เชฟรอนทุ่มกว่า 80 ล้านบาท จับมือจุฬาฯ สนับสนุนการศึกษาวิศวกรรมปิโตรเลียมไทย ก้าวไกลระดับโลก

13 Oct 2010

กรุงเทพฯ--13 ต.ค.--เชฟรอน

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมลงนามในข้อตกลงความเข้าใจ ในการจัดตั้งโครงการความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการศึกษาในสาขาวิศวกรรมปิโตรเลียม ซึ่งในการดำเนินโครงการความร่วมมือในครั้งนี้ เชฟรอนจะสนับสนุนด้านงบประมาณในวงเงินสูงสุดเป็นจำนวน 2.75 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 82.5 ล้านบาท รวมระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ตุลาคม พ.ศ. 2553 ไปจนถึงพฤษภาคม พ.ศ. 2557

นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทเชฟรอนฯ ซึ่งเป็นวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิศวกรรมปิโตรเลียมรุ่นแรก จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า บุคลากรด้านวิศวกรรมปิโตรเลียมนับเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ไม่เพียงแต่สำหรับบริษัทเชฟรอนฯ เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศไทยในภาพรวม และที่เชฟรอน พันธกิจในการพัฒนาคนนั้นนับเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญในการดำเนินธุรกิจของเรา ตลอดการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมา บริษัทได้ดำเนินนโยบายเพื่อสังคมอย่างจริงจัง และได้สนับสนุนโครงการด้านการศึกษาต่างๆ อย่างต่อเนื่อง บริษัทฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการความร่วมมือนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาพลังงานของประเทศและภูมิภาค โดยจะสามารถสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพเพื่อทำงานพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมใหม่ ๆ ซึ่งจะช่วยลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศจากการนำเข้าพลังงานจากแหล่งภายนอกประเทศได้อีกทางหนึ่ง

โครงการความร่วมมือฯ มูลค่า 82.5 บาท นี้ ประกอบด้วยการให้ทุนสนับสนุนการพัฒนาบุคลากร ซึ่งรวมถึงการให้ทุนอาจารย์ในการศึกษาระดับปริญญาเอกในต่างประเทศ และการให้ทุนนิสิตปริญญาตรีที่สนใจเป็นอาจารย์ในภาควิชาในอนาคตให้เรียนต่อในระดับปริญญาโทและเอก เพื่อรองรับการขาดแคลนบุคลากรในภาควิชาในระยะยาว นอกจากนี้ ยังมีโครงการสนับสนุนงานวิจัยให้กับคณาจารย์ในภาควิชา รวมไปถึงการอบรมด้านวิชาการระยะสั้นอีกด้วย รวมถึงแผนในการจัดหาบุคลากรผู้สอนจากต่างประเทศ เข้ามาดำเนินการสอนในภาควิชาเป็นระยะเวลาอย่างน้อยสองภาคการศึกษาด้วยกัน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในแง่วิชาการให้กับหลักสูตรได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังจะให้การสนับสนุนด้านอื่นๆ อาทิ การพัฒนาห้องปฏิบัติการและเทคโนโลยีทางการศึกษาต่าง ๆ เช่น การจัดหาอุปกรณ์ในห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งหวังให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ และพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านวิศวกรรมปิโตรเลียมของประเทศไทยให้ได้มาตรฐานระดับนานาชาติ

โครงการความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการศึกษาในสาขาวิศวกรรมปิโตรเลียมนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ University Partnership Program หรือ UPP ซึ่งเป็นโครงการด้านการพัฒนาการศึกษาโครงการหนึ่งของบริษัทเชฟรอน ที่มุ่งเน้นสร้างพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลก อาทิ Massachusetts Institute of Technology, Stanford University, University of Southern California , University of Texas Austin และ Texas A&M จากประเทศสหรัฐอเมริกา Imperial College London จากประเทศอังกฤษ India Institute of Technology จากประเทศอินเดีย และ University of Western Australia จากประเทศออสเตรเลีย ในการที่จะพัฒนาหลักสูตรการศึกษา รวมถึงการทำงานวิจัยพัฒนาบุคลากรต่างๆ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในอนาคต เชฟรอนไม่เพียงแต่สนับสนุนด้านงบประมาณเงินทุนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการจัดหาบุคลากรต่างๆ จากต่างประเทศ การร่วมทำงานวิจัยพัฒนา และการให้ทุนการศึกษา

