กทม.จ้างบีทีเอสบริหารการเดินรถไฟฟ้าทุกโครงข่าย 30 ปี

04 May 2012

กรุงเทพฯ--4 พ.ค.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.

กทม. มอบกรุงเทพธนาคมจ้างบีทีเอสให้บริการเดินรถไฟฟ้าทุกสายต่อเนื่อง 30 ปี ภายใต้วงเงินกว่า 1.9 แสนล้านบาท คาดมีรายได้เข้า กทม.ปีละกว่า 3,000 ล้านบาท โดยหลังสิ้นสุดสัมปทานเส้นทางรถไฟฟ้าเดิมจะกำหนดอัตราค่าโดยสารใหม่ทั้งระบบให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ระหว่างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในวงเงินกว่า 190,000 ล้านบาท ระยะเวลา 30 ปี โดยว่าจ้างบริษัทขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร จำกัด (มหาชน) เดินรถไฟฟ้าในเส้นทางส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท (สถานีอ่อนนุช-แบริ่ง) ระยะทาง 5.3 กิโลเมตร และสายสีลม (สถานีสะพานตากสิน – วงเวียนใหญ่) ระยะทาง 2.2 กิโลเมตร เป็นเวลา 30 ปี และในอนาคตจะครอบคลุมถึงสถานีบางหว้า ซึ่งจะเปิดให้บริการอีก 2 สถานี ในวันที่ 5 ธันวาคม 2555 พร้อมทั้งว่าจ้างเดินรถไฟฟ้าในเส้นทางปกติภายหลังหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ต่อไปอีก 13 ปี โดยสัญญาว่าจ้างเดินรถจะสิ้นสุดพร้อมกันทุกเส้นทาง ในปี 2585

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า การลงนามฯ ในครั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้มอบอำนาจให้บริษัทกรุงเทพธนาคม ซึ่งเป็นวิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร ว่าจ้างบริษัทขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร จำกัด (มหาชน) ทำหน้าที่ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร โดยมั่นใจว่ากรุงเทพมหานครและพี่น้องประชาชนจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ พร้อมยืนยันว่าไม่ได้เป็นการขยายสัมปทานให้กับบีทีเอส แต่เป็นการใช้สิทธิ์ในความเป็นเจ้าของทรัพย์สินภายหลังสิ้นสุดสัมปทานในปี 2572 ซึ่งคาดว่าในช่วงสัญญาดังกล่าวกรุงเทพมหานครจะมีรายได้ประมาณ 3 แสนล้านบาท โดยหักเป็นค่าจ้างดำเนินการ จำนวน 190,000 แสนล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้ของกรุงเทพมหานคร 110,000 แสนล้านบาท เฉลี่ยปีละกว่า 3,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ หลังจากที่สัมปทานของเส้นทางเดินรถไฟฟ้าเดิมสิ้นสุดลง ทรัพย์สินที่ตกเป็นของกรุงเทพมหานครคือ โครงสร้าง (ตอม่อกับรางเดินรถ) และมีรายได้จากค่าโดยสารทั้งหมด โดยคาดว่าเมื่อเปิดให้บริการส่วนต่อขยายไปยังสถานีบางหว้าจะทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นถึง 500,000 คนต่อวัน ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง แต่ในอนาคตเมื่อสัมปทานสิ้นสุดลง กรุงเทพมหานครจะสามารถกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารทั้งระบบของรถไฟฟ้าอย่างเป็นธรรมและเอื้อประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันที่ไม่สามารถควบคุมได้เพราะเป็นการให้สัมปทาน นอกจากนี้ การลงนามในสัญญาดังกล่าวยังช่วยให้กรุงเทพมหานครสามารถประหยัดภาษีมูลค่าเพิ่มได้กว่า 20,000 ล้านบาท และยังเป็นการสร้างหลักประกันให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในการลงทุนเกี่ยวกับระบบรถไฟฟ้าเพิ่มเติม อาทิ การเพิ่มขบวนรถโดยสารเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับผู้ใช้บริการในอนาคตต่อไป -กภ-

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit