กำลังเป็นที่สนใจค่อนข้างมาก สำหรับการรื้อฟื้น “โครงการครูพันธุ์ใหม่” ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ขึ้นมาอีกครั้ง หลังจาก “โครงการผลิตครูการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับปริญญาตรี (หลักสูตร 5 ปี)” หรือครูพันธุ์ใหม่ ที่เคยดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 เกิดอาการสะดุด เนื่องจากติดขัดปัญหาด้านงบประมาณ
โดยโครงการเดิมเกิดขึ้นในปีเดียวกันกับที่มีการเริ่มใช้หลักสูตรผลิตครูแบบใหม่ (หลักสูตร 5 ปี) หรือที่เรียกว่า “หลักสูตรครู 5 ปี” โดยรัฐจะให้ทุนการศึกษากับผู้ที่มีผลการเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 2.75 ขึ้นไป จำนวน 3 รุ่นๆ ละ 2,500 คน รวม 7,500 คน เมื่อเรียนจบแล้วมีหลักประกันว่าทุกคนจะได้บรรจุเป็นข้าราชการครูในโรงเรียนของรัฐ
แต่หลังจากโครงการผลิตครูการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับปริญญาตรี (หลักสูตร 5 ปี) เริ่มดำเนินการได้เพียง 1 รุ่น ก็ต้องหยุดชะงักไป เนื่องจากติดขัดในเรื่องงบประมาณ
กระทั่งในสมัยที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้หารือร่วมกับ รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งขณะนั้นนั่งเป็นประธานคณะกรรมการวางแผนผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา และ ศ.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) อยู่ในช่วงนั้น เกี่ยวกับการสานต่อโครงการครูพันธุ์ใหม่ จนเป็นที่มาของ “โครงการนำร่องครูพันธุ์ใหม่ ปีการศึกษา 2552-2553” จำนวน 4,000 คน
โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการนำร่องครูพันธุ์ใหม่ สำหรับปีการศึกษา 2552-2553 ได้สรุปเกณฑ์การคัดเลือกนักศึกษา และสถาบันที่จะเข้าร่วมโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่
ในส่วนของหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือก “นักศึกษา” ที่จะเข้าร่วมโครงการนำร่องครูพันธุ์ใหม่นั้น กำหนดให้นักศึกษาคณะครุศาสตร์ หรือคณะศึกษาศาสตร์ ที่จะร่วมโครงการ จะต้องเรียนอยู่ในชั้นปีที่ 3 และปีที่ 4 มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมปลาย (GPAX) ไม่ต่ำกว่า 3.00 ต้องมีผลการเรียนในวิชาเอกสะสมไม่ต่ำกว่า 3.00 และต้องมีผลการเรียนในวิชาชีพครูสะสมไม่ต่ำกว่า 3.00 เช่นกัน
รวมทั้ง ต้องผ่านการสอบสัมภาษณ์ มีบุคลิกดี มีจิตอาสา และเต็มใจปฏิบัติตามเงื่อนไขของการรับทุน ได้แก่ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ต้องบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หรือสถานศึกษาในสังกัดคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กำหนด เป็นระยะเวลา 2 เท่าของเวลาที่รับทุน โดยจะต้องไม่ขอย้ายระหว่างที่ชดใช้ทุน
หากผู้รับทุนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด ก็จะต้องใช้ทุนคืนเป็น 2 เท่าของค่าใช้จ่ายทั้งหมด!!
สำหรับจำนวนนักศึกษาที่จะเข้าร่วมโครงการนำร่องครูพันธุ์ใหม่ในปีการศึกษา 2552-2553 แบ่งเป็น นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จำนวน 2,000 คน และนักศึกษาชั้นปีที่ 3 จำนวน 2,000 คน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะไม่ได้ให้เป็นทุนการศึกษา แต่จะมี “อัตราบรรจุ” ให้เมื่อสำเร็จการศึกษา
ส่วนหลักเกณฑ์คุณสมบัติ และการพิจารณาคัดเลือก “สถาบัน” ที่จะเข้าร่วมโครงการนั้น จะต้องเป็นสถาบันที่เปิดสอนสาขาครุศาสตร์ สาขาศึกษาศาสตร์ หรือสาขาครุศาสตร์อุตสาหกรรม ในหลักสูตรที่โครงการนำร่องครูพันธุ์ใหม่กำหนด ได้แก่ หลักสูตรปริญญาตรี 5 ปี หรือประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู ที่มีศักยภาพในการผลิตครูส่งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้รับการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ระดับคณะครุศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ และหลักสูตรต้องได้รับการรับรองมาตรฐานจากคุรุสภา และ สกอ.
