หมอประเวศ เสนอ 6 แนวทางรับมือภัยพิบัติ จัดการภัยสุขภาวะ ชี้ไทยประสบภัยพิบัติขั้นวิกฤต ย้ำทุกฝ่ายร่วมมือ ชูชุมชน-ท้องถิ่นเป็นแกนกลาง

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

กรุงเทพฯ--6 ก.พ.--Today Communications

“ราษฎรอาวุโส” เสนอ 6 แนวทางในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เน้นจัดการปัญหาภัยพิบัติอย่างก้าวกระโดด ย้ำคนไทยต้องร่วมมือกล้าเผชิญวิกฤต ตั้งคณะกรรมการป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติจากผู้เชี่ยวชาญทุกภาคส่วน พร้อมกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ชุมชนเป็นแกนกลางจัดการภัยพิบัติ ขณะที่ “ภาครัฐ” ยัน พร้อมรับมติจากทุกภาคส่วนที่นำประโยชน์สู่ประชาชน วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ผู้ทรงคุณวุฒิ และราษฎรอาวุโส แสดงปาฐกถาในพิธีเปิดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 พ.ศ.2554 ในหัวข้อ "รับมือภัยพิบัติ จัดการสุขภาวะ" ว่าภัยพิบัติถือเป็นภัยหลวงที่กระทบต่อสุขภาวะของคนไทย ซึ่งคาดว่าน่าจะต้องเผชิญกับภาวะนี้อีกอย่างน้อย 20 ปี พร้อมระบุภัยพิบัติไม่ได้มีเพียงภัยธรรมชาติ แต่ภัยพิบัติคือการบรรจบของวิกฤตต่างๆ ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวิกฤตการเมือง ซึ่งอาจนำไปสู่สงครามการแย่งชิงทรัพยากร ศ.นพ.ประเวศ กล่าวต่อว่า วิกฤตที่ผ่านมาเกิดจากการคิดแบบแยกส่วน ซึ่งส่งผลทำให้สังคมขาดพลัง แนวทางที่ควรจะเป็นในการเผชิญหน้ากับวิกฤตวันหน้าคือ คนไทยต้องร่วมมือกัน ต้องเลียนแบบตัวอมีบ้า สัตว์เซลเดียว ที่ยามปกติ จะต่างคนต่างอยู่ แต่ในสภาวะวิกฤตก็จะกระจุกตัวกันเพื่อเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต “ทุกวันนี้ สังคมไทยใช้แต่สมองส่วนหลัง ซึ่งเป็นสมองของสัตว์เลื้อยคลาน ใช้แต่การต่อสู้ เต็มไปด้วยความเกลียด ความโกรธ ขณะที่สมองส่วนหน้าหดหาย ซึ่งเป็นส่วนของสติปัญญา ความรู้ จริยธรรมและศีลธรรม ดังนั้น เพื่อการพัฒนา ประเทศไทยต้องเข้าเกียร์ใหม่ เปลี่ยนจากเข้าเกียร์หลังมาเกียร์หน้าแทน” ในการแก้ปัญหาภัยพิบัติ จำต้องเชื่อมโยงส่วนที่แตกต่างเพื่อเผชิญภัยพิบัติและภัยสุขภาวะ โดยเสนอแนวทาง 6 ประเด็น คือ 1.คนไทยต้องเปลี่ยนโลกทัศน์ วิธีคิด จิตสำนึกใหม่ และตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เพราะคนไทยคิดเสมอว่าเราจะไม่ประสบภาวะวิกฤต จึงไม่มีใครเตรียมตัว เราต้องเพิ่มสมรรถนะเพื่อให้เกิดการตื่นตัวในข้อมูล 2.สร้างชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งทั่วประเทศเพื่อรับมือภัยพิบัติและจัดการภัยสุขภาวะ คือต้องสำรวจข้อมูลว่าภัยพิบัติในพื้นที่ของตนจะเกิดจากอะไรได้บ้าง จะป้องกันและรับมืออย่างไร ใครจะต้องทำอะไร จะต้องใช้เครื่องมืออะไรบ้าง จะสื่อสารให้รู้ทั่วถึงกันอย่างไร ทำการซักซ้อมการเผชิญภัยพิบัติอย่างสม่ำเสมอ 3. มหาวิทยาลัยทุกแห่งควรมีศูนย์ศึกษาภัยพิบัติ เพื่อศึกษาลักษณะของภูมิประเทศ และภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การร่วมมือ โดยร่วมมือระหว่างชุมชนกับท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด 4. มีระบบการสื่อสารที่สื่อสารให้รู้ความจริงถึงกันโดยทั่วถึง เพราะที่ผ่านมามีการสื่อสารสับสน จนไม่รู้ว่าอะไรคือความจริง 5.มีเครื่องมือการตัดสินใจทางนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติในทุกเรื่อง เพราะระบบรัฐ ระบบราชการและระบบการเมืองที่ผ่านมาเป็น “ระบบอำนาจ” ไม่ใช่ “ระบบปัญญา” จึงแก้ปัญหาอะไรไม่ค่อยได้ รวมทั้งควรมีการตั้งคณะกรรมการป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติ ซึ่งนอกจากมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีหัวหน้าส่วนงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการแล้ว ควรมีกรรมการเสียงข้างมากที่รู้จริง ที่มาจากผู้นำชุมชน นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญการสื่อสาร และมีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระเพื่อสรรหาผู้มีความสามารถมาบริหารยุทธศาสตร์ และทำงานต่อเนื่องยาวนาน ไม่ใช่เป็นเพียงส่วนราชการที่เต็มไปด้วยข้าราชการที่ไม่มีสมรรถนะ เสี่ยงต่อความล้มเหลว และ 6.