คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดโครงการเวทีสาธารณะ เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ......ให้สิทธิจริงหรือ?

13 Mar 2013

กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มีภารกิจหลักในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยยึดถือหลักการสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศเป็นฐานในการปฏิบัติงานเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และเพื่อสร้างความเข้าใจให้บุคลากรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาทั่วไปได้รับทราบถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชน มีความตระหนักและเห็นคุณค่าของการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน และมีส่วนร่วมสร้างกลไกส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขต่อไป

ปัจจุบันคู่ชีวิตเพศเดียวกันมีเป็นจำนวนมากที่ใช้ชีวิตเหมือนครอบครัวหญิงชาย แต่สถานภาพของคู่ชีวิตดังกล่าวไม่มีกฎหมายรับรองไว้ จึงทำให้บุคคลเหล่านี้ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย รวมถึงสิทธิและหน้าที่อันพึงมีพึงได้ ซึ่งขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนพื้นฐานตามที่บัญญัติรับรองไว้ในมาตรา ๔ มาตรา ๕ มาตรา ๒๖ และมาตรา ๓๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนชีวิตคู่ พ.ศ. .... เพื่อให้มีกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิและรับรองการจดทะเบียนคู่ชีวิตเพศเดียวกัน

ทั้งนี้ บันทึกเจตนารมณ์ หรือคำอธิบายรายมาตรา มาตรา ๓๐ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ อธิบาย ว่าการห้ามเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศนั้น ให้รวมถึงบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศด้วย เพราะแต่เดิมคนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นการห้ามเลือกปฏิบัติระหว่างหญิงกับชายเท่านั้น เพราะในกฎหมายระบุไว้เพียงสองเพศเท่านั้น ซึ่งความเป็นจริงโลกนี้มีมากกว่า ๒ เพศ ทั้งชายรักชาย หญิงรักหญิง คนข้ามเพศ คนสองเพศ คนที่รักทั้งสองเพศ เป็นต้น เรื่องเพศเป็นเรื่องสิทธิ ขั้นพื้นฐานของคนทุกคน สิทธิความหลากหลายทางเพศ เป็นเรื่องของคนทุกคน

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.จดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. .....รวมทั้งสิ้น ๔ ครั้ง ดังนี้ ๑. ครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทร์เกษม กรุงเทพฯ ๒. ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ๓. ครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ณ ห้องประชุมคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ๔. ครั้งที่ ๔ เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๖ ณ ห้องประชุมคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา

จากการเข้าร่วมเวทีดังกล่าว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้รวบรวมข้อมูล รูปธรรมปัญหาข้อห่วงใยเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวจากการแสดงความเห็นของผู้เข้าร่วมการรับฟังความคิดเห็น ดังนั้นเพื่อผลักดันให้ ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เป็นกฎหมาย ที่ก่อให้เกิดกลไกในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศที่เป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น

คณะอนุกรรมการด้านสิทธิผู้สูงอายุ ผู้พิการ บุคคลหลากหลายทางเพศ และการสาธารณสุข ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย มูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร กลุ่มสะพาน และมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ (forsogi) กำหนดจัดโครงการเวทีสาธารณะ เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. .....ให้สิทธิจริงหรือ ? ขึ้น ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๖ เวลา ๑๓.๓๐- ๑๗.๐๐ น. ณ ห้องเสวนา ชั้น ๖ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

กำหนดการโครงการเวทีสาธารณะ เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ......ให้สิทธิจริงหรือ?

ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๖

ณ ห้องเสวนา ชั้น ๖ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารรัฐประศาสนภักดี (ฝั่งทิศใต้) ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

เวลา ๑๓.๐๐ – ๑๓.๓๐ นาฬิกา

ลงทะเบียนการสัมมนา

เวลา ๑๓.๓๐ – ๑๓.๔๕ นาฬิกา

กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดเวทีสาธารณะ

โดย นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิชกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

เวลา ๑๓.๔๕ – ๑๖.๑๕ นาฬิกา

อภิปราย เรื่อง เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ......ให้สิทธิจริงหรือ?

นำการสนทนาโดย

ดร. กนกวรรณ ธราวรรณ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยประชากรสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

ร่วมอภิปรายโดย

๑) คุณวิรัตน์ กัลยาศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์

๒) คุณณรัช เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ

๓) คุณนที โรจนะธีรพงษ์ ประธานกลุ่มเกย์การเมืองไทย

ผู้มีประสบการณ์จากการยื่นเรื่องจดทะเบียน

๔) คุณรัตนวัฒน์ จันทร์อำนวยสุข

GATE - Global Action for TransEquality

ผู้มีประสบการณ์การใช้ชีวิตคู่ /ประเด็นปัญหา มีข้อมูลเกี่ยวกับคู่ชีวิตต่างชาติด้วย/วิเคราะห์ ประมวล ข้อดี ข้อบกพร่อง ร่าง พ.ร.บ.

๕) คุณอัญชนา สุวรรณานนท์ กลุ่มอัญจารี

ผู้มีประสบการณ์การใช้ชีวิตคู่ /ประเด็นปัญหา มีข้อมูลเกี่ยวกับคู่ชีวิตต่างชาติด้วย/วิเคราะห์ ประมวล ข้อดี ข้อบกพร่อง ร่าง พ.ร.บ.

เวลา ๑๖.๑๕ – ๑๖.๓๐ นาฬิกา

กล่าวสรุปและปิดการสัมมนา

โดย นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้จึงขอเรียนเชิญผู้สนใจ

เข้าร่วมการสัมมนาดังกล่าว ตามวันและเวลา

ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

-กผ-

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit