สงกรานต์วันตรุษ เด็กดีชวนคุณย่าคุณยายเข้าครัว ช่วยฟื้นฟูสุขภาพ

04 Apr 2012

กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท

คุณพ่อคุณแม่ยุคนี้ชอบพาลูกๆ ไปเรียนทำอาหาร ทั้งที่ติดใจรสมือต้นตำรับของคุณย่าคุณยาย แต่ก็เกรงใจจะไปรบกวนท่าน ผู้สูงอายุจะรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าที่ได้ถ่ายทอดวิธีทำและเคล็ดลับต่างๆ ให้กับหลานๆ การทำอาหารร่วมกันในลักษณะ " ช่วยกันทำ แบ่งกันทาน ทั้งปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ลูก " เป็นวัฒนธรรมไทยที่สะท้อนความงดงาม อ่อนโดย และมีน้ำใจเอื้อเฟื้อ ช่วยกล่อมเกลาให้เด็กๆ เป็นเด็กดี มีสัมมาคาราวะกับผู้ใหญ่, รู้จักอดทนรอคอย ( เพราะการปรุงอาหารต้องใช้เวลา โดยเฉพาะการปรุงอาหารโบราณที่ต้องอาศัยความประณีต ), สร้างความผูกพันกันในครอบครัวใหญ่ และยังช่วยฟื้นฟูสุขภาพกาย, ใจของผู้สูงอายุ รวมถึงยังช่วยฟื้นฟูผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องอัมพาต อัมพฤกษ์

วันสงกรานต์ วันที่ครอบครัวใหญ่ได้มีเวลาอยู่ร่วมกันพร้อมหน้า เป็นวันที่แสดงถึงความงดงามของการเริ่มต้นปีใหม่ไทยอย่างอบอุ่น ทั้งทำบุญ เยี่ยมญาติ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ทานข้าวร่วมกัน และยิ่งบ้านไหนที่ทำกิจกรรมร่วมกันส่งเสียงหัวเราะทั้งจากหลานๆ และปู่คุณย่าดังประสานกันมาจากในครัวหลังบ้านด้วยแล้ว ยิ่งสร้างบรรยากาศให้อบอุ่นมีความสุขมาก ขึ้น เป็นพิเศษ

นพ. สุวินัย บุษราคัมวงษ์ แพทย์สาขาอายุรกรรมสมอง ศูนย์ฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท กล่าวว่า “ โดยปกติเมื่ออายุมากขึ้น ผู้สูงอายุมักมีอาการชาตามแขน ขา, ข้อต่อติดขัดทำให้เคลื่อนไหวทั้งมือ, แขน, ขาไม่ค่อยสะดวก, สายตาไม่ดี เห็นภาพไม่ค่อยชัด, หูเริ่มตึง, การได้กลิ่น และการรับรสเสื่อมลง, ฟันไม่ค่อยดี, ท้องผูกเพราะเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลงทำให้อาหารเคลื่อนตัวสู่ลำไส้ส่วนล่างช้า,หลงลืมบ่อยเกิดจากมีการตายของเซลล์สมองแต่ไม่มีการเกิดใหม่, เกิดภาวะหลอดเลือดเสื่อมหรือแข็งตัวทำให้เลือดไปเลี้ยงไต, หัวใจ และสมองไม่ดีทำให้คิดช้า และเหนื่อยง่าย และมีปัญหาทางด้านจิตใจร่วมด้วยเนื่องจากรู้สึกว่าร่างกายเสื่อมถอย จากการเป็นผู้นำต้องมาเป็นผู้ตาม ทำให้เครียด โกรธง่าย กังวลง่าย ฯลฯ ซึ่งอาการเหล่านี้ส่วนใหญ่แก้ไขได้ด้วยการดูแลเอาใจใส่จากลูกหลาน ให้ความรัก ความเคารพนับถือ และความเข้าใจ ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีความสุข และอารมณ์ดีขึ้น ”

