“สสค.” จับมือ “อปท” ร่วมปฏิรูปการศึกษาในท้องถิ่น ต่อยอด “ครูสอนดี” พัฒนาการศึกษาสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้

26 Jul 2012

กรุงเทพฯ--26 ก.ค.--ไอแอมพีอาร์

เพราะ “คุณภาพการศึกษาจะดีเพียงไรขึ้นกับคุณภาพของครู” โดยมีผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดยืนยันแล้วว่า คุณภาพของ “ครู” มีผลสำคัญอย่างยิ่งต่อการประสบความสำเร็จทั้งในด้านการศึกษา อาชีพการงาน รวมไปถึงการดำเนินชีวิตของลูกศิษย์

แต่ในปัจจุบันความศรัทธาของสังคมต่ออาชีพ “ครู” กำลังลดน้อยถอยลงทั้งๆ ที่ครูเป็นอาชีพที่มีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะเป็นอาชีพที่ต้อง “สร้างคนให้เป็นคน” ที่ส่งผลไปถึงการพัฒนาประเทศในการ “สร้างคนไทยรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ และสร้างอนาคตที่ดีของชาติ” ด้วยเหตุดังกล่าว “โครงการสังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่อง ครูสอนดี” หรือ “ครูสอนดี” ที่ขับเคลื่อนโดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) จึงเกิดขึ้นเพื่อมุ่งปฏิรูปค่านิยมที่สังคมมีต่อครู ที่จะนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษา ผ่านการทำงานของ “คณะกรรมการเพื่อการคัดเลือกครูสอนดีและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระดับจังหวัดและท้องถิ่น” ที่ไม่เพียงจะร่วมกันค้นหา “ครูสอนดี” ตามบริบทของชุมชนแล้ว ยังก่อให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่าย และกระตุ้นให้ท้องถิ่นเห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

“ในวันนี้ได้เกิดครูสอนดีขึ้นแล้วในทุกท้องถิ่นจำนวน 18,871 คน หรือเฉลี่ย 2 ถึง 3 คนต่อตำบล โจทย์สำคัญต่อไปนี้จึงอยู่ที่การส่งเสริมครูดีของชุมชน เพราะยิ่งมีครูดีในชุมชนมากขึ้นเท่าไร เด็กก็จะยิ่งมีคุณภาพมากขึ้นเท่านั้น” นายแพทย์สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสค. ระบุ

ซึ่งนอกจากจะมีการมอบรางวัลให้กับครูที่ได้รับรางวัล “ครูสอนดี” และ “ทุนครูสอนดี” เพื่อขยายผลการทำงานกับเด็กด้อยโอกาสแล้ว ยังมอบรางวัลให้กับ “จังหวัดดีเด่น” ที่จัดกระบวนการคัดเลือกครูสอนดีได้อย่างมีประสิทธิภาพ 10 จังหวัดประกอบไปด้วย จังหวัดกำแพงเพชร, จันทบุรี, ชัยภูมิ, น่าน, เพชรบุรี, ภูเก็ต, ยะลา, ลำพูน, สุรินทร์ และอำนาจเจริญ โดยจะได้รับทุนในการขยายผลองค์ความรู้ครูสอนดีไปสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาในท้องถิ่น เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 18 เดือน

นอกจากนี้ในกระบวนการทำงานที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนได้ส่งผลให้เกิด “การเชื่อมโยงเครือข่าย” ของบุคลากรที่ทำงานด้านการศึกษากับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จนทุกภาคส่วนเกิดความตระหนัก เห็นและให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยมีจุดเริ่มต้นจาก “ครูสอนดี” ที่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายครูสอนดีของจังหวัด

และเกิดการเชื่อมร้อยการทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาระหว่าง คณะกรรมการเพื่อการคัดเลือกครูสอนดีฯ ระดับจังหวัดและท้องถิ่น ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในหลายๆ แห่ง และบูรณาการเข้าไปสู่แผนการพัฒนาการศึกษาในระดับจังหวัดผ่านองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งการทำงานเป็นเครือข่ายจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการปฏิรูปการศึกษาให้เกิดขึ้นในแต่ละท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน

“การปฏิรูปการศึกษาได้มีความพยายามมานานกว่า 40 ปี ถึงแม้จะมี พรบ.การศึกษาแห่งชาติ มีการยุบรวมหน่วยงานต่างๆ เพื่อความคล่องตัว แม้จะทุ่มงบประมาณด้านการศึกษากว่า 4 แสนล้านบาทหรือ 20 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณแผ่นดินทั้งหมด แม้ครูจะมีระดับเงินเดือนและได้เงินวิทยฐานะสูงขึ้น แต่ผลลัพธ์ก็ยังไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ ลูกศิษย์ก็ยังมีผลสัมฤทธิ์ที่ต่ำลง ผลการสอบโอเน็ตทั้งประเทศก็มีแนวโน้มก็ลดลง และเมื่อเทียบกับชาติอื่นๆ ในโลก แนวโน้มของเราก็ตก สู้หลายๆ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ได้” ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รองประธานคณะกรรมการ สสค. คนที่ 2 ระบุ

โดยเฉพาะเรื่องการกระจายอำนาจลงไปสู่ท้องถิ่นในการจัดการศึกษา ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือออสเตรเลีย จะให้ท้องถิ่นเป็นผู้จัดการศึกษาโดยรัฐจะสนับสนุนในเรื่องของหลักสูตร ผลิตครู และควบคุมมาตรฐานการศึกษา โดยไม่กำหนดวิธีการสอน “การที่ สสค. ได้ทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากกว่า 7,000 แห่ง ได้ก่อให้เกิดเป็น คณะกรรมการฯ ระดับจังหวัดและท้องถิ่น หรือกลุ่มคนทำงานพหุภาคี เป็นการสร้างกลไกการทำงานที่เกิดขึ้นมาจากคนหลากหลายหน้าที่ในพื้นที่ ซึ่งในอนาคตกลไกตัวนี้จะมีบทบาทที่สำคัญมาก เพราะเราหวังว่าคนกลุ่มนี้จะพัฒนาไปสู่การเป็นสมัชชาปฏิรูปการศึกษาระดับพื้นที่ ซึ่งก็หมายความว่าต่อไปทิศทางการศึกษาของชาติจากส่วนกลางจะต้องถูกมาตีโจทย์ให้แตกจากคนในพื้นที่ โดยมีโครงการครูสอนดีเป็นโจทย์ตัวแรกที่ทำให้ทุกฝ่ายหันมาให้ความสำคัญกับการศึกษา” ดร.กฤษณพงศ์ กล่าว

นายมุขตาร์ มะทา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา ซึ่งเป็นจังหวัดที่ได้รับรางวัลจังหวัดดีเด่นเปิดเผยว่านโยบายที่สำคัญประการหนึ่งของจังหวัดก็คือเรื่องของการส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาทุกระดับรวมไปถึงการศึกษานอกระบบ โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพครูผู้สอน

“โครงการครูสอนดีทำให้เราสามารถประสานกับทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของจังหวัดให้เป็นไปอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น” นายมุขตาร์กล่าว ด้าน นายมนตรี ชาลีเครือ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งอีกจังหวัดหนึ่งที่ได้รับรางวัลจังหวัดดีเด่น กล่าวว่าแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของท้องถิ่นที่ยั่งยืนนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องเชื่อมโยงกับหน่วยงานด้านการศึกษาทุกระดับในพื้นที่อย่างเป็นระบบ

“ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิจะเชื่อมโยงเครือข่ายและองค์ความรู้ของครูสอนดีกับ สถาบันการศึกษาทุกระดับในจังหวัด ให้เกิดเป็นความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาทุกสังกัดกับ โดย อบจ,จะให้การสนับสนุนในทุกๆ ด้านกับครูสอนดีและครูท่านอื่นๆ ในจังหวัดโดยไม่มีการแบ่งแยกในเรื่องของสังกัด เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของจังหวัดร่วมกัน” นายมนตรีกล่าว

เพราะโครงการครูสอนดีไม่ได้มุ่งหวังแค่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเด็กและเยาวชนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ทำให้องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ที่อยู่นอกภาคการศึกษาได้เข้ามาเห็นและให้ความสำคัญของการศึกษาผ่านการทำงานในนามของคณะกรรมการระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่น ที่หมายรวมไปถึงการศึกษาของคนในวัยทำงานอีกด้วย

“ครูสอนดีก็จะต้องขยายผลการทำงานต่อไปเรื่อยๆ ส่วนเครือข่ายของคณะกรรมการระดับจังหวัดและท้องถิ่นที่เกิดขึ้น สสค.ก็จะทำหน้าที่ในเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับกระทรวงต่างๆ เพราะการปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริงจะต้องขยายผลไปสู่คนทุกระดับชั้น จะสร้างแต่เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้ เพราะความมั่นคงมั่งคั่งของประเทศเกิดจากคนที่ทำงาน ไม่ได้เกิดจากคนที่เรียนหนังสือ เราจึงต้องสร้างการศึกษาให้เกิดขึ้นกับคนทุกระดับ และคนที่รู้ว่าท้องถิ่นของตัวเองต้องการอะไรก็คือคณะกรรมการในพื้นที่นั่นเอง” รองประธานคณะกรรมการ สสค. คนที่ 2 สรุป.

-กผ-