กพช.ผ่านแผน PDP 2010 เพื่อหนุนแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี

12 Mar 2010

กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--กพช.

ที่ประชุมกพช.เห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า 20 ปี PDP 2010 ซึ่งจะเป็นแผน Green PDP แผนแรกของประเทศ และลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ พร้อมผ่านร่าง MOU ในการรับซื้อไฟฟ้าโครงการไซยะบุรี สปป.ลาว 1,220 เมกะวัตต์ และเห็นชอบแนวทางกำหนดค่าบริการพิเศษผู้ใช้ไฟโครงการขยายเขตติดตั้งไฟด้วยสายเคเบิลใต้น้ำเชื่อมต่อบนเกาะศรีบอยา เกาะปู และเกาะพีพีดอน จ.กระบี่

นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลัง การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเมื่อวันที่ 12 มี.ค. 53 ว่า ที่ประชุม กพช. เห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2573 (PDP2010) ซึ่งเป็นแผนจัดหาไฟฟ้าในระยะยาว 20 ปี โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์สำคัญคือ การปรับค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าลดลงจากแผน PDP ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน (PDP 2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ และเพิ่มการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี ของกระทรวงพลังงาน

นอกจากนี้ ยังพิจารณาหลักเกณฑ์ที่มุ่งเน้นเสริมสร้างความมั่นคงด้านการผลิตไฟฟ้าโดยคำนึงถึงเรื่องการกระจายเชื้อเพลิงลดการพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติจากร้อยละ 70 ให้เหลือร้อยละ 39 ในอีก 20 ข้างหน้า โดยการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน การจัดหาไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ และถ่านหินสะอาดด้วย

ทั้งนี้ ยังคำนึงถึงการลดการผลิตก๊าซเรือนกระจกจากภาคการผลิตไฟฟ้าลงด้วย พร้อมกับพิจารณาปริมาณผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศไว้ด้วยว่าในระยะ 6-7 ปีแรกของแผนฯ จะต้องสำรองกำลังผลิตไฟฟ้าไว้ที่ระดับร้อยละ 20 หลังจากนั้นจึงปรับอยู่ในระดับร้อยละ 15 โดยในระยะแรกที่ต้องสำรองไว้สูงถึงร้อยละ 20 เพราะจากประสบการณ์การขาดแคลนก๊าซฯ ในช่วงที่ผ่านมาทำให้ส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าทันทีจึงต้องเพิ่มระดับปริมาณสำรองไฟฟ้าในช่วงดังกล่าว

นายแพทย์วรรณรัตน์กล่าวสรุปว่า ตามแผน PDP ฉบับใหม่นี้ภายในปีพ.ศ.2573 ประเทศไทยจะมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 65,547 เมกะวัตต์ ซึ่งสอดคล้องกับการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าที่ลดลงจากแผน PDP ฉบับเดิม

อย่างไรก็ดี ในที่ประชุมฯ ได้มีความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผน PDP 2010 ว่า ควรจะมีการจัดทำแผน PDP สำรองอีกฉบับหนึ่ง โดยพิจารณาจากพื้นฐานกรณีไม่มีการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าโครงการไซยะบุรี ซึ่งเป็นโครงการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจากสปป.ลาวภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและสปป.ลาว โดยบริษัท ช.การช่าง จำกัด(มหาชน)และผู้ร่วมลงทุนรายอื่นจะจัดตั้งบริษัทในสปป.ลาวเพื่อพัฒนาโครงการ

โครงการจะมีกำลังผลิตติดตั้ง 1,280 เมกะวัตต์ โดยขายให้ไทยที่ชายแดน 1,220 เมกะวัตต์ สัญญาซื้อขายไฟ 29 ปี โดยจะมอบหมายให้กฟผ.นำร่างบันทึกความเข้าใจฯ ที่ได้รับความเห็นชอบแล้วไปลงนามร่วมกับผู้ลงทุนต่อไป

ที่ประชุม กพช. ยังเห็นชอบแนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการพิเศษสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าบนเกาะศรีบอยา เกาะปู และเกาะพีพีดอน จ.กระบี่ ซึ่งเป็นโครงการขยายเขตติดตั้งระบบไฟฟ้าด้วยสายเคเบิลใต้น้ำเชื่อมต่อระหว่างเกาะดังกล่าวกับระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)บนชายฝั่งจ.กระบี่

โดยจะเก็บอัตราค่าบริการพิเศษเฉพาะผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟไม่เกินกว่า 400 หน่วยต่อเดือนเท่านั้น เพื่อจ่ายเป็นค่าลงทุนระบบสายเคเบิลใต้น้ำทึ่เกิดขึ้นจริงให้กฟภ. ซึ่งเป็นผู้ลงทุนการเดินสายเคเบิลใต้น้ำมายังเกาะทั้ง 3 เป็นเวลา 10 – 15 ปี จนกว่าจะคืนเงินลงทุนทั้งหมด ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)จะนำแนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการพิเศษดังกล่าวไปจัดทำอัตราค่าบริการพิเศษสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าบนเกาะฯ ที่เหมาะสมตามกระบวนการและขั้นตอน