โดยในประเทศไทย ตามโครงการ UPP เชฟรอนได้มีความร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อจัดตั้งหลักสูตรปริญญาโทนานาชาติธรณีศาสตร์ปิโตรเลียมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 และได้ดำเนินโครงการจนประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง การร่วมมือกับทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำเจตนารมณ์ของเชฟรอนในการมุ่งมั่นสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาและบุคลากรในแวดวงสำรวจและผลิตปิโตรเลียม อันจะส่งผลดีแก่การพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานในประเทศไทยอย่างยั่งยืน

ด้านศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขอขอบคุณบริษัทเชฟรอนฯ ที่ได้ให้การสนับสนุนทางด้านวิชาการแก่มหาวิทยาลัยด้วยดีตลอดมา โดยเฉพาะการพัฒนาองค์ความรู้ในสาขาปิโตรเลียม ซึ่งโครงการความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการศึกษาในสาขาวิศวกรรมปิโตรเลียมในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ University Partnership Program หรือ UPP ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความยินดีและภาคภูมิใจที่เป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวในประเทศไทย ที่ได้รับคัดเลือกจากบริษัทเชฟรอนฯ ให้เป็นผู้พัฒนาและเปิดสอนหลักสูตรปริญญาโทนานาชาติธรณีศาสตร์ปิโตรเลียม ซึ่งโครงการนี้ได้ดำเนินงานจนประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง และกำลังผลิตมหาบัณฑิตรุ่นแรกซึ่งจำสำเร็จการศึกษาในเร็วๆนี้ และนิสิตปริญญาโทรุ่นที่ 2 นั้นได้เปิดภาคการศึกษาแล้วในขณะนี้ และสำหรับโครงการความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ จะมีส่วนอย่างยิ่งในการช่วยลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรสาขาปิโตรเลียม ตลอดจนช่วยพัฒนาความรู้ความสามารถของบุคลากรในสาขานี้ อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในประเทศไทยให้เจริญรุดหน้ายิ่งขึ้นต่อไป

ปัจจุบันทางคณะวิศวกรรมศาสตร์สามารถรองรับนิสิตระดับปริญญาตรีได้ประมาณปีละ 20 คน และระดับปริญญาโทอีกประมาณ 15 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าในช่วงระยะเวลาหกปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความต้องการของบุคลากรในสาขาดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โครงการความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ จึงนับเป็นการต่อยอดขยายผลการศึกษาด้านวิศวกรรมปิโตรเลียมในประเทศไทย และเป็นการเพิ่มศักยภาพในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพเพื่อรองรับความต้องการของการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานในประเทศ

เกี่ยวกับบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด

บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้ดำเนินธุรกิจด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2505 โดยมีผลการปฏิบัติงานทั้งทางด้านความปลอดภัย และการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับาตรฐานสากล ปัจจุบันเชฟรอนมีแท่นผลิตปิโตรเลียมมากกว่า 200 แท่นในอ่าวไทย ผลิตน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติเหลวและก๊าซธรรมชาติ โดยก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้สามารถนำไปผลิตไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการไฟฟ้ารวมของประเทศได้ถึงหนึ่งในสาม บริษัทเชฟรอน ยังมีนโยบายดำเนินธุรกิจควบคู่ไปพร้อมกับทำงานร่วมกับชุมชนและสังคม โดยมุ่งเน้นการพัฒนาการศึกษา สิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์พลังงานเป็นสำคัญ ท่านสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับเชฟรอนเพิ่มเติมได้ที่ www.chevron.com หรือ www.chevronthailand.com

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net