นอกจากนี้ ในการพิจารณาคัดเลือกสถาบัน จะพิจารณาจาก 3 ส่วนหลัก ได้แก่ คุณภาพอาจารย์ประจำหลักสูตร คุณภาพอาจารย์ผู้สอนในหลักสูตร และการบริหารจัดการและการพัฒนาคุณภาพ
ทั้งนี้ ในส่วนของคุณภาพอาจารย์ประจำหลักสูตร และคุณภาพอาจารย์ผู้สอนในหลักสูตร จะต้องพิจารณาเรื่องคุณวุฒิสูงสุด ระดับตำแหน่งทางวิชาการ วุฒิตรงตามหลักสูตร ต้องมีผลงานทางวิชาการที่เป็นตำรา หรือหนังสือตามหลักสูตร และมีผลงานวิจัยที่พิมพ์เผยแพร่ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา รวมถึง การบริหารจัดการ และพัฒนาคุณภาพ จะต้องดูคะแนนการประเมินคุณภาพการศึกษาภายในระดับคณะ ผลประเมินภายนอกของ สมศ.และต้องมีหอพัก
ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศรายชื่อสถาบันฝ่ายผลิตโครงการนำร่องครูพันธุ์ใหม่ ปีการศึกษา 2552 จำนวน 45 สถาบันไปแล้ว เพื่อที่จะคัดเลือกนักศึกษาคณะครุศาสตร์ และคณะศึกษาศาสตร์ รุ่นแรกที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 4 จำนวน 2,000 คน
โดยผู้ที่สำเร็จการศึกษาในรุ่นแรก จะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 1,867 คน และข้าราชการครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จำนวน 133 คน ตามที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติคืนอัตราเกษียณให้แก่ ศธ.แล้ว
ล่าสุด คณะกรรมการคัดเลือกสถาบันฝ่ายผลิตและผู้รับทุนโครงการนำร่องครูพันธุ์ใหม่ ที่มี ศ.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ เป็นประธาน ได้มอบหมายให้สถาบันฝ่ายผลิตทั้ง 45 แห่ง สอบสัมภาษณ์ผู้รับทุนในวันที่ 11 มิถุนายน ที่ผ่านมา และส่งผลการสอบสัมภาษณ์มายังคณะกรรมการคัดเลือกสถาบันฝ่ายผลิตและผู้รับทุนโครงการนำร่องครูพันธุ์ใหม่ ในวันที่ 14 มิถุนายน จะทำให้ทราบกันในเร็วๆ นี้ ว่านักศึกษาที่เป็นผู้รับทุนในโครงการนำร่องครูพันธุ์ใหม่ ปีการศึกษา 2552 มีใครกันบ้าง ซึ่ง ศ.สมหวังระบุว่า โครงการนำร่องครูพันธุ์ใหม่ได้รับการตอบรับค่อนข้างมาก เพราะจากการประเมินโครงการของปีแรก พบว่า มีผู้สนใจสมัครเข้าเรียนในคณะครุศาสตร์ และคณะศึกษาศาสตร์ เพิ่มขึ้นเป็น 2-3 เท่าตัว ที่สำคัญ ส่วนใหญ่มีผลการเรียนเฉลี่ย 3.00 ขึ้นไป
ประเด็นนี้ ทำให้ประธานคณะกรรมการคัดเลือกสถาบันฝ่ายผลิตและผู้รับทุนโครงการนำร่องครูพันธุ์ใหม่ เห็นว่า การดำเนินการโครงการน่าจะเป็นไปตามเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง โดยจะทำให้ “วิชาชีพครู” กลายเป็นวิชาชีพชั้นสูง และจะทำให้ “เงินเดือน” ของครู เพิ่มสูงขึ้นในอนาคตอีกด้วย
ส่วนการประกาศรายชื่อสถาบันฝ่ายผลิตโครงการนำร่องครูพันธุ์ใหม่ ปีการศึกษา 2553 สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 จำนวน 2,000 คนนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกสถาบันฝ่ายผลิตและผู้รับทุนโครงการนำร่องครูพันธุ์ใหม่ ได้เปิดโอกาสให้สถาบันผลิตครูทั่วประเทศที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการ ให้ประเมินว่าแต่ละสถาบันมีความเชี่ยวชาญในการผลิตครูในด้านใดบ้าง โดยให้เสนอเรียงลำดับสาขาวิชาที่จะผลิตใน 3 วิชาเอก และสำรอง 2 วิชาเอก รวม 5 วิชาเอก เพื่อให้คณะกรรมการคัดเลือกภายในวันที่ 14 มิถุนายน
นอกจากโครงการนำร่องครูพันธุ์ใหม่ ปีการศึกษา 2552-2553 แล้ว ตั้งแต่ปีการศึกษา 2554-2558 กระทรวงศึกษาธิการยังมีโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่อีก 30,000 คน โดยโครงการดังกล่าวจะให้ทั้งทุน และประกันการมีงานทำ
