สช.ชี้ “สมัชชาสุขภาพ” เปิดพื้นที่ให้เสียงประชาชนกำหนดนโยบายชาติ

12 Jul 2011

กรุงเทพฯ--12 ก.ค.--สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

เวที ๑๐ ปีสมัชชาสุขภาพระดมเครือข่ายทั่วประเทศย้ำประเด็นเสียงประชาชนกำหนดนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ โชว์ต้นแบบภาครัฐ-ประชาชน อธิบดีกรมคุมประพฤติชี้ความสำเร็จ ๕๐๐ ศูนย์ยุติธรรมชุมชน คนสงขลาเสนอโมเดลขับเคลื่อนจังหวัดพอเพียง-ธรรมนูญสุขภาพตำบลแห่งแรก

วันที่ ๗-๘ ก.ค. ที่โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จ.เชียงใหม่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) เครือข่ายสมัชชาสุขภาพล้านนา และเครือข่ายสมัชชาสุขภาพทั่วประเทศ ร่วมจัดงาน “๑ ทศวรรษสมัชชาสุขภาพ : ย้อนอดีต ยลอนาคต สานพลังสรรค์สร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ” โดย นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการธิการ สช. กล่าวว่าสุขภาพเกี่ยวข้องกับทุกมิติของสังคม แต่ที่ผ่านมาประชาชนมักเป็นผู้รอรับและผิดหวังเสมอ ดังนั้นทุกภาคส่วนในสังคมควรมีส่วนร่วมจึงจะเกิดพลังกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อนำไปสู่ระบบสุขภาพที่ดี ขณะเดียวกันก็ต้องให้ความสำคัญและผลักดันให้เกิดสมัชชาสุขภาพรดับพื้นที่ด้วย

รศ.ดร.วิลาวัณย์ เสนารัตน์ ประธานกรรมการจัดประชุมฯ กล่าวว่าสิบปีแล้วที่สมัชชาสุขภาพเป็นคำตอบของสังคม ด้วยจุดเด่นที่เปิดกว้างให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการพัฒนา บนวิถีประชาธิปไตยที่งดงาม

“เสน่ห์ของสมัชชาสุขภาพคือเป็นเวทีสาธารณะของทุกคนที่เปิดพื้นที่ให้แก่เสียงประชาชนคนเล็กคนน้อยเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพของตน” ดร.วิลาวัณย์ กล่าว

ด้าน ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าที่ผ่านมารายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสุขภาพ(เอชไอเอ) เป็นเครื่องมือที่จำกัดอยู่เฉพาะการประเมินผลกระทบทางลบ ทั้งที่ทางบวกก็สามารถใช้สร้างทางเลือกให้ประชาชน นำไปสู่การผลักดันให้เกิดนโยบายรัฐ โดยการนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนรอบด้านและมากพอที่จะที่จะให้แต่ละฝ่ายรวมทั้งผู้มีอำนาจใช้ประกอบการตัดสินใจในทางเลือกที่ดีที่สุด ทั้งนี้คาดว่าทศวรรษหน้าวิธีการนี้จะเริ่มเข้ามามีบทบาทยิ่งขึ้น

“เวลาทำเอชไอเอเราควรประเมินผลกระทบของทางเลือกต่างๆในการพัฒนา แต่คงไม่มีตัวเลขที่ฟันธงว่าแบบไหนอย่างไร แต่บางครั้งรัฐหรือราชการคงมองต่างจากชาวบ้าน”

เผชิญ พลเทศ จากเครือข่ายแม่น้ำท่าจีน จ.นครปฐม กล่าวว่าเอชไอเอได้จุดพลังให้เกิดการเรียนรู้และตื่นขึ้นของชุมชนและคนตัวเล็กๆและภาคประชาชน เช่น กรณีคลองลัดท่าจีน หากทำคลองนี้ใช้เงินสามแสนกว่าล้าน เมื่อทำเอชไอเอได้เสนอว่าให้ขุดลอกคลองแทน โดยผลลัพธ์ด้อยกว่าแค่ร้อยละ ๒ในขณะที่ใช้งบประมาณเพียงแค่ ๘,000 ล้านบาท ต่างกันมหาศาล

ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการระบบสุขภาพมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่าการเสนอนโยบายสาธารณะที่ผ่านมาทำได้โดย ๑.เสนอจากหน่วยงานระดับล่างขึ้นบน ๒.เสนอผ่านพรรคการเมือง ๓.รวบรวมรายชื่อตามรัฐธรรมนูญ ช่องทางเหล่านี้เป็นเรื่องยากสำหรับชาวบ้าน จึงต้องใช้วิธีประท้วง จนมี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ๒๕๕๐ เกิดกระบวนการสมัชชา โอกาสประชาชนจึงเปิดกว้างยิ่งขึ้น

ด้าน ดร.อุทัย ดุลยเกษม อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่าสิ่งที่สมัชชาต้องทบทวนคือต้องช่วยให้ผู้ข้าร่วมกระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาวะที่ดี มีกระบวนการติดตามผลมากขึ้น และปรับตัวให้สอดคล้องกับการทำงานขององค์กรตระกูล ส. โดยเฉพาะสำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนส่งเสริมสุขภาพ เพื่อผลักดันนโยบายสาธารณะเชิงโครงสร้าง

ส่วนชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวว่าจากประสบการณ์การนำกระบวนการสมัชชาไปปรับใช้ในกระบวนการยุติธรรม โดยทำให้เกิด “ประชาคมชาวบ้าน”ที่ร่วมกันค้นปัญหา-หาคำตอบ โดยมีหน่วยงานรัฐคอยสนับสนุนจนนำไปสู่การจัดการความขัดแย้งในชุมชนได้

“มีศูนย์ยุติธรรมชุมชน ๕๐๐ กว่าศูนย์ ๘๐,๐๐๐ กว่าคนอยู่ในกระบวนการ จากเรื่องไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ค่อยๆแทรกสู่การขับเคลื่อนโดยชุมชนที่ช่วยกันสอดส่องป้องกันการทำผิดกฎหมาย”ชาญเชาวน์ กล่าว

ด้าน ชาคริต โภชะเรือง ผู้ประสานงานเครือข่ายสมัชชาสุขภาพสงขลา กล่าวว่าคนในท้องถิ่นจัดการปัญหาตัวเองได้ดีที่สุด และหากทำให้ชาวบ้านรู้สึกได้ว่าเขากำหนดแนวทางแก้ปัญหาและได้รับประโยชน์เอง ก็จะได้รับการยอมรับ ซึ่งกระบวนการสมัชชาตอบโจทย์นี้ได้ดี เพราะทุกขั้นตอนชาวบ้านมีส่วนร่วม

ชาคริต กล่าวว่าปัญหาในสงขลาจำแนกได้เป็น ๔ มิติ ๑.มิติเชิงระบบ ได้แก่ ระบบหลักประกันสุขภาพ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ๒.มิติสุขภาพเฉพาะกลุ่ม อาทิ เยาวชนและครอบครัว ผู้สูงอายุ วัยแรงงาน คนพิการ ผู้บริโภค ๓.มิติเฉพาะประเด็น เช่น อุบัติเหตุ เกษตร อาหาร สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ๔.มิติการสนับสนุน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้และการสื่อสารสาธารณะ

“ที่ผ่านมาแก้ปัญหาแยกส่วน ไม่มีเจ้าภาพ เราเริ่มใช้กระบวนการสมัชชาผนึกแนวร่วมที่เห็นปัญหาเดียวกันช่วยกันแก้ กระทั่งเกิดเป็นเครือข่าย ที่เข้มแข็งในทุกมิติปัญหา” ชาคริต กล่าว

ชาคริต ยังกล่าวว่ารูปธรรมที่เกิดขึ้นจากการแก้ปัญหาตามแนวทางดังกล่าว เช่น “ธรรมนูญสุขภาพตำบลแห่งแรก ต.ชะแล้” ซึ่งเป็นข้อตกลงชุมชนเรื่องสุขภาพ, ธรรมนูญลุ่มน้ำ ธรรมนูญกองทุนกลาง ฯลฯ