ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ใหม่ “บ. ภัทรลิสซิ่ง” ที่ระดับ “A-/Stable”

26 May 2009

กรุงเทพฯ--26 พ.ค.--ทริสเรทติ้ง

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 300 ล้านบาทของ บริษัท ภัทรลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-” พร้อมทั้งยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัทคงเดิมที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงความสามารถของผู้บริหารในการรักษาสถานะผู้นำตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจให้เช่าดำเนินงานรถยนต์ (Operating Lease) แม้การแข่งขันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นและภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจจะเอื้ออำนวยน้อยลงก็ตาม อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ ระบบการบริหารความเสี่ยงและการบริหารมูลค่าคงเหลือของสินทรัพย์ให้เช่า (Residual Value) ที่ดี รวมทั้งขั้นตอนการพิจารณาสินเชื่อที่เข้มงวด ซึ่งทำให้บริษัทสามารถรักษาคุณภาพสินทรัพย์ในระดับที่ดีเอาไว้ได้ในช่วงการขยายตัวของสินทรัพย์ให้เช่า ในการจัดอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงความต้องการใช้บริการรถเช่าที่เพิ่มขึ้นของบริษัทเอกชนด้วย ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนของภาวะแวดล้อมทางธุรกิจจะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จำกัดความสามารถในการทำกำไรและการขยายธุรกิจของบริษัท

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความสามารถของบริษัทในการรักษาตำแหน่งผู้นำในธุรกิจให้เช่าดำเนินงานรถยนต์และมีผลประกอบการในระยะปานกลางตามคาด โดยบริษัทน่าจะสามารถรักษาฐานลูกค้าสำคัญกลุ่มเดิมไปพร้อมกับการขยายฐานลูกค้าใหม่ ในขณะที่ยังคงรักษาคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีเอาไว้ได้ อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทยังคงได้รับแรงกดดันจากการแข่งขันที่รุนแรงและการขาดทุนที่คาดไม่ถึงอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของภาวะแวดล้อมทางธุรกิจ

ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทภัทรลิสซิ่งสามารถรักษาฐานะผู้นำในตลาดเช่าดำเนินงานรถยนต์เอาไว้ได้ โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดในปี 2550 มากกว่า 20% ของสินทรัพย์ให้เช่ารวมของผู้ประกอบการรายใหญ่ 25 รายในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง บริษัทให้บริการเช่าดำเนินงานและเช่าทางการเงินแก่ลูกค้านิติบุคคลที่เป็นบริษัทขนาดกลางถึงใหญ่ ณ เดือนมีนาคม 2552 บริษัทมีสินทรัพย์จำนวน 5,600 ล้านบาท ซึ่ง 83% เป็นสินทรัพย์ให้เช่า การมีเครือข่ายบริการที่ครอบคลุมทั่วประเทศและการมีฐานเงินทุนที่สูงเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่นช่วยเพิ่มระดับความสามารถของบริษัทในการให้บริการแก่ลูกค้ารายใหญ่ แต่ก็ทำให้บริษัทมีความเสี่ยงสูงจากการกระจุกตัวของลูกค้ารายใหญ่ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงดังกล่าวได้รับการชดเชยจากปริมาณการค้างชำระค่าเช่าของลูกค้าที่อยู่ในระดับต่ำเพราะลูกค้ารายใหญ่ส่วนใหญ่มีฐานะทางการเงินที่น่าเชื่อถือ การมีระบบบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพทำให้บริษัทมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดี โดย ณ เดือนมีนาคม 2552 จำนวนค่าเช่าค้างชำระของบริษัทมีเพียง 2.5 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพียง 0.05% ของสินทรัพย์ให้เช่ารวม

ความเชี่ยวชาญในธุรกิจ รวมทั้งผลงานที่ได้รับการยอมรับ และความมีประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจให้เช่าดำเนินงานช่วยเสริมให้บริษัทสามารถขยายฐานลูกค้าใหม่ โดยยอดสินทรัพย์ให้เช่าใหม่ของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 1,054 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2549 เป็น 1,631 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2550 และ 2,198 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2551 ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2552 บริษัทมียอดสินทรัพย์ให้เช่าใหม่ 863 ล้านบาท ลดลงจากจำนวน 1,166 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2551 สินทรัพย์ให้เช่าเฉลี่ยต่อไตรมาสลดลงจาก 549 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2551 เป็น 432 ล้านบาทต่อไตรมาสในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2552ปัจจุบันสินทรัพย์ให้เช่าของบริษัทมีการกระจายตัวมากขึ้น โดยบริษัทมียอดบัญชีที่ให้บริการแก่ลูกค้ามากกว่า 500 บัญชีทั่วประเทศ บริษัทยังมีความพยายามในการผสานประโยชน์ทางธุรกิจกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) อย่างไรก็ตาม ผลสำเร็จยังไม่ปรากฏชัดเจนในขณะนี้

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บริษัทภัทรลิสซิ่งมีกำไรสุทธิในครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2552 เท่ากับ 105 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจาก 91 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2551 ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของกำไรจากการขายสินทรัพย์ให้เช่า บริษัทขยายสินทรัพย์ด้วยการใช้เงินกู้ยืมเป็นส่วนใหญ่ซึ่งทำให้มีระดับการก่อหนี้สูง ณ ครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2552 (มีนาคม 2552) อัตราส่วนหนี้สินรวมต่อโครงสร้าง

เงินทุนของบริษัทอยู่ในระดับ 2.31 เท่า เพิ่มขึ้นจากระดับ 2.23 เท่า ณ สิ้นปีงบประมาณ 2551 (กันยายน 2550) และระดับ 1.93 เท่า ณ สิ้นปีงบประมาณ 2550 บริษัทพยายามบริหารอายุของหนี้ผ่านการกู้ยืมระยะยาวเพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาของสัญญาเช่าสินทรัพย์ (ส่วนใหญ่อายุ 3-4 ปี) ผู้บริหารของบริษัทได้ลดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องโดยการกู้ยืมระยะยาวจากธนาคารพาณิชย์ในเดือนมีนาคม 2552 จึงมีผลให้สัดส่วนเงินกู้ยืมระยะสั้นต่อหนี้ของบริษัทลดลงมาอยู่ในระดับ 43.4% ณ เดือนมีนาคม 2552 จากระดับ 49.5% ณ เดือนกันยายน 2551 การออกหุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 300 ล้านบาทอายุ 3 ปีในครั้งนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้สินให้มีความสอดคล้องกับโครงสร้างสินทรัพย์ของบริษัททั้งในส่วนของระยะเวลาและอัตราดอกเบี้ย