“ห้องเรียนของหนู” พื้นที่สร้างอนาคตที่ยังขาดแคลน

09 May 2011

กรุงเทพฯ--9 พ.ค.--เอสซีจี

เป็นความโชคดีของเด็กไทยที่มีโอกาสได้ “เรียนฟรี” ตามนโยบายของรัฐที่ช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องของค่าเล่าเรียน แบบเรียน เสื้อผ้า อุปกรณ์การเรียน ฯลฯ จนดูเหมือนทุกอย่างจะสมบูรณ์แบบไปซะทั้งหมดถ้ายังไม่นับรวมปัญหาการขาดแคลนสถานที่เรียนเข้าไปด้วย

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีโรงเรียนในสังกัดอยู่ประมาณ 32,000 โรง ซึ่งต้องรับผิดชอบดูแลเด็กนักเรียนประมาณ 8 แสนคน จากการคิดคำนวณโดยเฉลี่ย เด็กประถมฯ 1-6 จำนวนนักเรียน 20 คนต่อ 1 ห้องเรียน เด็กมัธยมฯ 1-6 จำนวนนักเรียน 40 คนต่อ 1 ห้องเรียน หากคิดจากมาตรฐานนี้แล้ว ทั่วประเทศไทยยังขาดแคลนห้องเรียนอยู่อีกประมาณ 103,000 ห้อง

ห้องเรียนนับเป็นปัจจัยสำคัญทางการศึกษาอย่างหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิซิเมนต์ไทย จึงได้ร่วมกับชมรมอาสาพัฒนา เอสซีจี ก่อสร้างอาคารเรียนเพื่อมอบให้โรงเรียนในถิ่นทุรกันดารที่ขาดแคลนอาคารเรียนอย่างต่อเนื่องตลอด 30 ปี เป็นอาคารเรียนชั้นเดียวขนาด 6 ห้อง

โดยความร่วมมือร่วมใจระหว่างชมรมอาสาพัฒนาสภากิจกรรม พนักงานเอสซีจี รวมถึงประชาชนในพื้นที่ ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียนเพื่อมอบให้สาธารณประโยชน์ไปแล้ว 30 หลัง อาคารสถานพยาบาล 2 หลัง ห้องน้ำขนาด 6 ห้อง จำนวน 4 หลัง โดยในปี 2554 นี้ อาคารเรียนหลังที่ 30 ถูกสร้างขึ้นที่โรงเรียนบ้านสำโหรง อ.กุยบุรี จ.ประจวบคิรีขันธ์ ซึ่งทุกหลังได้ถูกส่งมอบให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นสาธารณสมบัติเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนต่อไป

จากประสบการณ์ในการสร้างอาคารเรียนนี้เอง มูลนิธิซิเมนต์ไทยได้นำองค์ความรู้มาถ่ายทอดสู่สังคมในรูปแบบวีดิทัศน์ “กระบวนการก่อสร้างอาคารเรียนและห้องน้ำ” นำเสนอด้วยโปรแกรม 3 มิติ พร้อมคำอธิบายที่เข้าใจง่าย เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชน และจุดประกายให้องค์กรอื่นที่สนใจสามารถนำไปสร้างอาคารเรียนเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาต่อไป

“เราเห็นว่าครบ 30 ปีแล้ว องค์ความรู้ก็พอมีอยู่ เราคิดว่าราทำได้อย่างไร เราจะนำเสนอสิ่งเหล่านี้ให้คนอื่นๆ ทำได้บ้าง อาจไม่ถึงกับง่าย แต่ถ้าตั้งใจและมีความมุ่งมั่นจริงๆ คิดว่าทำได้ เราพยายามทำให้เป็นธรรมชาติมาก ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีอะไรมากมาย เราตั้งอยู่บนบริบทที่ว่าพนักงานหรือคนที่จะมาสร้างไปด้วยจิตอาสา ไม่ใช่ช่างฝีมือ เราจะทำเท่าที่ทำได้อย่างเต็มที่”

คุณสุรนุช ธงศิลา กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิซิเมนต์ไทย กล่าวถึงเจตนารมณ์ในการส่งต่อองค์ความรู้ไปสู่สังคม เพื่อให้องค์กรหรือหน่วยงานอื่นสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนด้านการศึกษาของเด็กไทย ซึ่งสามารถศึกษาวิธีการสร้างอาคารเรียนแบบง่ายๆ ได้จากวีดิทัศน์ 3 มิตินี้

“ถ้าเทียบกับจำนวนเด็กนักเรียนแล้ว นับว่าเรายังขาดแคลนห้องเรียนอีกพอสมควร ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ดูแลเด็กนักเรียนไทยทั่วประเทศ ขอเป็นตัวแทนของเด็ก ขอบคุณชาวค่ายอาสาทุกท่าน ทุกคนกระตือรือร้น มีจิตสาธารณะจริงๆ ความรู้สึกแบบนี้มันหาไม่ได้อีกแล้ว ไม่ได้พูดอย่างเดียว แต่ทำเป็นตัวอย่างให้เห็นด้วย เป็นคุณค่าที่ไม่อาจประเมินเป็นตัวเงินได้”

คุณผานิตย์ มีสุนทร ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สพฐ.กล่าวถึงความต้องการทางด้านอาคารเรียน รวมทั้งแสดงความขอบคุณชาวค่ายอาสาเอสซีจี รวมทั้งพี่น้องในพื้นที่ทุกท่านที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน คุณลุงสำเร็จ ทองสำเร็จ หนึ่งในสมาชิกชมรมอาสาพัฒนาเอสซีจี คือหนึ่งในรุ่นบุกเบิกของค่าย แม้ไม่ได้เป็นช่างก่อสร้างโดยตรง แต่ด้วยประสบการณ์ประกอบกับใจรักที่จะทำงานเพื่อสังคมโดยแท้จริง จึงได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจมาอย่างต่อเนื่อง และรู้สึกผูกพันกับค่ายอาสาจนเสมือนเป็นหนึ่งเดียวกันไปแล้ว และพร้อมสำหรับการถ่ายทอดความรู้ที่มีเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับรุ่นต่อๆ ไป

“ขอเชิญชาวพี่ๆ น้องๆ ที่ใจรักค่ายอาสาลองไปสัมผัสดูแล้วจะรู้สึกชอบใจจนไม่อยากที่จะเว้นวรรคเลย ผมทำมา 24 ปีแล้ว ในค่ายอาสาของเราบางคนเป็นบัญชี บางคนเป็นประชาสัมพันธ์ ทุกคนไม่ใช่ช่างก่อสร้าง แต่พอไปแล้วก็สามารถทำได้ และยิ่งมีวีดิทัศน์ให้ดูด้วยคิดว่าใครๆ ก็สามารถทำได้ ถ้าสนใจไปดูเป็นพื้นฐานในการสร้างอาคารเรียนก็จะเป็นประโยชน์”

ทุกวันนี้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการสร้างห้องเรียนจำนวน 10,000 ห้องต่อปี หรือคิดเป็นเพียง 1.20% ของความขาดแคลนทั้งหมด

ซึ่งนั่นยังไม่เพียงพอต่อจำนวนอนาคตของชาติทั้งประเทศ การที่หน่วยงานภาคเอกชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างห้องเรียนให้โรงเรียนในพื้นที่ขาดแคลนได้ จึงนับเป็นเรื่องที่ดี ที่จะช่วยกันส่งเสริมด้านการศึกษาของไทย นับเป็นการลงทุนด้านปัญญาที่คุ้มค่า เพราะเด็กเหล่านี้จะเป็นใครไปได้ ถ้าไม่ใช่ลูกหลานและอนาคตของพวกเราทุกคน

ผู้สนใจวีดิทัศน์ถอดบทเรียนสร้างอาคารเรียนเพื่อน้องชุด “กระบวนการก่อสร้างอาคารเรียนและห้องน้ำ” สามารถดาวน์โหลดผ่านเว็บไซต์ http://www.scgfoundation.org หรือมารับด้วยตนเองที่มูลนิธิซิเมนต์ไทย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หากต้องการคำแนะนำเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ มูลนิธิซิเมนต์ไทย เลขที่ 1 อาคาร 10 ถนนปูนซิเมนต์ไทย บางซื่อ กรุงเทพฯ 10800 โทร. 0 2586 5506

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net