คาดอุตสาหกรรมไก่ไข่ปี 53 น่าเป็นห่วง ปริมาณการบริโภคไข่ไก่ไม่กระเตื้อง...วอนรัฐใส่ใจ

23 Dec 2009

กรุงเทพฯ--23 ธ.ค.--สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่

นายมาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ เปิดเผยว่าตลอดปี 2552 ที่ผ่านมาสถานการณ์ราคาไข่ไก่ในประเทศไทยยังคงไม่มีเสถียรภาพ แม้ผู้เลี้ยงไก่ไข่จะได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้ด้วยการส่งออกไข่ไก่เพิ่มขึ้น และปลดแม่ไก่ยืนกรงลงเพื่อชะลอปริมาณผลผลิตแล้วก็ตาม สะท้อนให้เห็นว่ายังขาดการสนับสนุนอย่างจริงจังของภาครัฐในการเพิ่มอัตราการบริโภคไข่ไก่ในประเทศ ส่งผลให้อุตสาหกรรมไก่ไข่ของไทยปี 2553 ยังคงน่าเป็นห่วงอย่างต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยลบหลายประการ

ประการแรกคือ สถานการณ์การบริโภคไข่ไก่ภายในประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนไม่กระเตื้องขึ้น แม้จะมีแผนยุทธศาสตร์ไก่ไข่ พ.ศ.2551-2555 ตามมติคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) ที่ตั้งเป้าเพิ่มการบริโภคไข่ไก่ของคนไทยจากเดิม 160 ฟองต่อคนต่อปี ให้เป็น 200 ฟองต่อคนต่อไปภายในปี 2555 แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหลังผ่านไป 1 ปี คืออัตราการบริโภคไข่ไก่ยังคงเท่าเดิม

ประการต่อมาคือ ระดับราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีแนวโน้มสูงกว่าปีที่ผ่านมาค่อนข้างมาก เนื่องจากปริมาณผลผลิตข้าวโพดไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดโลก เพราะถูกนำไปผลิตเป็นพลังงานทดแทน ขณะที่ภาวะโลกร้อนก็ส่งผลกระทบต่อการปลูกข้าวโพดในสหรัฐอเมริกา ประการสุดท้ายคือ สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยในปีหน้ายังไม่ชัดเจนว่ากลับมาดีได้เพียงใด รัฐจะสามารถกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศให้กระเตื้องขึ้นได้เท่ากับช่วงที่เศรษฐกิจดีหรือไม่ ตลอดจนความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการเมือง

ขณะที่เทศกาลปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงกลับยิ่งซ้ำเติมให้อัตราการบริโภคไข่ไก่ลดลงอีก เพราะประชาชนหันไปเฉลิมฉลองด้วยอาหารชนิดอื่นทดแทน

“ประเทศไทยมีผลผลิตไข่ไก่ราว 9,500–10,000 ล้านฟองต่อปี ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับประชากรทั้งประเทศหากภาครัฐดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ไก่ไข่อย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนของโครงการ“ไข่โรงเรียน” ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน ตลอดจนส่งผลต่อเนื่องถึงเกษตรกรและอุตสาหกรรมไข่ไก่ทั้งระบบ” นายมาโนชกล่าวและว่า

ไข่เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ไม่ว่าจะเป็นโปรตีน ไขมัน วิตามินและแร่ธาตุต่างๆ เช่น เหล็ก โฟลิก รวมทั้ง โคลีน ซึ่งเป็นสารเสริมสร้างความจำช่วยในการพัฒนาสมองที่กำลังเติบโต และ วิตามินเอ บี ดี และ อี