เสริมพลังเรียนรู้ยุคใหม่ สร้างแรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์ให้เยาวชน “เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 7”

18 Jan 2012

กรุงเทพฯ--18 ม.ค.--สสวท.

“ แม้ร่างกายจะอยู่กับเรามาชั่วชีวิต แต่มันมีด้านลึกลับอีกมากมายที่เรายังไม่รู้จัก”

“ การบินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไม่ได้เป็นอุดมคติอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง”

“ หนูตะเภาเป็นสัตว์ที่เป็นมิตรและน่ารักน่าเอ็นดู แต่เรารู้หรือไม่ว่ามันมีอดีตอย่างไร”

“ ทุกปีลมพายุรุนแรงได้ทำลายพื้นที่ทั่วโลก รู้หรือไม่ว่าความเร็วลมประเภทใด

และระดับไหนสามารถทำอันตรายผู้คนได้”

“ คนทั้งโลกจะมีอาหารเพียงพอได้อย่างไร?” จากคำถามท้าทายเหล่านี้ มาร่วมกันหาคำตอบได้ในเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 7 ที่กำลังเดินทางมาสร้างแรงบันดาลใจทางวิทยาศาสตร์ให้น้องๆ เยาวชนไทยในเดือนมกราคมนี้

จากความร่วมมือของ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สถาบันเกอเธ่ และสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส รวมทั้งหน่วยงานพันธมิตรร่วมอุดมการณ์ ได้จัดงานเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 7 ขึ้น และจัดพิธีเปิดเทศกาลในวันที่ 17 มกราคม 2555 เวลา 14.00 น. – 16.30 น. ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตรืและเทคโนโลยี(สสวท.) (นางพรพรรณ ไวทยางกูร) เอกอัครราชทูตแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย (ฯพณฯ โรฟ ชูลส์) และที่ปรึกษาอันดับหนึ่ง สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย (นายญันน์ ปราโด) พร้อมชมภาพยนตร์เปิดเทศกาลเรื่อง “Of Forest and Men” จากช่างภาพชาวฝรั่งเศส “ญาณ อาร์ตุส แบร์ทร็อง” ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ Good Planet โดยจะถ่ายทอดให้เห็นความงดงามตระการของธรรมชาติจากมุมสูง และความสัมพันธ์ระหว่าง “ป่าและคน” เพื่อให้ทุกคนตระหนักและเห็นความสำคัญ คุณค่าของป่าไม้ ระบบนิเวศที่มีอิทธิพลต่อทั้งมนุษย์และสัตว์ รวมถึงสิ่งมีชีวิตเล็กๆซึ่งมีความสัมพันธ์ต่อกัน ในโอกาสที่องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้ปี 2554 เป็น “ปีสากลแห่งป่าไม้”

ดร. พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่า สสวท. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนให้เยาวชนไทยระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความรู้ความสามารถทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ทัดเทียมกับนานาชาติ จึงต้องใช้กลยุทธ์หลากหลาย และพัฒนาสื่อการเรียนการสอนให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาสาระได้ง่าย ดังนั้น การใช้ “ภาพยนตร์” ที่มีทั้งเสียงและภาพเคลื่อนไหว ความสนุกสนานบันเทิง จะช่วยให้เยาวชนไทยเข้าใจในเรื่องวิทยาศาสตร์ได้ง่ายขึ้น เกิดความคุ้นเคย และตระหนักว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัวและเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และความสนุกสนานเพลิดเพลินที่ได้จากภาพยนตร์อาจนำเยาวชนไทยไปสู่โลกและสังคมแห่งการเรียนรู้ได้ในอนาคต

“จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ของการจัดเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่องทั้ง 6 ครั้ง พบว่ามีกระแสตอบรับเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะครั้งล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมาได้ขยายไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้มีจำนวนผู้ชมรวมกันมากถึง 130,000 คน นับเป็นเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ที่มีผู้ชมมากที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับเทศกาลประเภทเดียวกัน”

ในปี พ.ศ. 2553 ที่ผ่านมา มีผู้เข้าชมเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ครั้งที่ 6 ในประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 88,556 คน และปีที่ผ่านมายังเป็นปีแรกที่ได้ขยายการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ไปยังประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีจำนวนผู้เข้าชมภาพยนตร์ทั้งประเทศไทย อินโดนีเชีย ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา มากถึง 130,000 คน ซึ่งนับว่าเป็นงานเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับงานเทศกาลประเภทเดียวกัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 มีประเทศที่จัดงานเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นอีก 2 ประเทศ คือ ประเทศมาเลเซีย และประเทศเวียดนาม

เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ครั้งที่ 7 ปีนี้ มีภาพยนตร์ได้รับคัดเลือกให้จัดฉายทั้งหมด 26 เรื่อง จาก 7 ประเทศ คือ ออสเตรีย ฝรั่งเศส เวียดนาม เบลเยียม เยอรมนี ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย โดยแบ่งภาพยนตร์เป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1) ภาพยนตร์สาระบันเทิง เช่น “7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก” “นักข่าวหัวเห็ดในป่าฝน” “นักโบราณคดีเกี่ยวกับสัตว์” 2) ภาพยนตร์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น “ไม่มีปะการังก็ไม่มีมัลดีฟส์” “ตำนานป่า ตอน อาณาจักรเงา” 3) ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ทั่วไป การแพทย์และเทคโนโลยี เช่น “มรดกของสัตว์โลกในตัวคุณ” “เอกภพแห่งมหาสมุทร” และ 4) ภาพยนตร์วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ เช่น “พิทักษ์ป่าบนเกาะปาปัวนิวกิเนีย” “เลอาตามรอยกอริลล่านักสำรวจรุ่นจิ๋วในแอฟริกา” เป็นต้น โดยภาพยนตร์ทุกเรื่องบรรยายภาษาไทย เพื่อความสนุกสนาน และเพลิดเพลินผ่านเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ที่น่าพิศวง

ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าวเชิญชวน นักเรียน ครู และผู้ปกครองที่สนใจ สามารถพาลูกหลานมาชมภาพยนตร์วิทยาศาสตร์นานาชาติครั้งนี้ได้ ตามพื้นที่ต่างๆที่อยู่ใกล้เคียง เพราะหนึ่งปีมีเพียงครั้งเดียวภาพยนตร์วิทยาศาสตร์จากนานาชาติเหล่านี้จะเป็นสื่อเรียนรู้สำหรับเยาวชนไทย เพื่อเสริมสร้างกระบวนการคิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์จินตนาการผ่านโลกบันเทิง เป็นการเรียนรู้วิทยาศาสตร์จากภาพยนตร์ ส่งผลให้เยาวชนไทยสามารถพัฒนาเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เพื่อขจัดความหวาดกลัวที่จะเรียนรู้วิทยาศาสตร์ต่อไปในอนาคต แม้การจัดงานปีนี้จะล่าช้ากว่าประเทศอื่น เนื่องจากอุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 7 พร้อมเปิดตัวแล้วสำหรับน้องๆเยาวชนไทย ซึ่งได้กระจายการจัดฉายภาพยนตร์ไปตามศูนย์วิทยาศาสตร์ภูมิภาคต่างๆ 15 แห่ง โดยจะเริ่มจัดฉายตั้งแต่วันที่ 17-31 มกราคม 2555 นี้

นอกจากนี้ยังมีศูนย์ฉายภาพยนตร์ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานร่วมจัดต่าง ๆ เริ่มจัดฉายภาพยนตร์ระหว่างวันที่ 18-31 มกราคม 2555 ได้แก่ 1) ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลองเอกมัย ) กรุงเทพมหานคร 2) อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย สวทช. อ. คลองหลวง จ.ปทุมธานี 3) หอภาพยนตร์ ศาลายา จ.นครปฐม 4) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) รังสิตคลอง 5 อ. ธัญบุรี จ. ปทุมธานี 5) จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. จามจุรีสแควร์ กรุงเทพมหานคร 6) อุทยานการเรียนรู้ TK Park เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร 7) อุทยานการเรียนรู้เมืองนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช 8) โรงภาพยนตร์เอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ งามวงศ์วาน กรุงเทพมหานคร

ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่www3.ipst.ac.th/sciencefilm หรือ http://www.goethe.de.sciencefilmfestival โทร. 02-7123758 ต่อ 1245,1249

เชิญร่วมสัมผัสความจริง ผ่านจินตนาการทางศิลปะ จาก “หนังวิทยาศาสตร์” ความพิศวงของชีวิตจะถูกคลี่คลายลงด้วยคำตอบจากวิทยาศาสตร์