การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาควบคุมโรคพืช

26 Jun 2013

กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--เกษตรจังหวัดมหาสารคาม

สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม แนะวิธีการใช้เชื้อราไตรโครเดอร์มาควบคุมโรคพืชเพื่อลดต้นทุนการผลิตและลดการใช้สารเคมี โดยเฉพาะโรคพืชที่มีสาเหตุเกดิจากเชื้อรา

ว่าที่ ร.ต.จักรภัทร ผ่องโอภาส เกษตรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า เชื้อราไตรโคเดอร์มามีผลิตทั้งในรูปเชื้อสดและผงสปอร์แห้ง สามารถใช้ควบคุมหรือยับยั้งการเจริญของเชื้อราสาเหตุ โรคพืชหลายชนิด ได้แก่ โรครากโคนเน่าที่เกิดจากเชื้อรา โรคเหี่ยว โรคเมล็ดเน่า กล้าไหม้ เน่าคอดิน โรคแอนแทรคโนส ลดการเกิดโรคกาบใบไหม้ และโรคเมล็ดด่างในข้าว การนำไปใช้ ดังนี้

๑.ใช้คลุกเมล็ดพันธุ์ ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดผงแห้งหรือเชื้อสด 10 – 20 กรัม ต่อเมล็ดพืช 1 กิโลกรัม เติมน้ำสะอาดหรือสารจับติดลงไปเล็กน้อย คลุกเคล้าให้ทั่ว แล้วนำไปปลูก

2. ใช้ผสมกับส่วนผสม โดยใช้ เชื้อราไตรโคเดอร์มาสด 1 กิโลกรัม ผสมรำละเอียด 4 กิโลกรัม และปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเก่า 100 กิโลกรัม ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันโดยให้มีความชื้นเล็กน้อย หมักกองไว้ในร่ม 3 คืน แล้วนำไปใส่ในแปลงปลูก

2.1 การใช้ในแปลงเพาะกล้า หว่านส่วนผสมของเชื้อรา ไตรโคเดอร์มาบนแปลงเพาะกล้าในอัตรา 50 – 100 กรัม ต่อตรางเมตร คลุกเคล้ากับดินแล้วหว่านเมล็ด

2.2 การใช้ในการผสมดินปลูก ใช้ส่วนผสมของเชื้อรา ไตรโคเดอร์มา คลุกเคล้ากับดินปลูกในอัตรา 15 กิโลกรัม./ดินผสม 1-1.5๐ ลูกบาศก์เมตร

2.3 การใช้กับพืชปลูกใหม่หรือใช้รองก้นหลุม ใช้ส่วนผสมของเชื้อราไตรโคเดอร์มา อัตรา 50-100 กรัม/หลุม ในไม้ผล ไม้ยืนต้น ใช้ส่วนผสม 3-5 กิโลกรัม/หลุม คลุกเคล้ากับดินก้นหลุม แล้วจึงปลูกพืช

3. การผสมน้ำ

3.1 ฉีดพ่นหรือราดลงดิน ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาที่อยู่ในรูปผงหรือเกล็ดผสมน้ำอัตรา 50-100 กรัม/น้ำ 20 ลิตร กรณีเป็นเชื้อสด ให้ ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา 1 กิโลกรัม ผสมน้ำ 200 ลิตร แล้วกรองเอาเฉพาะน้ำ นำไปฉีดพ่นหรือราดดิน เหมาะกับแปลงเพาะกล้าที่งอกใหม่

3.2 แช่เมล็ดพันธุ์ข้าว ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 50 ลิตร แช่เมล็ดพันธุ์ข้าว 30 นาที และรดขณะบ่มเมล็ด 1 คืน ก่อนนำไปหว่าน รวมทั้งใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา 1 กิโลกรัม ผสมน้ำ 200 ลิตร ผสมไปกับน้ำในนาข้าว และฉีดพ่นในข้าวอายุ 30 และ70 วัน ก่อนตั้งท้อง เพื่อลดการเกิดโรคกาบใบไหม้ โรคเมล็ดด่าง

เกษตรกรที่สนใจการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาเพื่อควบคุมโรคราพืช ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรจังหวัด/สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน หรือขอคำปรึกษาและแก้ปัญหาการเกษตร โดยตรงกับเกษตรจังหวัดมหาสารคาม โทรศัพท์หมายเลข ๐๘๑-๗๙๐๕๒๕๖ และหมายเลข ๐๘๘-๕๔๙๗๙๔๔-นท-