นวัตกรรมฟาร์มหมู - อินไซด์แคมปัส

12 Mar 2013

กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ปัจจัยสี่ ประกอบไปด้วย อาหาร เครื่อง นุ่งห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย ใช่ว่าจะจำเป็นสำหรับมนุษย์เท่านั้น แต่ในสัตว์บริโภคอย่าง สุกร หรือหมู ก็ต้องการปัจจัยสี่ที่มีคุณภาพด้วยเหมือนกัน

รศ.ดร.ณัฏฐ์ กาศยปนันทน์ อาจารย์ประจำคณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในฐานะหัวหน้าโครงการออกแบบและสร้างโรงเรือนปศุสัตว์สำเร็จรูปสำหรับเลี้ยง หมู ให้ข้อมูลว่า สภาพอากาศร้อนชื้นในบ้านเรามีผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะฟาร์มหมู เป็ด และไก่ ดังนั้น มจธ. ได้ร่วมกับภาคเอกชนคิดค้นผลงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาอากาศร้อนในฟาร์มเลี้ยงแบบ ปิด โดยออกแบบโครงสร้างผนังสำเร็จรูปในชื่อเรียกว่า แอโร่ พาเนล (AERO PANEL) ลักษณะเป็นแผ่นโฟมหนาประกบด้วยแผ่นพลาสติกแข็ง ชนิดเดียวกับที่ใช้เป็นองค์ประกอบด้านในตู้เย็น ด้วยคุณลักษณะของโฟมทำหน้าที่เหมือนฉนวนกันความร้อนจึงสามารถรักษาอุณหภูมิ ภายในโรงเรือนได้เป็นอย่างดี และเมื่อใช้ร่วมกับแผ่นพลาสติกที่มีคุณสมบัติรักษาความเย็นทำให้ผลลัพธ์ที่ได้เป็นที่น่าพอใจ

“ผลวิจัยในการใช้แผ่นโฟมประกบด้วยพลาสติกเป็นวัสดุในการสร้างโรงเรือน ทั้งในส่วนฝาผนังโดยรอบและแผ่นฝ้าใต้หลังคา รวมถึงการวัดขนาดโรงเรือนให้เหมาะสม โดยให้มีความยาวเป็น 10 เท่าของความกว้าง จากนั้นใช้ร่วมกับระบบการจัดการถ่ายเทอากาศภายในโรงเรือนปิดทั่วไป ส่งผลลัพธ์ที่ดีในการควบคุมอุณหภูมิ และความร้อนจากแสงแดดภายนอกไม่มีผลกระทบต่ออากาศภายในโรงเรือน อุณหภูมิภายนอกตอนกลางวันแตกต่างจากอุณหภูมิภายในโรงเรือนได้สูงกว่า 10 องศาเซลเซียส โดยที่ไม่ต้องเพิ่มกำลังไฟฟ้าสำหรับพัดลมระบายอากาศ ขณะที่แผ่นพลาสติกแข็งมีจุดเด่นเรื่องความคงทน ติดตั้งและทำความสะอาดได้ง่าย ต่างจากวัสดุอื่น ๆ ที่ใช้สำหรับทำโรงเรือนทั่วไป อาทิ สังกะสี หรือ พลาสติกพีวีซี ที่ติดตั้งยากและอายุการใช้งานน้อย”

นางศุภลักษณ์ อังคสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการฟาร์มเลี้ยงหมู “พรประเสริฐ” จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ตนรู้สึกดีใจและขอบคุณ มจธ.ที่ผลิตผลงานวิจัยซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ได้จริงในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร ปัจจุบันฟาร์มของตนได้ทยอยเปลี่ยนวัสดุประกอบโรงเรือนและสร้างโรงเรือนใหม่ โดยใช้วัสดุดังกล่าว รวมแล้ว 11 โรงเรือน จากจำนวนทั้งหมด 50 โรงเรือน เพราะเห็นประโยชน์ในการควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนและประหยัดพลังงาน นอกจากนี้ยังช่วยให้หมูผลิตน้ำเชื้อได้ดีและแข็งแรง เพราะเมื่อทำให้อากาศในโรงเรือนดี หมูก็มีความสุข

“การทำธุรกิจฟาร์มหมูจะต้องมองผลลัพธ์ในระยะยาว โดยเฉพาะภาวะที่ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เราเห็นข้อดีของงานวิจัยชิ้นนี้และยินดีนำมาปฏิบัติตาม แม้ว่าคุณภาพของวัสดุที่ดีทำให้ต้นทุนในการสร้างโรงเรือนแพงขึ้นกว่าเดิมมาก แต่ผลลัพธ์ที่ได้คุ้มค่า ดังนั้นหากกลุ่มธุรกิจผู้เลี้ยงหมูรายอื่นเห็นว่าการใช้วัสดุที่ดีในการ สร้างโรงเรือนเป็นสิ่งจำเป็น เพราะช่วยให้สภาพแวดล้อมดี ถูกสุขลักษณะ แถมยังช่วยประเทศชาติประหยัดพลังงานด้วย เชื่อว่าหลังจากนี้ก็อาจจะเกิดการปรับตัวในกลุ่มผู้เลี้ยงหมูรายย่อยทั่วไป”

นายตนุภัทร สังฆฤทธิ์ ผู้ประกอบการฟาร์มสุกรหน้าใหม่ กล่าวว่า ตนเริ่มต้นกิจการฟาร์มเลี้ยงหมูจำนวน 1,500 ตัวด้วยการสร้างโรงเรือนระบบปิดโดยใช้วัสดุดังกล่าวเป็นองค์ประกอบหลัก ปัจจุบันพบว่าการควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอยู่ที่ 28 องศาเซลเซียสในทุกสภาพอากาศ ขณะที่เมื่อเทียบกับกิจการฟาร์มเลี้ยงหมูทั่วไปในขนาดเดียวกัน ตนสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้มากกว่าถึงร้อยละ 40 นอกจากนี้ผลผลิตลูกหมูที่ได้ยังมีน้ำหนักเนื้อมากกว่าโรงเรือนใกล้เคียงที่ ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิในการเลี้ยงทำให้ได้กำไรมากขึ้น

สำหรับวัสดุที่ใช้ในงานวิจัยครั้งนี้ ผลิตขึ้นในประเทศไทย โดยบริษัท แอร์โรคลาส จำกัด ตั้งราคาจำหน่ายแผ่นพลาสติกแอโร่ พาเนล เริ่มต้นที่ 350-500 บาทต่อตารางเมตร หรือคิดเป็นต้นทุนงบประมาณก่อสร้างประมาณ 5 แสนบาท สำหรับโรงเรือนเลี้ยงหมูขนาด 700 ตัว อย่างไรก็ตามในรายละเอียดงานวิจัยยังระบุถึงประโยชน์เดียวกันสำหรับการสร้าง โรงเรือนเลี้ยงเป็ดและไก่ รวมถึงโรงเพาะพันธุ์พืชที่ต้องการควบคุมอุณหภูมิให้เย็นสบาย สนใจสอบถามเพิ่มเติม ติดต่อที่ มจธ. โทร. 0-2470-8414-16.

แหล่งที่มา : http://www.dailynews.co.th/education/188067

ติดต่อ:

ศูนย์การศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

02-4708271-75

-กผ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net