ทนายเบเคอร์ออกแถลงการณ์กรณี DSI เรียก TTA สอบ

26 Dec 2011

กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--แฟรนคอม เอเชีย

ในฐานะตัวแทนทางกฎหมายของบริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ (“TTA”) คุณวินท์ ภักดีจิตต์ กรรมการ จากสำนักกฎหมาย เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ประเทศไทย ได้ให้ความเห็นต่อ ข้อกล่าวหาของผู้ถือหุ้นที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ซึ่งมีเนื้อความเป็นการตั้งข้อกล่าวหาต่อ ม.ล. จันทรจุฑา จันทรทัต กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และนางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบัญชีและการเงิน ผู้บริหารของ TTA ดังต่อไปนี้

1. การตัดสินใจลงทุนในบริษัท ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส (UMS) ของ TTA นั้นเป็นการดำเนินการหลังจากที่ได้มีการ วิเคราะห์ตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดอย่างถี่ถ้วนรอบคอบ โดยมีที่ปรึกษาทางการเงินและการลงทุนเข้ามาดูแล และให้คำปรึกษาแนะนำทุกขั้นตอน ทาง TTA ได้รับแจ้งให้ไปรับฟังข้อกล่าวหาดังกล่าวในวันที่ 20 ธันวาคม ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ผู้บริหารของ TTA ได้รับหมายเรียกพนักงานสอบสวนในเรื่องดังกล่าวนี้ จากข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่ เรามั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้บริหารของ TTA จะสามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนได้ เนื่องจากการลงทุนใน UMS ของ TTA นั้น กระทำด้วยความโปร่งใสและเป็นไปตามขั้นตอนการเข้าซื้อกิจการอันสมควรแล้ว

2. ตามข้อมูลในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นบริษัท ผู้ถือหุ้นรายย่อยสองรายที่เป็นผู้ดำเนินการฟ้องร้องในครั้งนี้มีรวมกันทั้งหมด 146 หุ้น หรือคิดเป็นมูลค่ารวม 2,774 บาท (ราคาปิดตลาด ณ วันที่ 20 ธันวาคม 2554) เท่านั้น ซึ่ง TTA และผู้บริหารของบริษัทยืนยันว่า พร้อมที่จะอธิบายและให้ข้อมูลหักล้างข้อกล่าวหาดังกล่าวของผู้ถือหุ้นทั้งสองรายได้ โดยเชื่อว่าผู้ถือหุ้นทั้งสองรายคงดำเนินการดังกล่าวไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ

3. อย่างไรก็ดี หาก TTA พบว่ามีการกระทำใดๆ ที่พยายามจะสร้างความสับสนแก่นักลงทุน หรือทำให้ภาพลักษณ์ของ TTA เสียหาย หรือทำให้ธุรกิจของบริษัทต้องหยุดชะงัก TTA ก็จำเป็นจะต้องดำเนินการทางกฎหมายต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง ปกป้องมิให้ภาพลักษณ์และการดำเนินธุรกิจของ TTA ได้รับความเสียหาย

4. เราขอเรียนย้ำว่า จนถึงบัดนี้ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็ยังมิได้ตั้งข้อกล่าวหาใดๆต่อผู้บริหารของ TTA จากเหตุข้อกล่าวหาของผู้ถือหุ้นดังกล่าว อย่างไรก็ดี เนื่องจาก ผู้ถือหุ้นทั้งสองราย ได้ยื่นเรื่องกับทางกรมสอบสวนคดีพิเศษโดยตรง DSI จึงต้องรับคำร้องดังกล่าวไว้ เพื่อพิจารณาและสอบสวนตามหน้าที่ของตน โดย TTA ยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับ DSI อย่างเต็มที่ในการสอบสวนกรณีนี้ และเราก็เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าบริษัทจะสามารถพิสูจน์ได้ว่าข้อกล่าวหาเหล่านี้ ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

5. จากรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์หลายฉบับระบุว่าตัวแทนของผู้ถือหุ้นรายย่อยกลุ่มนี้ ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้ ม.ล. จันทรจุฑา จันทรทัต และคุณฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ให้พ้นจากสถานะผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียน กรณีดังกล่าวน่าจะเป็นผลจากความเข้าใจข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เพราะตามประกาศของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้บริหาร และผู้จัดการของบริษัทจดทะเบียน ระบุไว้ว่าผู้บริหารจะถูกตัดสิทธิ์ก็ต่อเมื่อมีการตั้งข้อกล่าวหาโดยคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น ดังนั้น การถูกกล่าวหาจากบุคคลอื่นใด จึงไม่มีผลทำให้ ผู้บริหารต้องพ้นจากสถานะดังกล่าว

6. ผู้บริหารของ TTA ได้มอบหมายให้ทนายความไปพบเจ้าหน้าที่ DSI แล้วเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2554 เพื่อประสานงาน และจัดเตรียมเอกสาร และข้อมูลต่างๆ แก่ DSI และเพื่อสร้างความมั่นใจว่า ทาง DSI จะได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่จากทางฝ่าย TTA ในเรื่องดังกล่าวนี้ เรายังคงมั่นใจว่า จากข้อมูลทั้งหมดที่บริษัทมีอยู่ จะสามารถหักล้างข้อกล่าวหาของกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยกลุ่มได้อย่างแน่นอน

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ ดร. สิริพร (ณ ป้อมเพชร) อัลภาชน์ สำนักกฎหมายเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ประเทศไทย โทร. 02636 2000 ต่อ 5959 แฟกซ์ 02 636 2111 อีเมล์ [email protected]