ออกพระราชบัญญัติป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติ มีการรวบรวมความรู้ที่เกี่ยวกับภัยพิบัติทั้งหมดมาบัญญัติเป็นกฎหมาย เพื่อกำหนดอำนาจหน้าที่ของทุกภาคส่วน ตัวอย่างเช่นประเทศเยอรมนี มีกฎหมายน้ำท่วม คือหากให้ข่าวที่ไม่จริงจะถูกจับ เพราะถือเป็นการทำร้ายสังคม ขณะที่ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า สมัชชาสุขภาพเป็นการรวมตัวระหว่างเครือข่ายหลายภาคส่วน นำไปสู่ข้อสรุป ซึ่งท้ายสุด คนที่ได้ประโยชน์ที่แท้คือ “ประชาชน” ในฐานะตัวแทนภาครัฐ ยินดีสนับสนุนและผลักดันมติเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย “ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก จนปัจจุบันยังไม่สามารถฟื้นฟูเข้าสู่ภาวะปกติได้ แม้จะใช้การจัดการจากทุกภาคส่วน ซึ่งในส่วนของรัฐบาลจะเน้นนโยบายระยะยาว โดยเตรียมพร้อมเรื่องการผลักดันพระราชกำหนดเพื่อรับมือกับภัยพิบัติโดยเฉพาะ เช่น เรื่องการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งต้องเร่งดูแลแก้ปัญหาในภาพรวมเพื่อให้ประเทศพ้นจากวิกฤต และเกิดความเชื่อมั่น “ในฐานะที่ดูแลด้านสาธารณสุขก็จะนำมติเหล่านี้ไปปฏิบัติให้เกิดผล แต่ยอมรับว่าหลายส่วนยังไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติ เช่น เรื่องเหตุฉุกเฉิน ระบบส่งต่อ เรื่องยารักษาโรค การแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งต้องเร่งปรับปรุงแก้ไข แต่สิ่งที่อยากฝากคือการจะผ่านพ้นวิกฤติได้ “คนไทยต้องไม่ทิ้งกัน” นางปรีดา คงแป้น กรรมการสมัชชาปฏิรูป กล่าวว่า ภัยที่เราประสบอยู่ทุกวันนี้ไม่ใช่แต่ภัยจากธรรมชาติ แต่ยังมีภัยจากน้ำมือมนุษย์ ซึ่งภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นเสมือนสัญญาณเตือนมนุษย์ว่าไม่ให้เราโลภ หรือหลงกับการพัฒนา ไม่ให้เราใช้ทรัพยากรอย่างทารุณ “ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นได้สร้างความเสียหายอย่างประเมินค่าไม่ได้ มีคนเดือดร้อนจำนวนมาก และที่ผ่านมา การช่วยเหลือของหลายหน่วยงานมีข้อจำกัด เช่น ไม่มีแผนรับมือ ระบบที่วางไว้เกิดขัดข้อง หรือขาดความยืดหยุ่น ดังนั้น แนวทางการแก้ปัญหาที่ดีสุดคือให้ชุมชนเป็นแกนกลางในการจัดการภัยพิบัติเอง เนื่องจากเป็นด่านแรกที่ได้รับผลกระทบ” กรรมการสมัชชาปฏิรูป กล่าวว่า เราต้องพลิกวิกฤตเป็นโอกาสคือ1.ต้องผลักดันความเดือดร้อนประชาชนให้นำไปสู่การพัฒนา 2.บรรเทาความเดือดร้อนที่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 3.สนับสนุนให้ “คนใน” ดูแลกันเอง 4.กระจายความช่วยเหลือสู่ผู้เดือดร้อนเองเพื่อความรวดเร็ว และตัดวงจรการทุจริต 5.สร้างความผูกพัน ทำให้หลายชุมชนก้าวผ่านความชัดแย้ง 6.กระบวนการเยียวยาจิตใจให้มีพลัง ตั้งหลักเดินหน้า 7.พัฒนาศักยภาพชุมชนเชิงโครงสร้างสู่การร่วมมือจัดกันระยะยาว และ 8.สร้างจิตสำนึกสาธารณะ พลิกจากชุมชนประสบภัยเป็นชุมชนแห่งการป้องกันภัย มีการพัฒนาแนวราบแทนแนวดิ่ง ซึ่งทั้งหมดจะนำไปสู่การจัดการให้ชุมชนมีแผนรับมือภัยพิบัติอย่างยั่งยืน ซึ่งรัฐบาลที่ใช้งบประมาณแก้ไขปัญหาดังกล่าวกว่า 3.5 แสนล้านบาท จะต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย ด้าน นายวิชัย บรรดาศักดิ์ นายกเทศมนตรีนครปากเกร็ด กล่าวว่า นครปากเกร็ดถือเป็นท้องถิ่นเล็กๆ แต่ทุกฝ่ายพยายามบริหารจัดการโดยเน้นการเข้าถึงพื้นที่ เข้าใจภาพรวมพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาเข้าใจว่ามีหลายท้องถิ่นที่พยายามปกป้องพื้นที่ตนเอง บางที่ก็สำเร็จ บางที่ก็ประสบปัญหา แต่สิ่งที่สะท้อนท้ายสุดคือการทำให้ทุกพื้นที่เกิดความร่วมมือร่วมใจ จากภัยพิบัติที่ผ่านมาทำให้มองเห็นว่าชุมชนมีกระบวนการแก้ปัญหาซึ่งไม่มีสูตรสำเร็จที่ตายตัว แต่ต้องอาศัยคนในชุมชนแต่ละพื้นที่ร่วมกันหารูปแบบที่เหมาะสมของตนเอง เพื่อนำไปสู่การจัดการและการรับมือที่ดี ตัวอย่างจากพื้นที่นครปากเกร็ด ทีมงานมีการประเมินตลอดว่าเป็นพื้นที่ลุ่มแม่น้ำ ทำให้ต้องสร้างแผนป้องกันสาธารณภัยโดยปรับปรุงทุกปี เพราะภัยพิบัติแต่ละครั้ง บริบทของปัญหาต่างกัน ส่วนหนึ่งที่สำเร็จคือมีกำลังคน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณพอสมควร รวมทั้งมีการสื่อสารทำความเข้าใจผ่านเครือข่ายชุมชนเพื่อสร้างความมั่นใจ สร้างขวัญและกำลังใจให้คนในพื้นที่ อย่างไรก็ตามคงไม่มีใครสามารถจัดการปัญหาได้สำเร็จเพียงลำพัง โดยเฉพาะปัญหาภัยพิบัติดังนั้น ข้อเสนอคือรัฐต้องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้มากขึ้น ให้ท้องถิ่นสามารถนำทรัพยากรมาแก้ปัญหาภัยพิบัติแบบบูรณาการ ส่วนภาครัฐผันตัวเป็นฝ่ายสนับสนุนทั้งเรื่องงบประมาณและข้อมูลที่ถูกต้อง ติดตามความเคลื่อนไหวสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้ทาง www.samatcha.org ติดตามชมการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้ทาง www.healthstation.in.th -นท- สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

