คณะบดีคณะอัญมณี มหาวิทยาลัยบูรพา ฟันธงเรียนด้านอัญมณี ไม่ตกงาน

29 Nov 2010

กรุงเทพฯ--29 พ.ย.--ทีพีคอนเวอร์เจนซ์

คณะอัญมณี มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี ชวนเยาวชนไทยศึกษาต่อด้านอัญมณีและเครื่องประดับ ตั้งใจผลิตบัณฑิตอย่างคุณภาพ เรียนรู้การทำงานจริง เพื่อสนองความต้องการของอุตสาหกรรมให้มีศักยภาพในการแข่งขันกับตลาดโลก อีกทั้งบริการออกใบรับรองตรวจวิเคราะห์อัญมณี

อาจารย์สุรินทร์ อินทะยศ คณบดีคณะอัญมณี มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ จัดเป็นธุรกิจที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศไทยเป็นอันดับต้นๆ มีการจ้างงานเป็นจำนวนหลายร้อยล้านบาทต่อปี แต่มียังขาดแคลนบุคลากรทั้งระดับบริหารจัดการและระดับฝีมือแรงงาน จึงจัดตั้งคณะอัญมณีขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี โดยตั้งใจผลิตบัณฑิตให้เพียงพอและเหมาะสมทั้งปริมาณและคุณภาพ สนองความต้องการของอุตสาหกรรมให้มีศักยภาพในการแข่งขันกับตลาดโลก โดยที่นี่เปิดสอนด้านอัญมณีและเครื่องประดับในระดับคณะแห่งแรกของประเทศไทย มีการบูรณาการการเรียนการสอนทั้งด้านวิทยาศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ และบริหารธุรกิจเข้าไว้ด้วยกัน โดยนิสิตจะได้เรียนทั้งสามศาสตร์ในสัดส่วนที่แตกต่างกันไปตามสาขาที่เลือก

สำหรับหลักสูตรที่เปิดการเรียนการสอนมี 3 หลักสูตร คือ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอัญมณีและเครื่องประดับ เน้นทางด้านการวิเคราะห์อัญมณีและขบวนการผลิตเครื่องประดับ หลักสูตรบริหารธุรกิจสาขาวิชาธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ เน้นทางด้านการตลาดและธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบเครื่องประดับ เน้นทางด้านการออกแบบอัญมณีและเครื่องประดับ

ในแต่ละปีมีนิสิตจากทั่วทุกภาคของประเทศให้ความสนใจสมัครเข้ามาเรียนเป็นจำนวนมาก จำนวนนิสิตที่สมัครเข้าเรียนประมาณ 150 คนต่อปี สาขาที่มีนิสิตสมัครเข้าเรียนมากที่สุดคือ สาขาธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับประมาณ 60 คนต่อปี สาขาออกแบบเครื่องประดับ 50 คนต่อปี และสาขาอัญมณีและเครื่องประดับ 40 คนต่อปี สาขาออกแบบเครื่องประดับเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นประกอบกับผู้ประกอบการมีความต้องการบุคลากรทางด้านออกแบบเครื่องประดับเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางคณะยังไม่สามารถจะผลิตบัณฑิตให้เพียงพอกับความต้องการได้ จึงคาดว่าสาขาออกแบบเครื่องประดับจะเป็นสาขาที่อนาคตสดใสและจะมีนิสิตมาสมัครเรียนเพิ่มขึ้น

ส่วนค่าใช้จ่ายในการเข้าศึกษาที่คณะอัญมณี ประกอบไปด้วยค่าบำรุงคณะ ค่าลงทะเบียนเรียนและค่าใช้จ่ายอื่นๆ โดยเฉลี่ยเทอมละ 20,000 บาท รวมค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรประมาณ 160,000 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายที่นิสิตจำต้องใช้จ่ายก็เป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและค่าหอพัก ซึ่งทางวิทยาเขตจันทบุรีได้จัดสรรหอพักสำหรับนิสิตชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 2 โดยค่าหอพักเพียงเทอมละ 3,500 บาทเท่านั้น และในส่วนของทุนการศึกษา นอกจากการกู้ยืมจากกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ) แล้ว ทางคณะอัญมณีได้จัดสรรทุนการศึกษาสำหรับนิสิตที่เรียนดีแต่ยากจนเป็นประจำทุกปี โดยจะเปิดรับสมัครการขอรับทุนอุดหนุนการศึกษาทั้งภาคเรียนที่หนึ่งและภาคเรียนที่สองโดยเฉลี่ยเทอมละ 2 ทุน

