พม.ติวเข้มผู้ปฏิบัติงานด้านเด็กทั่วประเทศ ช่วยแม่วัยเยาว์กลับคืนสู่สังคม

18 Apr 2011

กรุงเทพฯ--18 เม.ย.--พม.

วันนี้ (๑๘ เม.ย.๕๔) เวลา ๑๓.๐๐ น. ที่ห้องประชุมกษัตริย์ศึก ๒ โรงแรมเดอะทวิน ทาวเวอร์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ร่วมกับสมาคมนักศึกษาเก่าสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (กรุงเทพฯ) จัดการสัมมนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกลไกในการปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อมแก่ผู้ปฏิบัติงานด้านเด็ก เพื่อเป็นกลไกภาคปฏิบัติในการขับเคลื่อนการดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อม โดย นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีเปิด

นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานและจัดทำร่างยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อม เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติงานร่วมกันของภาคีเครือข่าย และยกระดับความสำคัญของการปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมให้เป็นที่ตระหนักในสังคม โดยนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ฯ แก่คณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดทั่วประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปเมื่อวันที่ ๒๑ ก.พ.๕๔ ที่ผ่านมา ได้แก่ ๑. สำรวจสถานการณ์ด้านเด็กและเยาวชนตั้งครรภ์ในพื้นที่ ๒. กำหนดนโยบาย มาตรการ หรือแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา เพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนกลุ่มใหม่ที่จะเข้าสู่สภาวการณ์ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ๓.ขยายระบบงานลงสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เพื่อเป็นกลไกหลักในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในชุมชน และ ๔.จัดกิจกรรมโครงการตามยุทธศาสตร์และจัดทำแผนปฏิบัติการระยะสั้น เพื่อให้ทุกจังหวัดมีการสร้างความตระหนักและรณรงค์ให้สังคมร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหา

นายอิสสระ กล่าวต่อว่า ในยุทธศาสตร์ฯ ยังได้ให้ความสำคัญกับพนักงานเจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานด้านเด็ก ได้แก่ พนักงานเจ้าหน้าที่ในการสงเคราะห์และคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กในภาครัฐและเอกชน และผู้ปฏิบัติงานด้านเด็กในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือเด็ก เริ่มตั้งแต่ ๑.ทราบว่าตนเองตั้งครรภ์ไม่พร้อม โดยให้การช่วยเหลือตั้งแต่การตรวจครรภ์ การให้คำปรึกษา การบำบัดฟื้นฟูด้านร่างกายและจิตใจ ๒. การช่วยเหลือระหว่างตั้งครรภ์ เช่น การพาเด็กไปตรวจครรภ์ การให้คำแนะนำเรื่องโภชนาการและการเลี้ยงดูบุตร หรือการประสานงานเพื่อจัดหาครอบครัวอุปถัมภ์ ในกรณีแม่วัยเยาว์ไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรได้ ๓.การช่วยเหลือเมื่อคลอดบุตรแล้ว ได้แก่ การจัดให้แม่วัยเยาว์พาบุตรไปตรวจสุขภาพและรับวัคซีนอย่างสม่ำเสมอ การให้ความรู้เรื่องการคุมกำเนิดและการป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำ ๔. การช่วยเหลือด้านการศึกษาและการมีงานทำ ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้เด็กและเยาวชนที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ได้กลับไปยืนอยู่ในสังคม โดยการช่วยให้เด็กได้กลับไปศึกษาต่อ หรือกรณีไม่สามารถกลับไปศึกษาต่อได้ ก็ได้รับการช่วยเหลือให้มีงานทำ ทั้งนี้ ในการปฏิบัติงานต้องปรับทัศนคติให้มีแนวคิดการให้อภัย และร่วมกันช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ให้ทำหน้าที่ในบทบาทต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม และประเมินสภาวะของเด็กและครอบครัวแต่ละรายก่อนวางแผนการให้คำปรึกษาช่วยเหลือ เนื่องจากแต่ละครอบครัวก็มีบริบทที่ต่างกัน รวมทั้งการช่วยเหลือให้เด็กยอมรับกับสภาวะปัญหาที่เกิดขึ้น และสามารถปรับตัวให้เข้ากับบุคคลแวดล้อมได้ นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญกับงานด้านป้องกัน เพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนกลุ่มใหม่ที่จะเข้าสู่การตั้งครรภ์ไม่พร้อม เช่น การให้ความรู้เรื่องการคุมกำเนิด บทบาทหญิงชาย รวมทั้งร่วมกับกลไกระดับนโยบาย ได้แก่ คณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อร่วมดูแลพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ซึ่งแนวทางเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานตามยุทธศาสตร์ฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ จะจัดให้มีการสัมมนาใน ๔ ภาค ระหว่างเดือน เม.ย.-มิ.ย. ๕๔ โดยการจัดสัมมนาในวันนี้ เป็นรุ่นที่ ๑ ที่ภาคกลาง มีผู้เข้าร่วมสัมมนา ประกอบด้วยผู้ปฏิบัติงานด้านเด็กใน ๒๕ จังหวัด จำนวน ๑๕๐ คน.