ข่าวสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ+ประเวศ วะสีวันนี้

"อนุทิน" ปลื้ม ! WHO ยกย่องเวที 'สมัชชาสุขภาพไทย' บันทึกเป็น 'ผลงานเด่น' เผยแพร่ทั่วโลก

"อนุทิน" เปิดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ย้ำบทเรียนความสำเร็จคุมโควิด-19 ของไทย เกิดจากบูรณาการทุกภาคส่วน ชี้สงครามโรคครั้งนี้ยังไม่ยุติ จำเป็นต้องเว้นระยะห่างทางสังคมต่อไป ด้านผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ชี้ กระบวนการสมัชชาสุขภาพไทย เป็นกลไกที่ทรงพลัง พร้อมบันทึกเป็น "ผลงานเด่น" ในคู่มือ WHO เผยแพร่ทั่วโลก เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่าย ได้จัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ประจำปี 2563

เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๑๐ ปิดฉา... สู่ทศวรรษที่สอง 'สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ’ นโยบายสาธารณะเพื่อปฏิรูปสังคมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน — เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๑๐ ปิดฉากอย่างยิ่งใหญ่ ประกาศ...

พระสงฆ์ทั่วประเทศพร้อมขับเคลื่อนธรรมนูญสุ... รวมพลังเคลื่อน 'ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ’ วางเป้า ๑๐ ปี พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข — พระสงฆ์ทั่วประเทศพร้อมขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งช...

เปิดฉาก 'สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ' ครั้งที่ ๑... เปิดฉาก 'สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ’ ครั้งที่ ๑๐ หาฉันทมติ ๔ ระเบียบวาระ — เปิดฉาก 'สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ' ครั้งที่ ๑๐ หาฉันทมติ ๔ ระเบียบวาระ 'เพิ่มกิจกรรมทางกา...

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ (ที่2จากซ้าย) หัวหน้... ภาพข่าว: สู่ทศวรรษใหม่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 — นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ (ที่2จากซ้าย) หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุ...

เครือข่ายลดบริโภคเค็มและองค์การอนามัยโลก จัดงาน “การประชุมพิจารณามาตรการการควบคุมโซเดียมในอาหาร”

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับ เครือข่ายลดบริโภคเค็มและองค์การอนามัยโลก ได้ร่วมมือกันในการผลักดันการลดการบริโภคโซเดียมตามความมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ในเรื่องการลดบริโภค...