อพวช. ชวนชมภาพยนตร์วิทยาศาสตร์คุณภาพในงาน “เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ประเทศไทย ครั้งที่ 11”

28 Oct 2015
อพวช. ร่วมกับสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จัด "เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ประเทศไทย ครั้งที่ 11" ภายใต้หัวข้อ "ปีสากลแห่งแสง" รวบรวมภาพยนตร์ สารคดีวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับแสง จาก 11 ประเทศทั่วโลกมาฉาย พร้อมจัดกิจกรรมการทดลองทางด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อเติมเต็มสาระความรู้ ทั้งที่ อพวช. ต.คลองห้า อ. คลองหลวง จ.ปทุมธานี, จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. อาคารจัตุรัสจามจุรี สามย่าน และในงานคาราวานวิทยาศาสตร์ อพวช. ตามจังหวัดต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน – 20 ธันวาคม 2558

นายสาคร ชนะไพฑูรย์ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ (อพวช.) กล่าวว่า "เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ประเทศไทย ครั้งที่ 11" หรือ Science Film Festival ในปีนี้ได้คัดเลือกภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับแสง เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง "ปีสากลแห่งแสง" (International Year of Light 2015) ถึง 23 เรื่องจาก 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรีย เบลเยียม แคนาดา เดนมาร์ก เยอรมัน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นอร์เวย์ ฟิลิปปินส์ และอังกฤษ โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.) ประเภทภาพยนตร์สาระบันเทิง อาทิ รายการ เปิดโลกวิทยาศาสตร์ ตอน ท้องฟ้าทอรุ้ง จากประเทศญี่ปุ่น ชวนผู้เข้าชมมาหาคำตอบว่าเราจะสามารถทำให้ท้องฟ้าเต็มไปด้วยสายรุ้งได้หรือไม่ โดยนักทดลองจะนำละอองน้ำและน้ำเกลือ มาสร้างสายรุ้งหลายขนาด ซึ่งสารคดีนี้มีการใช้น้ำและน้ำเกลือในปริมาณมหาศาล พร้อมทั้งยังได้ถ่ายทำที่แอ่งเกลือร้างในไต้หวันอีกด้วย รายการ เก้านาทีครึ่ง ตอน ราตรีสว่าง มลภาวะจากแสงไฟ จากประเทศเยอรมัน ภาพยนตร์ที่สร้างความตระหนักให้กับสังคมได้เห็นว่า ความสวยงามจากแสงไฟในยามค่ำคืน กำลังกลายเป็นปัญหาทำลายสิ่งแวดล้อม และพระจันทร์มีบทบาทอย่างไรในยามค่ำคืน เราจะปกป้องสิ่งแวดล้อมจากมลภาวะได้อย่างไร และ 2.) ประเภทภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ทั่วไป การแพทย์และเทคโนโลยี อาทิ แสงเหนือ ประสบการณ์มหัศจรรย์ จากประเทศนอร์เวย์ สารคดีที่เราจะได้เดินทางสำรวจแสงเหนือจากภาพดาวเทียมของนาซา ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของแสงเหนือ รวมถึงการค้นพบของ คริสเตียนเบิร์คแลนด์ และการทดลองของเทอร์เรลลา รายการ มองโลก ตอน เลนนาร์ทพูดผ่านตา จากประเทศเยอรมัน เรื่องราวของเด็กชายวัย 11 ขวบ ที่อาศัยอยู่ในกรุงฮันโนเวอร์ ประเทศเยอรมัน ที่ไม่สามารถขยับแขนขาได้เนื่องจากเป็นอัมพาตในสมองแต่กำเนิด และพูดไม่ได้เพราะเส้นเสียงไม่ทำงาน แต่เลนนาร์ทสามารถสื่อสารผ่านสายตา ด้วยคอมพิวเตอร์แปลคำพูดที่เรียกว่า "ทอล์คเกอร์" โดยเขาควบคุมเครื่องนี้ด้วยดวงตาจากกล้องอินฟราเรดที่บันทึกการขยับของดวงตาเขา ทำให้เขาสามารถไปโรงเรียนได้ตามปกติ

นอกจากการจัดฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ดังกล่าวแล้ว อพวช. ยังได้จัดให้มีกิจกรรมการทดลองพิเศษเกี่ยวกับแสงประกอบภาพยนตร์ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เข้าชมเข้าใจในวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่ความสนใจเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น ได้แก่ กิจกรรมรุ้งทำมือ เรียนรู้การเกิดรุ้งพร้อมทดลองสร้างรุ้งด้วยตนเอง กิจกรรมปั่นสี เรียนรู้เรื่องการผสมแสงสีจากการมองเห็น โดยการนำแม่สีที่อยู่บนลูกข่างมาปั่น แล้วสังเกตสีที่ได้ กิจกรรมเครื่องผสมแสง เรียนรู้เรื่องการผสมแสงสี ผ่านแสงและกระดาษแก้ว ซึ่งจะทำให้เกิดสีที่ต่างออกไป และเกมส์ตามหาดวงจันทร์ที่เลียนแบบการเดินทางของแมลงเมื่อเห็นแสงไฟ ซึ่งผู้เข้าชมจะได้เข้าใจถึงการเดินทางของแมลงเมื่อเห็นแสงไฟ

โดย อพวช. จัดฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์และจัดกิจกรรมการทดลองใน 3 แห่งด้วยกัน ได้แก่ อพวช. (พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์, พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ) ต.คลองห้า อ. คลองหลวง จ.ปทุมธานี และจัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช อาคารจัตุรัสจามจุรี สามย่าน พิเศษในปีนี้ อพวช. ยังนำภาพยนตร์ไปจัดฉายเพิ่มในกิจกรรมคาราวานวิทยาศาสตร์ อพวช. ตามจังหวัดต่าง ๆ อาทิ โรงเรียนบึงกาฬ จ. บึงกาฬ โรงเรียนนาแกสามัคคีวิทยา จ.นครพนม โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ จ.กาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จ.นครราชสีมาโรงเรียนจักรคำคณาทร จ. ลำพูน ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามและสำรองที่นั่งได้ที่ 0 2577 9999 ต่อ 2108 และ 2109