กรมควบคุมโรคเผยไทยประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคมาลาเรีย แต่ยังมีบางพื้นที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ!!!

01 Aug 2011

กรุงเทพฯ--1 ส.ค.--กรมควบคุมโรค

แม้ไทยจะประสบความสำเร็จในการควบคุมป้องกันโรคมาลาเรีย แต่ยังมีบางพื้นที่ ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะการระบาดของโรคอาจสูงขึ้น สาเหตุมาจากแรงงานต่างด้าว เชื้อดื้อยา และการระบาดของยาปลอม กรมควบคุมโรคเดินหน้าโครงการยับยั้งการแพร่เชื้อมาลาเรีย ตั้งเป้าภายใน 10 ปี จะสามารถควบคุมการแพร่เชื้อมาลาเรียได้อย่างถาวร ครอบคลุมพื้นที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของประเทศ

นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคมาลาเรียในประเทศไทย ตามการรายงานของสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค ว่าจำนวนผู้ป่วยมาลาเรียของไทยระหว่างเดือน มกราคม - มิถุนายน 2554 พบผู้ป่วยไทยจำนวน 6,440 ราย อัตราป่วยคิดเป็น 0.10 ต่อประชากรหนึ่งพันคน อัตราส่วนระหว่างเชื้อมาลาเรียชนิดฟัลซิปารั่ม (Plasmodium falciparum) และ เชื้อมาลาเรียชนิดไวแวกซ์ (Plasmodium vivax) เท่ากับ 1:3 จังหวัดที่มีผู้ป่วยมาลาเรียชาวไทยสูงสิบอันดับ ได้แก่ จังหวัดตาก จำนวน 1,924 ราย ,กาญจนบุรี 726 ราย ,แม่ฮ่องสอน 624 ราย , ชุมพร 331 ราย , เพชรบุรี 328 ราย, ยะลา 296 ราย ระนอง 282 ราย ,จันทบุรี 239 ราย,ประจวบคีรีขันธ์ 237 ราย และศรีสะเกษ 187 ราย เมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้ป่วยโรคมาลาเรียในช่วง 6 เดือนแรกของปีพ.ศ. 2554 กับ ปี พ.ศ. 2553 พบว่าจำนวนผู้ป่วยไทย ลดลงร้อยละ 42.90 และผู้ป่วยต่างชาติลดลงร้อยละ 14.81 จะเห็นได้ว่าการลดลงของจำนวนผู้ป่วยโรคมาลาเรียในประเทศไทยยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเพราะประเทศไทยสามารถดำเนินการควบคุมป้องกันการแพร่เชื้อมาลาเรียตามนโยบายองค์การอนามัยโลกได้อย่างมีศักยภาพ จากเดิมเมื่อ 10 ปีก่อน ผู้ป่วยโรคมาลาเรียในประเทศไทยจะมีมากถึงปีละกว่า 1 แสนคน แต่ปัจจุบันเหลือเพียงปีละกว่า 2 หมื่นคนเท่านั้น และมีถึง 29 จังหวัดในภาคกลางที่กลายเป็นพื้นที่ปลอดการระบาดของโรคมาลาเรีย

แม้ว่าประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการควบคุมป้องกัน โรคมาลาเรีย แต่ยังมีบางพื้นที่ที่การระบาดของโรคอาจมีโอกาสสูงขึ้น เนื่องจากการเข้ามาของผู้อพยพและแรงงานต่างด้าวที่มีจำนวนมาก ได้แก่ จังหวัด กาญจนบุรี แม่ฮ่องสอน เพชรบุรี และตราด โดยเฉพาะคนต่างด้าวที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนซึ่งมีอยู่กว่า 2 ล้านคน ซึ่งจะไม่มีสวัสดิการรักษาพยาบาล และไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน จึงอาจจะกลายเป็นต้นตอของการแพร่เชื้อได้ ทำให้ต้องมีการเฝ้าระวังผู้ป่วยมาลาเรียในพื้นที่ดังกล่าวให้มากขึ้น และยังคงต้องอาศัยความร่วมมือ ในการดำเนินงานกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ปัญหามาลาเรียชายแดนร่วมกัน โดยเฉพาะปัญหาการเคลื่อนย้ายของประชากร

อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวต่อว่านอกจากปัญหาแรงงานต่างด้าวแล้วยังมีปัญหาเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไข คือปัญหาเชื้อมาลาเรียดื้อยาและการระบาดของยาปลอม บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา แนวทางการควบคุมโรคมาลาเรียจึงต้องอาศัยระบบการเฝ้าระวังที่เข้มแข็งและต่อเนื่อง ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้และทักษะในการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคมาลาเรีย รวมทั้งการกระจายอำนาจเพื่อให้หน่วยงานระดับท้องถิ่นมีบทบาทดำเนินงานป้องกันควบคุมมาลาเรียที่ต้องดำเนินงานควบคู่ไปกับการจัดทำมาตรฐานงาน เพื่อให้หน่วยงานระดับท้องถิ่นสามารถดำเนินงานได้ด้วยตนเอง

เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติในการดำเนินโครงการยับยั้งการแพร่เชื้อมาลาเรียในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เมื่อต้นเดือน กรกฎาคม 2554ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรคได้จัด“การประชุมทศวรรษมุ่งสู่การยับยั้งการแพร่เชื้อมาลาเรียในประเทศไทย (2554-2563)”ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.เพื่อลดพื้นที่ที่มีการแพร่เชื้อมาลาเรีย ให้มีการแพร่เชื้ออยู่ในพื้นที่จำกัดเท่านั้น 2.เพื่อให้ผู้ป่วยมาลาเรียทุกรายเข้าถึงบริการการตรวจวินิจฉัยที่ได้มาตรฐานและได้รับการดูแลรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ 3.เพื่อลดปัญหาเชื้อมาลาเรียดื้อยาหลายขนานและลดการแพร่กระจายของเชื้อจากต้นกำเนิดไปสู่พื้นที่อื่น 4.เพื่อให้ประชากรกลุ่มเสี่ยงพิเศษและผู้อยู่ในพื้นที่ชายแดนได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงตามแนวทางมาตรฐานแห่งชาติ และ 5.เพื่อสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาการวินิจฉัย รักษาและควบคุมโรคมาลาเรีย โดยตั้งเป้าภายในระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ.2554-2563) จะสามารถยับยั้งการแพร่เชื้อมาลาเรียได้อย่างถาวรและคลอบคลุมพื้นที่ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 80 ของประเทศ โดยจะเฝ้าระวังเป็นพิเศษในพื้นที่ชายแดนและประชากรกลุ่มเสี่ยงพิเศษ เช่น กลุ่มคนกรีดยาง ในสวนยาง กลุ่มที่ทำไร่สับปะรดเป็นต้น อธิบดีกล่าวทิ้งท้าย ?

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2590-3862 กลุ่มเผยแพร่ สำนักเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค