ไก่ไข่เจอร้อน-แล้ง แถมโรคระบาดซ้ำส่งผลราคาสูง ชี้แค่ช่วงสั้นตามดีมานด์ซัพพลาย

28 Jun 2010

กรุงเทพฯ--28 มิ.ย.--สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่

นายมาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ เปิดเผยว่า ขณะนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก เนื่องจากในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ประเทศไทย ต้องประสบภาวะภัยแล้ง ขาดน้ำ และสภาพอากาศที่ร้อนจัด โดยมีอุณหภูมิสูงขึ้นผิดปกติถึง 43-44 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (2552) ขณะที่อุณหภูมิที่เหมาะสมในการเลี้ยงไก่ไข่อยู่ที่ 28-30 องศาเซลเซียสเท่านั้น ส่งผลให้แม่ไก่เกิดอาการเครียด กินอาหารได้น้อย และทำให้เปอร์เซ็นต์การให้ไข่ของแม่ไก่ลดลง รวมถึงผลผลิตไข่ไก่มีขนาดเล็กลง นอกจากนี้ บางพื้นที่ขาดน้ำสะอาดเพื่อให้ไก่กิน ก่อให้เกิดไก่ป่วยตามมา ผลผลิตจึงลดลงมาก และในวงการเลี้ยงไก่กำลังประสบปัญหาโรคระบาดในไก่ไข่ คือ โรค IB หรือโรคหลอดลมอักเสบ โดยเกิดการระบาดช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมา ซึ่งเกิดในลูกไก่ไข่ที่มีอายุ 1-3 สัปดาห์ ซึ่งทำให้เมื่อลูกไก่ชุดนี้โตขึ้นเป็นแม่ไก่ในปัจจุบัน จะทำให้รังไข่ฝ่อ ผลผลิตไข่ไก่ที่ได้เกิดความเสียหาย จึงอยากแจ้งข่าวให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่เข้มงวดในเรื่องการป้องกันโรคด้วย

อย่างไรก็ตาม นายมาโนช กล่าวด้วยว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ผู้เลี้ยงไก่ไข่ขาดทุนมาโดยตลอดเพราะผลผลิตมากเกินความต้องการบริโภค คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ หรือ EGG Broad และเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ ได้พยายามร่วมกันหาทางแก้ปัญหาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ด้วยมาตรการต่างๆ มากมาย อาทิ การควบคุมปริมาณการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ การปลดแม่ไก่แก่ยืนกรงให้เร็วขึ้น หรือ การส่งออกเพื่อระบายไข่ส่วนเกิน ทั้งนี้เพื่อรักษาสมดุลของอุปสงค์อุปทานของไข่ไก่ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม นำมาซึ่งเสถียรภาพราคาไข่ไก่ หลังเกษตรกรต้องประสบภาวะขาดทุนติดต่อกันมา 3 ปี ความพยายามดังกล่าวเพิ่งจะเริ่มสัมฤทธิ์ผลในปีนี้ แต่กลับต้องเจอกับสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น คือสภาวะโรคร้อน และโรคระบาด

ปัจจุบันปริมาณแม่ไก่ไข่ยืนกรงทั่วประเทศเหลืออยู่ประมาณ 35-36 ล้านตัว ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วกว่า 20% มีผลให้ปริมาณไข่ไก่ทั่วประเทศในขณะนี้อยู่ที่ 25-26 ล้านฟองต่อวัน จาก 28-30 ล้านฟองต่อวัน ซึ่งอาจส่งกระทบโดยตรงต่อราคาไข่ไก่ตามหลักอุปสงค์อุปทานและกลไกตลาด แต่จะเป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น เนื่องจากขณะนี้กำลังเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ที่จะมีอาหารธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น และด้วยไข่ไก่เป็นสินค้าเกษตรที่มีช่วงวงจรเวลาสั้น ความเสียหายของผลผลิตไข่ไก่จึงจะลดลงและเข้าสู่ภาวะปกติในที่สุด