ปภ. แนะประชาชนรับมือภัยแทรกซ้อนในช่วงฤดูหนาว

22 Oct 2012

กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--ปภ.

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แนะประชาชนเตรียมพร้อมรับมือภัยในช่วงฤดูหนาว เพิ่มความระมัดระวังในการประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับไฟทุกประเภท ดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยใส่เสื้อผ้าหนาๆ เพื่อสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกาย เมื่อขับผ่านเส้นทางที่หมอกปกคลุม ให้เปิดไฟหน้ารถ ไฟตัดหมอก ไม่เปลี่ยนช่องทางหรือแซงรถคันหน้าในระยะกระชั้นชิด เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนน

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางเคลื่อนตัวปกคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ทำให้อุณหภูมิลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ส่งผลให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศเย็นลงกับหมอกปกคลุมในช่วงเช้า ซึ่งสภาพอากาศที่หนาวเย็น แห้ง ลมพัดแรง และหมอกปกคลุมในช่วงฤดูหนาว ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยแทรกซ้อนต่างๆ เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะวิธีเตรียมพร้อมรับมือภัยที่มักเกิดในช่วงฤดูหนาว ดังนี้

เพลิงไหม้ เพิ่มความระมัดระวังในการประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับไฟทุกประเภท เพราะสภาพอากาศแห้งและลมพัดแรง หากเพลิงไหม้ไฟจะลุกลามอย่างรวดเร็วและยากต่อการควบคุม ก่อนออกจากบ้านให้ดับธูปเทียนให้สนิท ถอดปลั๊กไฟ ปิดสวิซต์เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดและปิดวาว์ลถังก๊าซให้สนิททุกครั้งหลังใช้งาน ห้ามก่อกองไฟให้ความอบอุ่น ใกล้บริเวณบ้านเรือนหรือแหล่งเชื้อเพลิงที่ติดไฟง่าย เช่น กองไม้แห้ง กองฟาง ผ้าห่ม ที่นอน เป็นต้น เพราะหากเผลอหลับอาจถูกไฟคลอกเสียชีวิต

โรคภัยไข้เจ็บ ดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ ดื่มน้ำมากๆ รับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มประเภทร้อน สวมใส่เสื้อผ้าหนาๆ เพื่อสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกาย อีกทั้งควรดูแลเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นพิเศษ เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน อัมพาต เพราะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย ทำให้เสียชีวิตได้ ที่สำคัญ ห้ามดื่มสุราเพื่อแก้หนาว เนื่องจากเป็นความเชื่อที่ผิดว่าจะช่วยสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกาย ทั้งที่จริงแล้วจะก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากดื่มในปริมาณที่มากเกินไปและเผลอหลับโดยไม่สวมใส่เสื้อผ้าหรือห่มผ้าให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย อาจทำให้ร่างกายสูญเสียความร้อนและช๊อกเสียชีวิตได้

อุบัติเหตุทางถนน การขับรถผ่านเส้นทางที่มีหมอกปกคลุมเส้นทาง ผู้ขับขี่ไม่ควรขับรถเร็ว เปิดไฟหน้ารถ ไฟตัดหมอก เว้นระยะห่างจากรถคันหน้าให้มากขึ้น ไม่เปลี่ยนช่องทางหรือแซงรถคันหน้าในระยะกระชั้นชิด เพราะทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางไม่ดี ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนมากกว่าปกติ หากหมอกลงจัดจนมองไม่เห็นเส้นทางให้จอดพักรถในบริเวณที่ปลอดภัย รอจนทัศนวิสัยดีขึ้น ค่อยขับรถต่อไปจะปลอดภัยมากกว่า-กภ-