กรมสรรพากรเพิ่มเครือข่ายการให้บริการยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีทางอินเทอร์เน็ต กับธนาคารเจพีมอร์แกน เชส สาขากรุงเทพฯ

10 Jan 2012

กรุงเทพฯ--10 ม.ค.--กรมสรรพากร

ดร.สาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร และนายสุรธันว์ คงทน ผู้จัดการธนาคารเจพีมอร์แกน เชส สาขากรุงเทพฯ ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงการให้บริการยื่นแบบแสดงรายการภาษี และชำระภาษีทางอินเทอร์เน็ต โดยมีผู้บริหารของทั้งสองหน่วยงานรวมทั้งสื่อมวลชนร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีดังกล่าว ซึ่งจัดขึ้น ณ ห้องพระอุเทน 2 อาคารกรมสรรพากร

ดร.สาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “การจับมือกับธนาคารเจพีมอร์แกน เชส สาขากรุงเทพฯ ครั้งนี้ เป็นการขยายเครือข่ายผู้ให้บริการรับชำระภาษีทางอินเทอร์เน็ต จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 22 สถาบัน และมีช่องทางการรับชำระภาษีในหลากหลายรูปแบบ เพื่อความสะดวกของผู้เสียภาษี ไม่ว่าจะเป็นระบบ ATM, Internet Banking, Tele/Phone Banking, Mobile Banking, e-Payment, Bank Counter, Tax Smart Card และล่าสุดชำระด้วยบัตรเครดิต ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้เสียภาษีเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี โดยในปี 2554 มีผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีทางอินเทอร์เน็ตจำนวนกว่า 6.5 ล้านราย และในปี 2555 ได้จับมือกับธนาคารเจพี มอร์แกนเชส สาขากรุงเทพฯ เพิ่มเครือข่ายของผู้ให้บริการและรับชำระภาษีทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งกลุ่มลูกค้าโดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนักลงทุน สถาบันการเงิน และกลุ่มนิติบุคคล เพื่ออำนวยความสะดวกในการยื่นและชำระภาษี ให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ปลอดภัย และสะดวกมากขึ้น” นายสุรธันว์ คงทน ผู้จัดการธนาคารเจพีมอร์แกน เชส สาขากรุงเทพฯ กล่าวว่า “ธนาคารมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมกับกรมสรรพากรในการให้บริการชำระภาษีของลูกค้า และสนับสนุนรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้ช่องทางการชำระเงินทางอิเลคทรอนิกส์ซึ่งมีระบบความปลอดภัยสูง ในฐานะที่ธนาคารเจพีมอร์แกนฯ เป็นธนาคารต่างประเทศชั้นนำระดับโลกซึ่งให้บริการบริหารเงินสด (Cash management) แก่บริษัทต่างๆ และสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศอย่างครบวงจร ดังนั้นธนาคารเจพีมอร์แกนฯ จะดำเนินการลงทุน รวมทั้งขยายขอบเขตบริการของธนาคารฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งนิติบุคคลและสถาบันการเงินต่อไป” ทั้งนี้ ผู้เสียภาษีสามารถใช้บริการยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษี โดยผ่านระบบ J.P.Morgan ACCESS ของธนาคารฯ โดยไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบแต่อย่างใด เนื่องจากระบบของธนาคารนั้นสามารถรองรับทั้งหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีรูปแบบเก่าจำนวน 10 หลัก และรูปแบบใหม่จำนวน13 หลัก จากขั้นตอนชำระภาษีดังกล่าวจึงทำให้ผู้เสียภาษีสามารถประหยัดทั้งเวลาและต้นทุนในการจัดการชำระภาษี ซึ่งกรมสรรพากรมุ่งมั่นที่จะเพิ่มศักยภาพการให้บริการผ่านเครือข่ายกับสถาบันการเงินทั่วประเทศ เพื่อรองรับการให้บริการแก่ ผู้เสียภาษีอย่างทั่วถึงและได้รับความพึงพอใจอย่างสูงสุด