โดยเบื้องต้น คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณ จำนวน 4,235 ล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณในส่วนของทุนการศึกษา จำนวน 2,570 ล้านบาท งบประมาณดำเนินการอีก 1,413 ล้านบาท และงบประมาณบริหารโครงการ 215 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตอกย้ำว่า ถึงเวลาแล้วที่ ศธ.จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนา และเพิ่มศักยภาพของครูไทยให้เป็นครูพันธุ์ใหม่ คือ ผลการประเมินสมรรถนะครูผู้สอนและผู้บริหารสถานศึกษารายบุคคลทั่วประเทศ ตามโครงการยกระดับคุณภาพครูทั้งระบบ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ล่าสุดปรากฏว่าผลการประเมิน “ไม่น่าพอใจ” อย่างยิ่ง
เช่น กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ครูผู้สอนเข้าประเมิน 13,385 คน ทำคะแนนได้ในกลุ่มสูง หรือคะแนน 80% ขึ้นไป จำนวน 7,260 คน คิดเป็น 54.24%, กลุ่มกลาง ทำคะแนนได้ 60-79% จำนวน 4,925 คน คิดเป็น 36.79% และกลุ่มต้น ทำคะแนนได้ต่ำกว่า 60% จำนวน 1,200 คน คิดเป็น 8.97%
เรื่องนี้นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นกังวลในเรื่องนี้มาก และมองว่าครูผู้สอน โดยเฉพาะในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มีความจำเป็นพิเศษที่ต้องพัฒนาให้มีความรู้ตรงกับกลุ่มสาระวิชาเอกที่สอน เพื่อให้ครูเกิดความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในการสอน และให้นักเรียนผ่านสาระการเรียนรู้เกิน 50% ในทุกวิชา ซึ่งสอดรับกับโครงการนำร่องครูพันธุ์ใหม่ที่ ศธ.กำลังขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาครูทั้งระบบ
โครงการนำร่องครูพันธุ์ใหม่ จึงนับว่าเป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อผลิต พัฒนา เพิ่มศักยภาพ และยกระดับวิชาชีพของแม่พิมพ์ไทย ให้เป็น “ครูมืออาชีพ” ที่มีความรู้ความสามารถในด้านวิชาการ มีความเชี่ยวชาญทางด้านวิชาชีพ มีอุดมการณ์ และมีจิตวิญญาณของความเป็นครูที่แท้จริง!!
นอกจากนี้ ยังสามารถดึงดูดให้ “คนเก่ง” และ “คนดี” มาเข้าเรียนครูเพิ่มมากขึ้น โดยผ่านกระบวนการผลิตที่เน้นการปฏิบัติ และการฝึกอบรมที่เข้มข้น ไม่ใช่แบบเดียวกับที่ผ่านมา ที่ผู้ที่ตัดสินใจเข้าเรียนครูเพราะไม่รู้จะเรียนอะไร หรือเรียนอะไรก็ไม่ได้ จึงหันมาเรียนครูแทน จนทำให้เกิด “วิกฤต” ในวิชาชีพครูจนถึงทุกวันนี้
ทั้งยังสามารถผลิตครูให้สอดคล้องกับสาขาวิชาที่ขาดแคลน และพื้นที่ที่ต้องการใช้ครู แทนที่จะปล่อยปละละเลยให้สถาบันที่ผลิตครู ผลิตโดยไม่ได้ดูความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้เหมือนที่ผ่านๆ มา ที่สำคัญ มองเห็น “อนาคต” เมื่อเรียนจบแล้ว เพราะมีหลักประกันในการทำงาน โดยทุกคนจะได้รับการบรรจุเข้ารับราชการเป็น “ข้าราชการครูฯ” ในทันที แทนที่จะต้องวิ่งแข่งขันเพื่อสอบบรรจุครูที่นั่นที่นี่ และหากสอบไม่ได้ ก็ต้อง “เตะฝุ่น” ไปพลางๆ ระหว่างหางานอื่นทำ
ฉะนั้น หากรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมแรงร่วมใจผลักดัน “โครงการครูพันธุ์ใหม่” อย่างจริงจัง ก็ต้องจัดสรรงบประมาณให้อย่างเพียงพอ เร่งพัฒนาระบบ และกระบวนการผลิตของสถาบันอุดมศึกษาให้เข้มข้น
“ครูพันธุ์ใหม่” ก็จะกลายเป็นอีกตัวแปรสำคัญตัวแปรหนึ่ง ที่จะช่วยขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง และยังช่วยพลิกฟื้น “วิกฤต” ทางการศึกษาทั้งระบบ ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ ให้ผ่านพ้นไปได้!!
บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด โดยนางสาว ปรินทร์ทิพย์ อิสริยเมธา ผู้ช่วยรองกรรมการผู้อำนวยการสื่อสารองค์กร และรัฐกิจสัมพันธ์ กลุ่มธุรกิจแฟลช เป็นผู้แทนบริษัทฯ รับมอบเกียรติบัตรในฐานะองค์กรเอกชนที่สนับสนุนหนังสือและสื่อให้กับกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ ในงานเทิดพระเกียรติ "เจ้าฟ้านักอ่าน" สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2568 จากนางยุพิน บัวคอม รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งในปี 2567 ที่ผ่านมาบริษัทฯได้มอบหนังสือ "คม