วันพระบิดาแห่งฝนหลวง วันพิธีเปิดงาน ณ สถานีรถไฟฟ้า มักกะสัน

30 Oct 2012

กรุงเทพฯ--30 ต.ค.--รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.

กำหนดการ

ในโอกาสวันพระบิดาแห่งฝนหลวง

พิธีเปิดงาน ณ สถานีรถไฟฟ้า มักกะสัน

วันพุธที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๕เวลา ๐๙.๐๐ น.

เวลา ๐๙.๐๐ น. คุณดิสธร วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวัง ประธานในพิธี เปิดกรวยเทียนแพ

เวลา ๐๙.๐๕ น. ผู้บริหารกล่าวรายงาน

เวลา ๐๙.๑๐ น. คุณดิสธร วัชโรทัย เป็นประธานในพิธีเปิดงานและนำเยี่ยมชมนิทรรศการ เฉลิมพระเกียรติที่สถานีรถไฟฟ้ามักกะสัน

เวลา ๐๙.๒๔ น. ประธานในพิธีและคณะเดินทางจากสถานีรถไฟฟ้ามักกะสันไปยังสถานี รถไฟฟ้าสุวรรณภูมิ

เวลา ๐๙.๓๙ น. เยี่ยมชมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติที่สถานีรถไฟฟ้าสุวรรณภูมิ

เวลา ๑๐.๓๙ น. ประธานในพิธีและคณะเดินทางออกจากสถานีรถไฟฟ้าสุวรรณภูมิ ไปยังสถานีรถไฟฟ้ามักกะสัน เสร็จพิธี

นายดิสธร วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวัง จะเป็นประธานเปิดงานวันพระบิดาแห่งฝนหลวงซึ่งสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับแอร์พอร์ต เรลลิงค์จัดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวันบิดาแห่งฝนหลวง

ดร.เอมอัชฌา พงศ์พรรณภาณุ ผู้จัดการส่วนมวลชน บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด หรือผู้ให้บริการแอร์พอร์ต เรลลิงค์ เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในโอกาสวันบิดาแห่งฝนหลวง ๑๔ พ.ย. ๒๕๕๕ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ร่วมกับสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดนิทรรศการวันบิดาแห่งฝนหลวงขึ้น ที่สถานีรถไฟฟ้ามักกะสัน และสถานีรถไฟฟ้าสุวรรณภูมิโดยมีนายดิสธร วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวัง เป็นประธานในพิธีเปิด ซึ่งนับเป็นการเผยแพร่พระราชกรณียกิจ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงมีต่อประเทศชาติและประชาชนในโครงการพระราชดำริฝนหลวง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเป็นผู้ให้กำเนิด “ฝนหลวง” จากพระราชดำริเมื่อวันที่ ๑๔ พ.ย. ๒๔๙๘ ได้ทรงเยี่ยมประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทรงพบเห็นความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชนในถิ่นทุรกันดารอันเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนของฝนตามธรรมชาติ ดังข้อความในพระราชบันทึกพระราชทานว่า “...เมื่อมีฝนก็มีมากเกินพอ จนเกิดปัญหาน้ำท่วม เมื่อหมดฝนก็เกิดปัญหาภัยแล้งตามมา นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งของความยากจนของประชาชน เมื่อแหงนมองท้องฟ้ามีเมฆมาก แต่ลมพัดพาผ่านไปไม่ตกเป็นฝนน่าจะมีวิธีบังคับให้ฝนตกสู่พื้นที่แห้งแล้งได้...” พระองค์จึงทรงทุ่มเทสละเวลาและ พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวงด้วยพระวิริยะอุตสาหะและพระเมตตาที่มีต่อประชาชน ซึ่งได้รับความทุกข์ยากจากภัยแล้ง ทรงทำการศึกษาทบทวน และวิเคราะห์วิจัยจนทรงสามารถค้นพบและสรุปเป็นข้อสมมติฐาน ทำให้เกิดการทดลองปฏิบัติการจริงในท้องฟ้าได้เป็นครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๑๒ ทรงทำการวิจัยและพัฒนากรรมวิธีควบคู่กับการพระราชทานข้อแนะนำทางเทคนิคต่าง ๆ ในการทำฝนกู้ภัยแล้ง ทรงสนพระทัยและติดตามผลการปฏิบัติการฝนหลวงอย่างต่อเนื่อง เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ภัยแล้งอย่างกว้างขวางและรุนแรงของประเทศ จะทรงพระราชทานข้อแนะนำทางเทคนิคในการวางแผน และปรับแผนการทำฝนเทียมให้ได้ผลดียิ่งขึ้น บางครั้งได้พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อช่วยเหลืออีกด้วย จนทำให้“โครงการฝนหลวง” สามารถแก้ไขวิกฤตภัยแล้งได้สำเร็จผลเป็นอย่างดี

จากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๐ ส.ค. ๒๕๔๕ ได้มีมติเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ถวายพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งฝนหลวง” และกำหนดให้วันที่ ๑๔ พ.ย. ของทุกปี เป็นวันพระบิดาแห่งฝนหลวงเพื่อจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของชาติไทยให้ประชาชนได้มีโอกาสแสดงความจงรักภักดี ชื่นชมในพระบารมี และร่วมกันถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติติดต่อกันไปทุกปี -นท-