นักวิชาการสื่อสารมวลชนรวมตัวถกปฏิรูปการเรียนการสอนเพื่อปฏิรูปสื่อ

20 Sep 2010

กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--มหาวิทยาลัยรังสิต

5 นักวิชาการชี้หลักสูตรวารสารศาสตร์ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เน้นความอยู่รอด พร้อมหนุนการปฏิรูปสื่อ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2553 ณ มหาวิทยาลัยรังสิต

ดร.อนุสรณ์ ศรีแก้ว คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า สภาพการเรียนการสอนด้านวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนเริ่มเข้าสู่ภาวะวิกฤตจากจำนวนผู้ที่สนใจเข้าศึกษาวิชาวารสารศาสตร์มีจำนวนน้อยลง ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และพัฒนาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขาวิชาวารสารศาสตร์จึงจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ปฏิรูปการเรียนการสอนสื่อสารมวลชนเพื่อปฏิรูปสื่อ” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับการเรียนการสอนด้านวารสารศาสตร์ และนำไปสู่การปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนในอนาคต ผู้เข้าร่วมการสัมมนาประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ คณาจารย์ด้านวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน และนักศึกษาเข้าร่วมงานกว่า 80 คน

วิทยากรในครั้งนี้ประกอบด้วย ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.อุษา บิ้กกิ้นส์ ผู้อำนวยการหลักสูตรมหาบัณฑิต สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต คุณเถกิง สมทรัพย์ นักจัดรายการวิทยุ สถานี F.M. 96.5 และคุณสมหมาย ปาริจฉัตต์ ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด ดำเนินรายการโดยอาจารย์นิพนธ์ เจริญพจน์

ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กล่าวว่า การเรียนการสอนสามารถที่จะช่วยการปฏิรูปสื่อได้คือต้องมีรายวิชาที่มีการประยุกต์ให้เข้ากับภาวการณ์ในปัจจุบัน และรายวิชาจะต้องทันกับการเปลี่ยนแปลงไปของการหลอมรวมสื่อของสื่อใหม่ด้วย

รศ.ดร.อุษา บิ๊กกิ้นส์ กล่าวว่า การจัดการเรียนการสอนวารสารศาสตร์มีพัฒนาการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2482 เป็นต้นมามีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันนี้ยิ่งต้องปรับตัวตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นนักศึกษาต้องปรับตัว รายวิชาต้องมีการปรับเปลี่ยน หลักสูตรต้องปรับปรุง

คุณสมหมาย ปาริจฉัตต์ กล่าวว่า จำนวนนักศึกษาที่เรียนหนังสือพิมพ์ลดน้อยลงเป็นปัญหาทั้งทางสถาบันการศึกษา และนักวิชาชีพ ดังนั้นนักศึกษาจะต้องปรับตัวให้มีความรู้ด้านเนื้อหาเป็นหลัก ให้มีความรู้พื้นฐานที่จำเป็นไม่ใช่แต่เก่งแต่การใช้เครื่องมือเพียงอย่างเดียว อาจารย์ต้องกำหนดให้นักศึกษาอ่านหนังสือให้มากขึ้นด้วย

ผศ.ดร.เสกสรร สายสีสด ผู้เข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ กล่าวว่าการปฏิรูปการเรียนการสอนด้านวารสารศาสตร์ของทุกมหาวิทยาลัยมีส่วนคล้ายคลึงกัน คือจำนวนนักศึกษาลดน้อยลง ความตั้งใจ มุ่งมั่นที่จะเข้าสู่วิชาชีพด้านวารสารศาสตร์ลดน้อยลง ทำให้การเรียนการสอนไม่ได้มาจากใจรัก จึงขาดแรงจูงใจที่จะมุ่งมั่น จึงส่งผลต่อคุณภาพของบัณฑิตอีกด้วย ทางออกคือจะต้องเติมเต็มความรู้พื้นฐานให้กับนักศึกษา และสร้างแรงจูงใจมุ่งมั่นให้กับนักศึกษาการที่พยายามผลักดันให้นักศึกษามีผลงานและมีการแข่งขันกันเพื่อให้ได้รางวัลก็เป็นการสร้างแรงจูงใจที่น่าสนใจ

การจัดสัมมนาเรื่อง การปฏิรูปสื่อการเรียนการสอนสื่อสารมวลชนเพื่อการปฏิรูปสื่อ จัดโดย สาขาวิชาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับ คณะกรรมการพัฒนาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบสื่อมวลชน (คพส.) สถาบันอิสรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อวันเสาร์ที่ 18 กันยายน 2553 ณ ห้องประชุมออดิทอเรียม ชั้น 2 อาคารดิจิทัล มัลติมีเดีย คอมเพล็กซ์ มหาวิทยาลัยรังสิต

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net