" หลาน ๆ ที่ช่วยคุณตา คุณยายเข้าครัวทำอาหาร เด็กๆ จะ อยากรู้อยากลอง ช่างซักช่างถาม ให้คุณตาคุณยายต้องสอน คอยบอกขั้นตอนการทำอาหารให้นั้น มีส่วนช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูให้คุณตา คุณยายได้มีกิจกรรมการเคลื่อนไหว ได้คิดได้คำนวณ ได้วางแผน กิจกรรมดังกล่าวทำให้ท่านรู้สึกว่าตัวเองได้รับความรัก ความเคารพ ความชื่นชมในความสามารถจากหลาน ทำให้เกิดแรงจูงใจในการดำเนินชีวิต จากเสียงเจี๊ยวจ๊าวไร้เดียงสา ตามด้วยเสียงฉอเลาะถามโน่นนี่ของหลาน ๆ การได้สอนหลานคนโปรดทำอาหารที่ผู้สูงอายุชอบ ทำให้สมองส่วนไฮโปธารามัสและต่อมใต้สมองผลิตสารเอ็นโดรฟินออกมาทำให้รู้สึกผ่อนคลาย และมีความสุข และช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย สารเอ็นโดรฟินยังทำให้เกิดการหลั่งของสารโดปามีนซึ่งเป็นสารที่ช่วยให้บรรเทาความเจ็บปวด ความสมดุลของร่างกาย ความหิว การนอนหลับ ระบบการไหลเวียนของเลือด การควบคุมการหายใจ ทำให้ท่านมีความสุขขึ้น และกลับมามีกำลังใจอยากจะช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวันได้ เกิดความมั่นใจที่จะกลับมามีชีวิตที่มีความสุขอีกครั้ง ”

คุณธนกร แก้วประเสริฐ นักกิจกรรมบำบัด ศูนย์ฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท แนะนำว่า “ การที่ผู้สูงอายุได้ทำกิจกรรม การทำอาหารร่วมกับลูกหลานหรือการสอนหลานให้ทำอาหาร คือการทำกิจกรรมบำบัดที่ดีวิธีหนึ่ง นอกจากช่วยผู้สูงอายุที่มีปัญหาความเสื่อมของร่างกายตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการบำบัดผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องอัมพาต และอัมพฤกษ์ได้ด้วย

การได้สอนหลานทำอาหาร ผู้สูงอายุจะรู้สึกว่าตัวเองได้รับความรัก ความเคารพ ความชื่นชมในความสามารถจากหลาน ทำให้ผู้สูงอายได้มองเห็นคุณค่าของตนเองเนื่องจาก เสียงฉอเลาะถามโน่นนี่ของหลาน ๆ

คุณธนกร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ การทำอาหารทุกอย่างที่ต้องเริ่มจากทบทวนความจำสูตร และวิธีการปรุงที่ต้องใช้สมองส่วนหน้า และต้องใช้ความคิดจากสมองส่วนนีโอคอร์เท็กซ์ เริ่มจากการวางแผนว่าว่าต้องใช้วัตถุดิบอะไรบ้าง แต่ละอย่างหาซื้อได้ที่ไหน ราคาเท่าไหร่ ต้องใช้เท่าไหร่ การใช้สมองทำให้สมองได้ออกกำลัง และเพิ่มการสื่อสัญญาณประสาทในสมองได้

ต้องใช้กลุ่มกล้ามเนื้อมือ แขน และหัวไหล่ ในการตัก หั่น คน กวน ผัด คลุกเคล้า ฯลฯ ประสาทสัมผัสต่างๆ เช่น การรับรส การจับต้อง การสัมผัส การชิม ฯลฯ

การกระตุ้นทางสายตา ที่ต้องแยกผัก หั่นหมู กะระยะความห่างของเขียง, และมีด การเอื้อมหยิบชาม, การหั่นหมูที่ต้องใช้ทักษะการกะระยะทัพพีกับกระทะ ฯลฯ

ฝึกการทำงานของกล้ามเนื้อมือ เช่น ต้องหยิบ ตัก คน กวน จับตะหลิว ฯลฯ

ฝึกการรับรู้จากผิวสัมผัส เช่น การหมักหมูกับน้ำปลา กระเทียม ฯลฯ

ส่วนตัวหลานเอง นอกจากกลับบ้านแล้วช่วยคุณแม่ทำครัวได้แล้ว ยังช่วยให้เป็นเด็กที่รู้จักการให้ การขอบคุณ รู้จักการเข้าหาผู้ใหญ่ ความอ่อนน้อมถ่อมตน เรียนรู้เรื่องการรอคอย และเรียนรู้ที่จะเคารพปู่ ย่า ตา ยาย และผู้สูงอายุ

แต่อย่างไรก็ตาม ควรเลือกเมนูง่ายๆ และเหมาะสมที่สามารถทำร่วมกันได้ทั้งผู้สูงอายุและลูกหลานในวัยเด็ก โดยอาจมีคุณพ่อคุณแม่คอยเป็นลูกมือร่วมด้วย เช่น ทำสาคูไส้หมู, ต้มยำ, น้ำพริก ฯลฯ สงกรานต์นี้หนูๆ เตรียมตัว ทำบุญตักบาตร รดน้ำดำหัว เสร็จแล้วชวนคุณตาคุณยายเข้าครัวกันดีกว่าครับ!!

ติดต่อ:

0-2399-4259-63

[email protected]

-กผ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net