894

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net