สถาบันอาหารชี้อุตฯอาหารไทย 6 เดือนแรกปี 53 ส่งออก 4.1 แสนล้านบาท มั่นใจสิ้นปีทะลุ 8.3 แสนล้านบาท...พุ่งเป้าตลาดอาเซียน

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--สถาบันอาหาร

3 องค์กรเศรษฐกิจ เผยภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารไทย 6 เดือนแรกของปี 53 ขยายตัวทั้งภาคการผลิตและส่งออก ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 ส่งออกมีมูลค่า 411,463 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9 เมื่อเทียบกับ 6 เดือนแรกของปีก่อน อาเซียนขยายตัวสูงสุด ร้อยละ67.6 ครองสัดส่วนตลาดส่งออกของไทยร้อยละ 22.5 ทำให้ไทยเกินดุลการค้าอาหารกับอาเซียนมีมูลค่ากว่า36,000 ล้านบาท และเกินดุลการค้ากับทุกประเทศในอาเซียน คาดแนวโน้มครึ่งหลังปี 53 ส่งออกอาจชะลอตัวลงเพราะขาดแคลนวัตถุดิบ ไตรมาส 3 จะมีมูลค่าส่งออก 212,200 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.0 และไตรมาสที่ 4 มีมูลค่า 206,337 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.8 ยังมั่นใจสิ้นปี 53 มูลค่าส่งออกจะทะลุ 8.3 แสนล้านบาท ขยายตัวได้ร้อยละ 10.0 แม้จะต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นตัว ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นเพราะอากาศแปรปรวน ทั้งต้นทุนค่าขนส่งทางเรือที่เพิ่มสูงขึ้น และอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทกับดอลล่าร์สหรัฐฯแข็งค่า ชี้ต้องเจาะตลาดจีน อินเดีย และอาเซียน เป็นหลัก เพราะเศรษฐกิจขยายตัวสูง ทั้งควรมุ่งใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีการค้าให้เต็มที่ เตือนผักผลไม้สดไทยส่งออกลดลง เหตุขาดแคลนวัตถุดิบ ส่วนข้าวต้องแข่งหนักเรื่องราคา การแถลงข่าวร่วม 3 องค์กร โดย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร เรื่อง “สถานการณ์ธุรกิจเกษตรและอาหารในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต” มีตัวแทนหลักของทั้ง 3 องค์กร ประกอบด้วย นายนภดล ศิวะบุตร รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ร่วมให้รายละเอียดและรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ในการประสานความร่วมมือของ 3 องค์กร ในส่วนของสถาบันอาหารจะทำหน้าที่เป็นองค์กรในการรวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร หรือ Food Intelligence Center เพื่อเผยแพร่ข้อมูลภาวะอุตสาหกรรมธุรกิจเกษตรและอาหารทั้งในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต สำหรับอุตสาหกรรมอาหารในช่วงไตรมาส 2 ปี 2553 ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสแรก แต่อัตราขยายตัวลดต่ำลง โดยภาคการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 จากที่ขยายตัวร้อยละ 4.7 ใน ไตรมาสแรก ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่าในอัตราร้อยละ 6.5 และ 8.5 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกมีมูลค่า 206,402 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 จากที่ขยายตัวร้อยละ 24.2 ในไตรมาสแรก สินค้าอาหารส่งออกที่หดตัวลง ได้แก่ ปลาทะเลแช่แข็งและแปรรูป ผักผลไม้สดและแปรรูป ซึ่งปัญหาหลักมาจากการขาดแคลนวัตถุดิบ ส่วนการส่งออกข้าวมีอัตราลดลงเนื่องจากไม่สามารถแข่งขันกับข้าวของประเทศคู่แข่งได้ โดยราคาข้าวที่สูงของไทยส่งผลให้ผู้บริโภคแอฟริกาหันไปนำเข้าข้าวจากแหล่งอื่นรวมทั้งบริโภคธัญพืชอื่นทดแทนข้าวไทย ส่วนตลาดข้าวในตะวันออกกลางความต้องการข้าวลดลง อันเป็นผลสืบเนื่องจากการประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงต้นปี ทำให้ต้องปรับลดแรงงานต่างชาติจำนวนมาก นายอมร กล่าวต่อว่า “โดยภาพรวมภาวะอุตสาหกรรมอาหารของไทยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 อุตสาหกรรมอาหารไทยขยายตัวทั้งภาคการผลิตและส่งออก โดยดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 56.1 เมื่อเทียบกับร้อยละ 51.4 ในช่วง 6 เดือนแรกของปีก่อน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 122,488 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.0 ส่วนการส่งออกมีมูลค่า 411,463 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9 เมื่อเทียบกับ 6 เดือนแรกของปีก่อน สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกขยายตัวสูงกว่า ร้อยละ 40 ได้แก่ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ น้ำตาลทราย อาหารสัตว์ น้ำมันปาล์ม และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ขณะที่การส่งออกเครื่องปรุงรส กุ้ง และน้ำผักผลไม้ มูลค่าส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 10-20 ส่วนการส่งออกข้าว ปลาแช่แข็ง และผลไม้สด ลดลงทั้งปริมาณและมูลค่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 ตลาดส่งออกอาหารของไทยเปลี่ยนแปลงไปไม่มากจากช่วง 3 ปีก่อน