คณบดีคณะอัญมณี กล่าวถึงความพร้อมของการเรียนการสอนว่า คณะอัญมณีมีห้องปฎิบัติการทางด้านการวิเคราะห์อัญมณี และกระบวนการผลิตเครื่องประดับที่ครบพร้อมสมบูรณ์ ประกอบกับที่ตั้งของวิทยาเขตอยู่ในจังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยทางคณะได้จัดเตรียมตัวอย่างเพชร พลอยทั้งของจริง และสังเคราะห์ที่มีการจำหน่ายในตลาดค้าอัญมณี ไม่ต่ำกว่า 1,000 เม็ด ในด้านการผลิตเครื่องประดับ ให้นิสิตได้เรียนรู้และปฎิบัติจริง เริ่มตั้งแต่การออกแบบเครื่องประดับแบบวาดด้วยมือ การออกแบบเครื่องประดับด้วยคอมพิวเตอร์ การสร้างต้นแบบเครื่องประดับที่ออกแบบเครื่องประดับด้วยคอมพิวเตอร์ด้วยเครื่อง CNC การเจียระไนพลอยนิสิตจะได้เริ่มลงมือเจียระไนพลอยจากพลอยแท้และพลอยสังเคราะห์ การทำเครื่องประดับ เริ่มตั้งแต่การขึ้นรูปเครื่องประดับด้วยแวกซ์ ด้วยโลหะ การหล่อเครื่องประดับ การฝังพลอย การขัดแต่งและชุบชิ้นงาน อาจกล่าวได้ว่าทางคณะมีโรงงานผลิตเครื่องประดับเล็กๆ ให้นิสิตได้ฝึกฝนเรียนรู้ซึ่งสามารถต่อยอดนำไปใช้จริงได้ในการทำงานในอนาคต อีกทั้งยังมีโอกาสใช้ประสบการณ์จริงในการเข้าไปศึกษาเรียนรู้จากการค้าขายในธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ นิสิตที่จบจากคณะอัญมณีจะต้องมีอัตลักษณ์ที่สำคัญคือ สามารถวิเคราะห์และประเมินมูลค่าอัญมณีได้ สามารถไปประกอบอาชีพในส่วนราชการและภาคเอกชน โดยส่วนใหญ่แล้วจะเข้าไปประกอบอาชีพในสถานประกอบการด้านอัญมณีและเครื่องประดับในตำแหน่ง นักออกแบบเครื่องประดับ นักตรวจสอบอัญมณี ผู้ซื้อ ตัวแทนขาย ผู้นำเข้า-ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ นักวิชาการออกใบรับรองอัญมณี บางส่วนเปิดดำเนินธุรกิจเป็นของตนเองในตำแหน่งเจ้าของร้านค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ผู้จัดการร้านค้าอัญมณีและเครื่องประดับ และผู้บริหารด้านธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ

อาจารย์สุรินทร์ กล่าวปิดท้ายถึง การให้บริการเกี่ยวกับการตรวจวิเคราะห์อัญมณีให้กับประชาชนทั่วไปว่า นอกจากนี้ทางคณะยังมีการให้บริการจัดเครื่องมือสำหรับตรวจวิเคราะห์อัญมณีเบื้องต้น โดยมีทีมของคณาจารย์ที่ผ่านการฝึกอบรมเฉพาะทางด้านอัญมณีมาเป็นผู้ดำเนินงานตรวจวิเคราะห์ ซึ่งจากเครื่องมือที่ใช้อยู่สามารถตรวจสอบแยกอัญมณีแท้และเทียมได้เป็นอย่างดี การออกใบรับรองของทางคณะได้รับการยอมรับจากผู้ประกอบการชาวไทยและต่างชาติ เช่น อินเดีย ปากีสถาน เกาหลี ญี่ปุน ฝรั่งเศส เยอรมัน และสหราชอาณาจักรเป็นอย่างดี นอกจากนี้แล้วผู้ประกอบการที่ดำเนินการค้าอัญมณีทางอินเตอร์เนต เช่น E-bay และ Amazon ก็ยังได้ใช้ใบรับรองอัญมณีของทางคณะช่วยในการสร้างความมั่นใจในการซื้อขายอัญมณี

ผู้สนใจสมัครเรียนหรือใช้บริการตรวจสอบอัญมณี สามารถติดต่อได้ที่ คณะอัญมณี มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี 57 หมู่ 1 ถนนชลประทาน ตำบลโขมง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี 22170 โทรศัพท์ 0-3931-0000 ต่อ 1117 หรือ www.chanthaburi.buu.ac.th

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net