ปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย เผยผลวิจัยบทบาทสตรี ทวีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของครอบครัวแทนแรงงานชาย เทียบกรณีศึกษาญี่ปุ่นและสิงคโปร์ สะท้อนอดีตและอนาคตสังคมไทย
ผศ.ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ รองผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะทำงานปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยฯ เปิดเผยผลการศึกษาเปรียบเทียบสถานการณ์แรงงานสตรีด้านการมีบทบาทเชิงเศรษฐกิจของครอบครัวแทนที่แรงงานชายในประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ในงานวิจัยหัวข้อ แรงงานสตรีกับบทบาทหลักเชิงเศรษฐกิจของครอบครัว: กรณีศึกษาจากประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์ พบว่า ในอดีตผู้หญิงในประเทศญี่ปุ่นมีบทบาทในการดูแลครอบครัว งานบ้าน และเลี้ยงดูบุตร ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับครอบครัวคนไทยในอดีต ที่ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง ส่วนผู้ชายเป็นผู้นำ มีหน้าที่หาเลี้ยงครอบครัว
“แต่ประเทศญี่ปุ่นประสบปัญหาปริมาณการเกิดที่ต่ำ มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของครอบครัว อาทิ ครัวเรือนพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวและครัวเรือนผู้สูงอายุมากขึ้น คู่แต่งงานจำนวนมากไม่นิยมมีบุตร สังคมญี่ปุ่นค่อยๆ เปลี่ยนบทบาทจากการหาเลี้ยงครอบครัวโดยสามีคนเดียวมาสู่การหาเลี้ยงครอบครัวโดยทั้งภรรยาและสามีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาอาชีพที่เคยถูกครอบครองโดยเพศชาย มีการเพิ่มจำนวนแรงงานผู้หญิงมากขึ้นในสาขาเหล่านี้ นอกจากนี้ยังพบว่า มีจำนวนแรงงานผู้หญิงในตลาดแรงงานในงานประเภทเต็มเวลา น้อยกว่าชายมาก” ผศ.ดร.วิมลทิพย์ กล่าว
จากการศึกษาพบว่า สาเหตุสำคัญมาจากระบบคิดและวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับชั่วโมงการทำงาน ไม่ใช่ผลผลิตจากการทำงาน เมื่อเป็นเช่นนี้แรงงานผู้หญิงที่ไม่ได้แต่งงานหรือแต่งงาน แต่ไม่มีบุตร จะสามารถทัดเทียมกับแรงงานชายได้ แต่กับแรงงานผู้หญิงที่มีบุตร เงื่อนไขนี้จะกลายเป็นข้อจำกัดในทันที ซึ่งกรณีนี้เหมือนกันสภาพสังคมไทยในปัจจุบันที่ผู้หญิงมีบทบาทในการหาเลี้ยงครอบครัวมากขึ้น แต่ยังรับภาระในการดูแลครอบครัวอยู่เช่นเดิม
ผศ.ดร.วิมลทิพย์ ยังกล่าวอีกว่า ในทางกลับกัน ประเทศสิงคโปร์ ผู้หญิงมีบทบาทชัดเจนเท่าเทียมกับผู้ชายอย่างสำคัญ การที่ประเทศมีประชากรน้อยมาก ประกอบกับคุณภาพการศึกษาที่สูง และเป็นสังคมที่แข่งขันกันที่ความสามารถของคนไม่ใช่เพศ ทำให้ผู้หญิงสิงคโปร์มีโอกาสการทำงานที่ดีทัดเทียมชาย แม้ว่าผู้หญิงสิงคโปร์จะเผชิญเงื่อนไขเช่นเดียวกับผู้หญิงญี่ปุ่นในแง่ของการคลอดบุตร แต่ผู้หญิงญี่ปุ่นกลับเข้ามาสู่ระบบการทำงานยากมากเมื่อเทียบกับสิงคโปร์ โดยที่เงื่อนไขสำคัญที่แรงงานผู้หญิงสิงคโปร์ที่มีบุตรกลับเข้าสู่ระบบการทำงานง่ายกว่าแรงงานผู้หญิงญี่ปุ่น ก็เพราะประชากรสิงคโปร์น้อยมาก ทำให้ประเทศต้องการกำลังแรงงานจำนวนมากตลอดเวลา อีกทั้งคุณภาพการศึกษาที่ดีเยี่ยม ทำให้คนสิงคโปร์เป็นที่ต้องการทั้งในและนอกประเทศ นอกจากนี้การมีศูนย์เด็กเล็กกว่า 20,000 แห่ง ทั่วประเทศมากกว่าญี่ปุ่นที่มีอยู่เพียง 8,000 แห่ง ทำให้แม่สิงคโปร์วางใจได้ในด้านการดูแลบุตรเล็กๆ ขณะที่ตนออกไปทำงานนอกบ้าน ประกอบกับสิงคโปร์ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับบทบาททางเพศที่เท่าเทียมระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงในการช่วยกันเลี้ยงดูบุตรและทำงานบ้าน
จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศที่เจริญแล้วและขาดแคลนแรงงานอย่างสิงคโปร์ ให้ความสำคัญกับแรงงานสตรี มีศูนย์ดูแลเด็กเล็กที่มีคุณภาพจำนวนมาก เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้หญิงในบทบาทของแม่บ้าน ทั้งให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับบทบาททางเพศที่เท่าเทียมระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงในการช่วยกันเลี้ยงดูบุตรและทำงานบ้าน ทำให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถใช้แรงงานที่มีอยู่อย่างจำกัดขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่
ผู้วิจัยกล่าวทิ้งท้ายว่าการวิจัย โครงการ แรงงานสตรีกับบทบาทหลักเชิงเศรษฐกิจของครอบครัว: กรณีศึกษาจากประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ฉบับนี้อาจจะสะท้อนให้เห็นถึงทิศทางการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน หากประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมเหมือนประเทศญี่ปุ่นหรือ ก้าวสู่ยุคอาศัยแรงงานผู้หญิงในทางเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันต้องการให้เด็กไทยได้รับการดูแล และ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ภาครัฐหรือภาคสังคมที่เกี่ยวข้องจะมีการเตรียมพร้อมอย่างไร
ข้อมูลเกี่ยวกับปัญญาสมาพันธ์
ปัญญาสมาพันธ์ เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุน ของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของนักวิชาการจากสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศไทย เพื่อทำการศึกษาวิจัยและสำรวจความคิดเห็นของประชาชนไทยที่มุ่งเน้นการนำไปขยายผลเพื่อการสร้างสรรค์สังคมไทย ในด้านสังคมและเศรษฐกิจ
-กภ-
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จัดค่ายวิทยาศาสตร์ภาคฤดูร้อนสำหรับนักเรียนทุน พสวท. ปีการศึกษา 2567 ในหัวข้อ "SEE THE SEA : ค้นหาทะเล ค้นหาตัวตน"ระหว่างวันที่ 28 เมษายน-3 พฤษภาคม 2568 ณ สิริน พลา รีสอร์ท แอนด์ เรสเทอร์รองท์ อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เป็นประธานในพิธีเปิด รวมทั้งรองศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รณรงค์ 'ยุติความรุนแรงต่อเด็ก’
—
ดร.เกลียวทอง เหตระกูล (ที่ 3 จากขวา) ประธานคณะกรรมการอำนวยการ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ถ่ายภาพร่วมกับ ดร.สราวุธ...
สมาคมครอบครัวศึกษาจัดการประชุมวิชาการครอบครัวศึกษาครั้งที่ 4 หัวข้อ ปฏิบัติการครอบครัวไทยอบอุ่น มีการนำเสนองานวิจัยด้านครอบครัวเรื่อง สถานการณ์สุขภาวะครอบครัวไทยผู้นำเสนอ ดร. วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว...
สุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ. ซีพี ออลล์ และปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย (WPORT) จะจัดงานเสวนาพิเศษ “เตรียมพร้อมครอบครัวไทย ระวังภัยจากโลกไซเบอร์” พร้อมเปิดเผยผลงงานวิจัยล่าสุด...