โดยมีตลาดใหญ่ๆ 4 ตลาด คือ อาเซียน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ซึ่งทั้ง 4 ตลาดครอบคลุมสัดส่วนส่งออกราวร้อยละ 60 ของมูลค่าส่งออกอาหารโดยรวม โดยการส่งออกไปอาเซียนที่ขยายตัวสูงในปีนี้ส่งผลให้อาเซียนเป็นตลาดอาหารของไทยที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นคือร้อยละ 22.5 รองลงมาคือญี่ปุ่นร้อยละ 14.1 สหรัฐฯร้อยละ 12.7 และสหภาพยุโรปร้อยละ 11.8 อย่างไรก็ตามสินค้าส่งออกยังกระจุกตัวอยู่เฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรและวัตถุดิบ ส่วนสินค้าอาหารแปรรูปยังมีสัดส่วนไม่มาก” กล่าวเฉพาะการค้าไทย-อาเซียนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 ไทยนำเข้าอาหารจากอาเซียนมูลค่า 18,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 โดยไทยส่งออกอาหารไปอาเซียนมูลค่า 92,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 67.6 ซึ่งทำให้ไทยเกินดุลการค้ากับอาเซียนมีมูลค่ากว่า 36,000 ล้านบาท แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารของไทยในครึ่งปีหลัง (2553) คาดว่าจะชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก โดยไตรมาส 3 การส่งออกจะมีมูลค่า 212,200 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.0 และไตรมาสที่ 4 มีมูลค่า 206,337 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.8 สินค้าที่มีแนวโน้มส่งออกชะลอลงในครึ่งปีหลัง เช่น แป้งมันสำปะหลัง น้ำตาลทราย และผักผลไม้สด เนื่องจากมีปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ “ทั้งนี้อุตสาหกรรมอาหารของไทยได้รับปัจจัยสนับสนุนอยู่หลายประการด้วยกัน อาทิ การมีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน สินค้าอาหารจึงมีคุณภาพ ความปลอดภัย และได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้า ประกอบกับเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชีย ขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น จีน อินเดีย และอาเซียน ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าในปีนี้เศรษฐกิจของทั้ง 3 ประเทศจะขยายตัวร้อยละ 10.5, 9.4 และ 6.4 ตามลำดับ และการเปิดเสรีการค้า ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการหันมาให้ความสำคัญกับตลาดดังกล่าวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมอาหารของไทยอาจต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออก อาทิ เศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าหลักยังไม่ฟื้นตัว เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น โดยสหรัฐฯ ยังมีอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 9.7 การนำเข้าเริ่มชะลอตัว ยุโรปมีปัญหาการบริโภคลดลงจากมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาลหลายๆ ประเทศ ส่วนการแข็งค่าของเงินเยนญี่ปุ่นส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันทำให้สินค้าญี่ปุ่นมีราคาแพงขึ้น ขณะเดียวกัน ต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามราคาปัจจัยการผลิต ซึ่งเป็นปัญหาที่เกี่ยวเนื่องมาจากสภาวะอากาศที่แปรปรวนทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรทั้งในประเทศและในตลาดโลกมีปริมาณลดลง และส่งผลกระทบให้ราคาสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดโลกเริ่มปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านค่าขนส่งคือค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าระวางเรือในระยะทางไกล เช่น ยุโรป ตะวันออกกลาง ซึ่งค่าระวางเรือสำหรับตู้ขนาด 20 ฟุต เพิ่มสูงขึ้นกว่า 2-3 เท่าตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และปัจจัยสุดท้ายคืออัตราแลกเปลี่ยน (บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ) แข็งค่า เนื่องจากในช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าต่ำกว่าระดับ 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งแข็งค่าขึ้นมากที่สุดในรอบ 30 เดือน” นายอมร กล่าว โดยสรุปสำหรับภาพรวมตลอดปี 2553 คาดว่าอุตสาหกรรมอาหารไทยจะยังขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยภาคการผลิตจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 4-5 ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะมีมูลค่า 830,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นแทบทุกกลุ่มสินค้า อาทิ น้ำมันปาล์ม ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย อาหารสัตว์ เครื่องปรุงรส กุ้งแช่แข็งและแปรรูป ไก่และสัตว์ปีก ทูน่ากระป๋อง ขณะที่สินค้าที่คาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ ผลไม้สดที่ประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ และข้าวที่ประสบปัญหาไม่สามารถแข่งขันกับข้าวต่างประเทศได้

ข่าวสถาบันอาหารชี้อุตฯอาหารไทย+อุตสาหกรรมอาหารไทยวันนี้

อาหารไทยไปไกลในยุโรป

มาสเตอร์เชฟนูรอ โซ๊ะมณี สเต็ปเป้ (ที่ 4 จากซ้าย) คณะอนุกรรมการอาหารถิ่นฯ ของสภาอุตสาหกรรมอาหารไทย และลูกสาว เชฟแซนดร้า สเต็ปเป้ (ที่ 3 จากขวา) ร่วมสาธิตการทำเมนูอาหารไทยยอดนิยม "ต้มข่าไก่ และต้มข่าเห็ด" ซึ่งถ่ายทอดสดจากบลู เอเลแฟ่น ภูเก็ต สู่ผู้ชมในประเทศเนเธอร์แลนด์และเบลเยียม ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประจำกรุงปารีส โดยมี คิม สเต็ปเป้ (ซ้ายสุด) โยเอล เรโนด์ และ คริส สเต็ปเป้

สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ - ซีพีแรม และ ซีพี ฟู้ดแล็บ ลงนามความร่วมมือยกระดับการศึกษา "จัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการจัดการอาหาร"

สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ซีพีแรม และ ซีพี ฟู้ดแล็บ ลงนามความร่วมมือยกระดับการศึกษา "จัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการจัดการอาหาร" เสริมแกร่งอุตสาหกรรมอาหาร...

บริษัท เจดีฟู้ด จำกัด (มหาชน) หรือ JDF เป... JD FOOD เตรียม Grand Opening เปิดตัวร้านอาหาร Kindee By Chef R วันที่ 8 พฤษภาคมนี้ — บริษัท เจดีฟู้ด จำกัด (มหาชน) หรือ JDF เป็นผู้ผลิตเครื่องปรุงรสและอาห...

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและน... วว. ให้บริการวิเคราะห์ทดสอบความสามารถลดการก่อภูมิแพ้ของสารสกัดและอาหาร — กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเ...

CPF หนุน BCG Model พัฒนา "Future Food" ร่วมขับเคลื่อนสู่ความมั่นคงทางอาหาร

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ตอกย้ำความเป็น "ครัวของโลกที่ยั่งยืน" โชว์นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคตที่เน้นการพัฒนาอาหารจากวัตถุดิบทางเลือก และเทคนิคใหม่ๆ เพื่อความปลอดภัย และสุขภาพที่ดีขึ้นของผู้บริโภค...

อร่อยกรุบไม่หยุด… 'ห้าดาว x เจ้าสัว' ครั้... ห้าดาว x เจ้าสัว เปิดตัวสแน็ก 'ข้าวตังมินิไก่หยอง สูตรไก่ย่างห้าดาว' — อร่อยกรุบไม่หยุด… 'ห้าดาว x เจ้าสัว' ครั้งแรกของธุรกิจแฟรนไชส์อาหารแถวหน้าของไทยกับ...